ตัวเลขส่งออก ‘วูบ’ มีนาคมติดลบ 10.9%

29 เม.ย. 2567 - 10:21

  • กระทรวงพาณิชย์ รายงานตัวเลขส่งออกเดือนมีนาคม

  • มูลค่า 24,960.6 ล้านดอลลาร์ ติดลบ 10.9%

  • ปัจจัยลบมาจาก สงคราม เศรษฐกิจ และ ภูมิอากาศ

moc-thai-export-negative-11-percent-SPACEBAR-Hero.jpg

นายพูนพงษ์ นัยนาภาภรณ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เผย การส่งออกของไทยในเดือนมีนาคม มีมูลค่า 24,960.6 ล้านดอลลาร์ ติดลบ 10.9% เป็นการกลับมาติดลบในรอบ 8 เดือน 

สาเหตุมาจากฐานการส่งออกที่สูงในเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า แต่ยังคงรักษาระดับการส่งออกได้ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยของมูลค่าการส่งออกย้อนหลัง 5 ปี จากเศรษฐกิจโลกที่เผชิญความไม่แน่นอนและขยายตัวต่ำ จากความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ในหลายพื้นที่ อีกทั้งการดำเนินนโยบายทางการเงินอย่างเข้มงวดยาวนาน ส่งผลต่อกำลังซื้อปัญหาหนี้สิน และการตัดสินใจลงทุนของภาคธุรกิจ

นอกจากนี้สภาพอากาศแปรปรวนทำให้อุปทานของสินค้าเกษตรออกสู่ตลาดล่าช้า ส่วน การนำเข้า มีมูลค่า 26,123.8 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 5.6 % ดุลการค้า ขาดดุล 1,163.3 ล้านดอลลาร์

การส่งออกไทยไตรมาสแรกของปี 2567 มูลค่า 70,995.3 ล้านดอลลาร์ ติดลบ 0.2% และเมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัว 1.3 % การนำเข้า มีมูลค่า 75,470.5 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 3.8% ดุลการค้าไตรมาสแรกของปี 2567 ขาดดุล 4,475.2 ล้านดอลลาร์

สำหรับการส่งออกที่ลดลง มาจากการลดลงของสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร 5.1% โดยสินค้าเกษตร เพิ่ม 0.1% แต่สินค้าอุตสาหกรรมเกษตร ลด 9.9% โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัว อาทิ ข้าว ยางพารา อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป อาหารสัตว์เลี้ยง ผลไม้กระป๋องและแปรรูป สิ่งปรุงรสอาหาร นมและผลิตภัณฑ์จากนม ส่วนสินค้าที่หดตัว อาทิ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง น้ำตาลทราย ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งและแห้ง ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ ทั้งนี้ ไตรมาสแรกของปี 2567 การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร เพิ่ม 0.3%
       

สินค้าอุตสาหกรรม ลด 12.3% โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัว อาทิ หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ และสินค้าที่หดตัว อาทิ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ สินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด ทั้งนี้ ไตรมาสแรกของปี 2567 การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ลด 0.3

ด้านตลาดส่งออกสำคัญ ส่วนใหญ่หดตัว 
ตลาดหลัก ลด 9.1% 
จีน 9.7% 
ญี่ปุ่น 19.3% 
สหภาพยุโรป (27) 0.1% 
อาเซียน (5) 26.1% 
สหรัฐฯ เพิ่ม 2.5% 
CLMV เพิ่ม 0.5% 

ตลาดรอง ลด 4.3%
โดยหดตัวในเอเชียใต้ 6.1% ตะวันออกกลาง 7.3% แอฟริกา 11.9% ลาตินอเมริกา 10.2% รัสเซียและกลุ่ม CIS 14.2% และสหราชอาณาจักร 19.3% แต่ทวีปออสเตรเลีย เพิ่ม 13.5% และตลาดอื่น ๆ ลด 82.3% อาทิ สวิตเซอร์แลนด์ ลด 87.3%

สำหรับแนวโน้มการส่งออกในปี 2567 กระทรวงพาณิชย์ยังคงเป้าขยายตัว 1-2% โดยคาดว่า การส่งออกของไทยในปี 2567 จะยังขยายตัวได้จากสินค้าเกษตรและอาหารที่ไทยมีความได้เปรียบในการแข่งขัน ท่ามกลางภาวะขาดแคลนอาหารทั่วโลกและภาวะสงครามในบางประเทศ ทำให้ความต้องการสินค้าอาหารยังอยู่ในระดับสูง

เขากล่าวด้วยว่า หากทำได้เฉลี่ยเดือนละ 24,044 ล้านดอลลาร์ การส่งออกจะขยายตัว 1% ทำได้เฉลี่ย 24,362 ล้านดอลลาร์ต่อเดือน การส่งออกจะขยายตัว 2% ส่วนการขาดดุลการค้า ดูแลไม่น่าเป็นห่วง เพราะตัวหลักที่นำเข้าสูง คือ สินค้าทุนและวัตถุดิบ นำเข้ารวมกัน 60% ของการนำเข้ารวม และ น้ำมัน มีสัดส่วนถึง 19%

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์