กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา ประกาศขึ้นทะเบียน ‘เตยหอมปทุม’ เป็นสินค้า สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indication: GI) ล่าสุดของจังหวัดปทุมธานี ส่งเสริมศักยภาพสินค้าเกษตรท้องถิ่นที่มีอัตลักษณ์เฉพาะตัว ต่อยอดสู่เศรษฐกิจฐานรากอย่างเป็นรูปธรรม
เตยหอมปทุม มีจุดเด่นที่ชัดเจนด้านคุณภาพ ได้แก่ กลิ่นหอมเข้ม ใบกว้างยาว สีเขียวสด ผิวใบมันเงา และเส้นใยนุ่ม เมื่อนำไปใช้ในอาหารหรือผลิตภัณฑ์แปรรูป จะให้กลิ่นและสีที่แตกต่างจากเตยทั่วไป เป็นที่ต้องการสูงในอุตสาหกรรมขนมไทยและอาหารพื้นบ้าน ส่งผลให้มีการปลูกอย่างแพร่หลายในพื้นที่ปทุมธานี และสร้างรายได้ให้เกษตรกรในพื้นที่รวมกว่า 32 ล้านบาทต่อปี

นภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า การขึ้นทะเบียน GI ของเตยหอมปทุมครั้งนี้ ถือเป็นหนึ่งในนโยบายเร่งรัดการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากผ่านการส่งเสริมสินค้าเกษตรที่มีศักยภาพ โดยการมี GI จะช่วยยกระดับราคาสินค้า เพิ่มความน่าเชื่อถือของแบรนด์ท้องถิ่น และสามารถขยายตลาดทั้งในและต่างประเทศ

ทั้งนี้ เตยหอมปทุม นับเป็นสินค้า GI ลำดับที่ 3 ของจังหวัด ต่อจาก ‘กล้วยหอมทองปทุม’ และ ‘ข้าวหอมปทุมธานี’ ซึ่งล้วนเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของภูมิภาค
นโยบาย GI ยังสอดรับกับแนวทาง Soft Power ไทยด้านเกษตร ที่มุ่งใช้ทรัพยากรท้องถิ่นที่มีคุณภาพสูงเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชนอย่างยั่งยืน เพิ่มศักยภาพการแข่งขันของสินค้าไทยในตลาดโลก และลดความเสี่ยงจากราคาตลาดผันผวน