สรุปช่วยนาปรังไร่ละพัน ไม่เกิน 10 ไร่ ให้เร่งขึ้นทะเบียน

28 ก.พ. 2568 - 02:00

  • ‘พาณิชย์’ เผยเบื้องหลัง นบข. เคาะไร่ละพัน ช่วยชาวนาปรัง เพราะ ‘ข้าวราคาตก’ มีงบเหลือจ่ายจากมาตรการข้าวนาปี 2.8 พันล้าน นำมาช่วย ไม่กระทบงบประมาณ

  • ย้ำ เป็นการชดเชยข้าวนาปรังครั้งสุดท้าย รอบการผลิตหน้าไม่มี และจะส่งเสริมการผลิตยกระดับการผลิตใช้ข้าวพันธุ์ดี สร้างมูลค่าเพิ่ม

  • กรมการค้าภายใน เร่งให้ชาวนาไปขึ้นทะเบียน ภายใน 30 เม.ย. จากนั้นจะเสนอ ครม.พิจารณาอนุมัติ

moc-help-season-rice-farming-1000-per-rai-farmers-registered-SPACEBAR-Hero.jpg

‘พาณิชย์’ เร่งชาวนา “ขึ้นทะเบียนรับไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 10 ไร่ ก่อน 30 เมษายน 2568” ตอกย้ำ จ่ายให้เป็นครั้งสุดท้าย เหตุจากรัฐบาลเน้น ‘ลดการอุดหนุน’ เผย ล่าสุด มีขึ้นทะเบียนแล้ว 2.3 แสนครัวเรือน จำนวน 4 ล้านไร่

นายวิทยากร มณีเนตร อธิบดีกรมการค้าภายใน เผย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายพิชัย นริพทะพันธุ์ ได้มอบหมายให้กรมการค้าภายใน ดำเนินการชี้แจงและสร้างความเข้าใจให้พี่น้องชาวนา หลังมติที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ หรือ นบข. (26 กุมภาพันธุ์ 2568) ซึ่งมีนำเสนอมาตรการดูแลราคาข้าวเปลือกเจ้านาปรัง ปีการผลิต 2568 หลายมาตรการ ทั้งมาตรการที่ผ่านการพิจารณาของคณะอนุ นบข.ด้านการตลาด อนุ นบข.ด้านการผลิต และข้อเสนอของเกษตรกร แต่สุดท้ายมติที่ประชุมฯ ก็เลือกมาตรการที่ช่วยเหลือชาวนาโดยตรงและจะไม่เป็นภาระแก่รัฐบาลภายหลัง คือ การจ่ายเงินชดเชยเกษตรกรโดยตรงไร่ละ 1,000 บาท คนละไม่เกิน 10 ไร่ วงเงินงบประมาณ 2,867.23 ล้านบาท เพราะเป็นมาตรการที่ช่วยเหลือเกษตรกรได้ทันที และไม่กระทบการใช้งบประมาณ เพราะมีวงเงินจากมาตรการข้าวนาปี 4.7 หมื่นล้าน เหลือประมาณ 3-4 พันล้านบาท ที่จะต้องส่งคืน และขอนำกลับมาใช้ได้

moc-help-season-rice-farming-1000-per-rai-farmers-registered-SPACEBAR-Photo02.jpg

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มีการพิจารณางบประมาณในการดูแลสินค้าเกษตร พบว่า ปี 2562-65 มีการใช้งบประมาณสูงถึงปีละ 1.07 แสนล้านบาท โดยรัฐบาลชุดปัจจุบันเข้ามาบริหาร ปี 2566-67 ได้ปรับลดงบประมาณดูแล เหลือใช้เพียง 6.5 หมื่นล้านบาท และมีมติ ครม. และ นบข. ที่กำหนดว่า การจัดทำมาตรการ โครงการเพื่อสนับสนุนหรือให้ความช่วยเหลือเกษตรกร ให้หลีกเลี่ยงการดำเนินการในลักษณะการให้เงินอุดหนุน ช่วยเหลือ ชดเชย หรือประกันราคาสินค้าเกษตรโดยตรงแก่เกษตรกร แต่การปรับลด ไม่สามารถทำได้ทันที ต้องมีช่วงเปลี่ยนผ่าน 

นายวิทยากร ยังย้ำ ในการให้ความช่วยเหลือไร่ละพันในครั้งนี้ เป็นการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากราคาข้าวตกต่ำ ทั้งที่ปกติ ไม่เคยช่วยเหลือข้าวนาปรัง แต่เมื่อปลูกแล้ว ก็ต้องดูแล โดยในการดูแลครั้งนี้ มีเงื่อนไขชัดเจนว่า “เกษตรกร จะต้องมีการปรับโครงสร้างการผลิต” ซึ่ง นบข. ได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมากำกับดูแล มี สภาพัฒน์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีกระทรวงมหาดไทย ภาคเอกชน ตัวแทนชาวนา และกระทรวงพาณิชย์ร่วมกันดูแล จะผลักดันให้ไปปลูกพืชเศรษฐกิจอื่นที่เหมาะสม หรือถ้ายังอยากจะปลูกข้าว ก็ต้องใช้พันธุ์ข้าวที่ดี มีผลผลิตต่อไร่สูง และเป็นที่ต้องการของตลาด

‘รับเงินไร่ละพัน’ เกษตรกรข้าวนาปรังต้องทำอย่างไรบ้าง?

สำหรับขั้นตอนการจ่ายเงินให้กับเกษตรกร จะจ่ายให้กับเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ปลูกข้าวนาปรังโดยตรง โดยที่กำหนดวงเงิน เบื้องต้น ไว้ 2.8 พันล้าน เพราะปี 2567 มีเกษตรกรขึ้นทะเบียนปลูกข้าวนาปรัง 3.2 แสนครัวเรือน ประมาณ 5.5 ล้านไร่ และปี 2568 มีผู้ลงทะเบียนแล้ว 2.3 แสนครัวเรือน ประมาณ 4 ล้านไร่ โดยเกษตรกรยังสามารถขึ้นทะเบียนได้จนถึงวันที่ 30 เม.ย.2568 จากนั้น จะนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติ

“ชาวนาที่เข้าร่วมจะต้องมีการขึ้นทะเบียนเกษตรกร กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งจะเปิดให้ขึ้นทะเบียนจนถึงวันที่ 30 เม.ย. 2568 เพราะจะจ่ายให้ชาวนาที่ได้ขึ้นทะเบียนแล้วเท่านั้น  ซึ่งชาวนาที่ทำนาปีและนาปรับงก็จะได้เงินอุดหนุนในส่วนของนาปรังด้วย ถือว่าได้ 2 ครั้ง มตินี้อยู่ระหว่างการทำรายละเอียดเพื่อทำเรื่องเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งคาดว่าจะเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด”

นายวิทยากร กล่าว

moc-help-season-rice-farming-1000-per-rai-farmers-registered-SPACEBAR-Photo01.jpg

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์