วันที่ 2-16 มกราคม 2568 กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ เกี่ยวกับการปรับปรุงเงื่อนไขและค่าธรรมเนียมหนังสืออนุญาตประกอบการค้าข้าวสำหรับการส่งออก เพื่อสนับสนุนนโยบายรัฐบาลในการส่งเสริมศักยภาพเกษตรกรและผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ให้สามารถส่งออกข้าวไปทั่วโลกได้ ดังนี้
1. การปรับปรุงอัตราค่าธรรมเนียมหนังสืออนุญาตให้ประกอบการค้าข้าว ประเภทค้าข้าวส่งไปจำหน่ายต่างประเทศ
ในส่วนของกลุ่มเกษตรกรและสหกรณ์ที่เป็นผู้ส่งออกทั่วไป จะได้รับการยกเว้นการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการส่งออกเดิมที่กำหนดไว้ 50,000 บาท ขณะที่กลุ่มเกษตรกรและสหกรณ์ที่เป็นผู้ส่งออกข้าวสารบรรจุกล่องหรือหีบห่อจะได้รับการยกเว้นเหมือนเดิม
ขณะที่ผู้ประกอบการที่มีทุนจดทะเบียน 5-10 ล้านบาท ที่เป็นผู้ค้าข้าวประเภทผู้ส่งออกทั่วไป จะได้รับการลดค่าธรรมเนียมจาก 50,000 บาท เหลือ 10,000 บาท
ผู้ประกอบการที่มีทุนจดทะเบียน 10-20 ล้านบาท ที่เป็นผู้ค้าข้าวประเภทผู้ส่งออกทั่วไป จะได้รับการลดค่าธรรมเนียมจาก 50,000 บาท เหลือ 30,000 บาท
ผู้ประกอบการที่มีทุนจดทะเบียนมากกว่า 20 ล้านบาท ที่เป็นผู้ค้าข้าวประเภทผู้ส่งออกทั่วไป จะจ่ายค่าธรรมเนียม 50,000 บาท คงเดิม
ส่วนผู้ค้าข้าวประเทภผู้ส่งออกข้าวสารบรรจุกล่องหรือหีบห่อ ไม่กำหนดทุนจดทะเบียน จะได้รับการลดค่าธรรมเนียมจาก 20,000 บาท เหลือ 10,000 บาท

2. การปรับปรุงเงื่อนไขในหนังสืออนุญาตให้ประกอบการค้าข้าว ประเภทค้าข้าวส่งไปจำหน่ายต่างประเทศ
ในส่วนของกลุ่มเกษตรกรและสหกรณ์ที่เป็นผู้ส่งออกทั่วไป และกลุ่มเกษตรกรและสหกรณ์ที่เป็นผู้ส่งออกข้าวสารบรรจุกล่องหรือหีบห่อจะได้รับการยกเว้นเหมือนเดิม
ขณะที่ผู้ประกอบการที่มีทุนจดทะเบียน 5-10 ล้านบาท ที่เป็นผู้ค้าข้าวประเภทผู้ส่งออกทั่วไป จะปรับลดสต๊อกจาก 500 ตัน เหลือ 100 ตัน
ผู้ประกอบการที่มีทุนจดทะเบียนตั้งแต่ 10-20 ล้านบาท ที่เป็นผู้ค้าข้าวประเภทผู้ส่งออกทั่วไปให้คงสต๊อกไว้ที่ 500 ตันเหมือนเดิม เช่นเดียวกับผู้ค้าข้าวประเภทผู้ส่งออกทั่วไป ทุนจดทะเบียนมากกว่า 20 ล้านบาทให้คงสต๊อกไว้ที่ 1,000 ตันเหมือนเดิม
ส่วนผู้ค้าข้าวประเทภผู้ส่งออกข้าวสารบรรจุกล่องหรือหีบห่อ ไม่กำหนดสต๊อกเหมือนเดิม

กรมการค้าภายใน ระบุว่า การปรับปรุงครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อลดขั้นตอนและอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายเร่งด่วนในการส่งเสริมศักยภาพการส่งออกข้าวของประเทศ
ก่อนหน้านี้ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวในการแถลงผลงานของรัฐบาล 90 วัน และมอบนโยบายภายใต้แคมเปญ “2568 โอกาสไทย ทำได้จริง” เมื่อวันที่ 12 ธ.ค.2567 ตอนหนึ่งว่า
“รัฐบาลเรามีความเชื่ออย่างยิ่งว่า การทลายทุนผูกขาดเป็นสิ่งสำคัญ การผูกขาดทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นจากภาครัฐหรือภาคเอกชน เป็นสิ่งที่เพิ่มต้นทุนให้กับพี่น้องประชาชน การผูกขาดทำให้พี่น้องประชาชนจนลง ไม่ได้ทำให้มีตังค์มากขึ้น ยกตัวอย่างง่ายๆ อย่างเช่น เรื่องข้าว มันมีกฎหมายควบคุมตั้งแต่ช่วงสงครามโลก ครั้งที่ 2 ว่า ให้เป็นยุทธภัณฑ์”
“เพราะฉะนั้น การส่งออกโดยไม่ได้รับอนุญาต ก็จะมีปัญหามากมาย ถึงจะมีการแก้ไขกฎหมายแล้ว ก็เป็นการแก้ไขในปี 2522 พอแก้เสร็จแล้ว กฎหมายก็ยังไม่อัพเดต ยังไม่ทันสมัยอยู่ดี คือ ใครจะส่งออกข้าว คนที่จะทำเรื่องข้าว ต้องมีที่เก็บข้าวอย่างน้อย 500 ตัน อันนี้ SMEs ขนาดเล็ก ผู้ประกอบการรายเล็กที่จะลองทำ เกษตรกร ไม่มีสิทธิ์เลย ไม่มีสิทธิ์ที่จะสามารถส่งออกข้าวไปขายต่างประเทศได้ เพราะ 500 ตัน ไม่มีใครมีที่เก็บมากขนาดนั้น รัฐบาลจะปลดล็อคเรื่องนี้ และลดขั้นตอนเหล่านี้ลง ทำให้เกษตรกรได้มีโอกาสและสามารถส่งออกข้าวด้วยตัวเองได้ ไม่ต้องไปพึ่งพาหรือหาที่เก็บข้าว 500 ตันจากที่ไหน ฉะนั้น นี่คือเวทีที่จะทำให้ SMEs ได้กลับมาเกิดขึ้นอีกครั้ง”
และสำทับด้วย นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่กล่าวระหว่างปราศรัยที่จังหวัดอุดรธานี อ้างถึง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ต้องการช่วยเหลือกลุ่มผู้ส่งออกที่เป็น SMEs หยุดการผูกขาด เพราะแม้เรื่องข้าวที่จัดส่งออกต่างประเทศก็ต้องผ่านสมาคมผู้ส่งออก มีการตรวจสารพัดซึ่งเป็นต้นทุนของเกษตรกร ซึ่งกฎหมายนี้ใช้มายาวนาน ตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สอง ที่บอกว่าข้าวเป็นยุทโธปกรณ์หรือเครื่องมือทางทหารที่ต้องควบคุม แต่ทุกวันนี้ก็ยังใช้กฎหมายเดิมอยู่ ฉะนั้น จึงต้องยกเลิกกฎหมายเก่าๆ ที่ทำให้คนไทยจน โดยเฉพาะเสรีภาพทางการค้าขายต่างๆ