ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เผยถึงการตรวจเยี่ยมและมอบนโยบาย กรมทรัพย์สินทางปัญญา (1 ธันวาคม 2566) ว่า ทรัพย์สินทางปัญญาเป็นงานยิ่งใหญ่ที่สร้างคุณค่าให้กับสังคม การทำงานจึงต้องมองใน 2 ทิศทาง คือการมองย้อนหลัง และมองไปข้างหน้า
โดยมิติมองย้อนหลัง คือเรื่องประสิทธิภาพงานบริการและการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาประเภทต่างๆ เพื่อเป้าหมาย ตอบโจทย์ความต้องการของประชาชน
ที่ผ่านมากรมฯ ได้นำเทคโนโลยีมาใช้ในการทำงานอย่างต่อเนื่อง ทำให้ปัจจุบันสามารถรับจดทะเบียนได้เร็วกว่าแต่ก่อนเป็นอย่างมาก อีกทั้งยังขยายช่องทางให้บริการในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ตามแนวทาง e-Government ทำให้ประชาชนได้รับความสะดวกรวดเร็ว ช่วยลดขั้นตอน ลดปริมาณกระดาษ ลดความแออัดของผู้มาติดต่อในพื้นที่ศูนย์บริการ สะท้อนผ่านความพึงพอใจของผู้ใช้บริการที่มีมากกว่า 95%
ขณะที่ มิติมองไปข้างหน้า คือการส่งเสริมศักยภาพของ SMEs ไทย ซึ่งเป็นรากฐานทางเศรษฐกิจที่สำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ โดยเสริมสร้างองค์ความรู้ด้านทรัพย์สินทางปัญญาให้มากขึ้น เพื่อเข้าไปช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการรายย่อยไม่ให้ถูกเอาเปรียบ ซึ่งกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้สร้างโมเดลในการทำงานหลายอย่างที่ช่วยปกป้องคุ้มครองสินค้าของผู้ประกอบการไทย รวมทั้งการปรับปรุงกฎเกณฑ์และข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าและป้องกันไม่ให้สินค้าและบริการของไทยถูกละเมิดทั้งในและต่างประเทศ
โดยมีกฎหมาย 2 ฉบับที่อยู่ระหว่างปรับปรุงและเตรียมเสนอเข้า ครม. ได้แก่
- พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และ
- พ.ร.บ. คุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ พ.ศ. 2546
นอกจากนี้ ยังมีการส่งเสริม Soft Power โดยบูรณาการเชื่อมโยงกับหน่วยงานทั้งในและนอกกระทรวงฯ สนับสนุนสินค้าและบริการของไทย ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ไปจนถึง ปลายน้ำ ได้อย่างครบวงจร เพื่อส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากบริการต่างๆ ของกระทรวงฯ ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

มอร์นิเตอร์ประเทศคู่ค้า-ตลาดออนไลน์ ปกป้องละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา
ด้านรัฐมนตรีช่วยพาณิชย์ - นภินทร ศรีสรรพางค์ ชี้ กรมทรัพย์สินทางปัญญาเดินหน้าทำงานเชิงรุกรุดหน้าไปอย่างรวดเร็วเป็นที่น่าชื่นชม อย่างไรก็ดี อยากเน้นถึงความสำคัญของการส่งเสริม SMEs เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้ประเทศก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลาง โดยเฉพาะสินค้า GI ที่มีศักยภาพในการแข่งขัน ควรเร่งขึ้นทะเบียนสินค้าใหม่ๆ ให้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งภายในปี 2567 มีความเป็นไปได้ที่จะสามารถสร้างมูลค่าการตลาดเพิ่มอีกกว่า 40,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ ในส่วนของการดำเนินงานด้านการป้องปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา จำเป็นต้องมีการมอนิเตอร์ติดตามกระบวนการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาในประเทศคู่ค้าสำคัญอย่างใกล้ชิด รวมทั้งตลาดออนไลน์ เพื่อปกป้องคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของคนไทยให้สามารถแข่งขันในทุกตลาดได้อย่างเข้มแข็ง
