เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เผย ได้มอบหมายให้ ฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ หัวหน้าคณะทำงานรัฐมนตรีฯ นำ ‘ทีมสุดซอย’ พร้อมเจ้าหน้าที่จากกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ร่วมกับกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.) เข้าตรวจสอบโรงงานในพื้นที่เขตปลอดอากร (Free Zone) ที่ตำบลหนองเหียง อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี หลังได้รับเบาะแสว่ามีการลักลอบประกอบกิจการผิดกฎหมายหลายประการ

โรงงานดังกล่าวอยู่ภายใต้การดูแลของบริษัท เมทัล เซ็นทรัล จำกัด ซึ่งได้รับอนุญาตใช้พื้นที่ในเขตปลอดอากรเพื่อดำเนินกิจการด้านผลิตภัณฑ์พลาสติกสำเร็จรูป อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบ พบว่าบริษัทได้นำพื้นที่ไปให้เช่าตั้งโรงงาน โดยมีบุคคลไทยเป็นนายหน้าดำเนินการให้กับกลุ่มนักลงทุนชาวจีน
ในการปฏิบัติการ เจ้าหน้าที่ได้เข้าตรวจสอบโกดัง 4 หลัง 5 อาคาร พบการกระทำผิดหลายรายการ ได้แก่
- บริษัท เบต้า แพ็คเกจ โปรดักส์ (ประเทศไทย) จำกัด มีเครื่องฉีดพลาสติกติดตั้งโดยไม่ได้แจ้งเริ่มประกอบกิจการ อีกทั้งขยายเครื่องจักรเกินขอบเขตที่ได้รับอนุญาต
- บริษัท แคท เมทัล อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ไม่มีใบอนุญาตโรงงาน และใช้แรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายในการคัดแยกเศษอลูมิเนียม แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ และขยะอื่นๆ รวมแล้วมีของกลางเป็นขยะอุตสาหกรรมกว่า 1,600 ตัน

โดยเฉพาะแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ที่ยังไม่สามารถระบุปลายทางได้แน่ชัด ขณะเศษพลาสติกและยางจะถูกบดย่อยและกองไว้ภายในพื้นที่โรงงาน นอกจากนี้ ยังพบการแอบต่อท่อระบายน้ำเสียออกนอกโรงงานไปยังแหล่งน้ำสาธารณะ ซึ่งถูกสั่งระงับทันที

เจ้าหน้าที่จากศูนย์วิจัยและเตือนภัยมลพิษโรงงานภาคตะวันออก ได้เก็บตัวอย่างขยะและน้ำเสียเพื่อตรวจสอบ หากพบการปนเปื้อนโลหะหนัก จะดำเนินคดีเพิ่มเติมต่อไป
ด้านศุลกากรได้สั่งระงับการนำเข้าสินค้าของบริษัท เมทัล เซ็นทรัล จำกัด ทันที ขณะที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองจับกุมแรงงานต่างด้าว 14 ราย เพื่อดำเนินคดีและผลักดันออกนอกประเทศ พร้อมแจ้งข้อหานายจ้างในความผิดตามกฎหมายแรงงาน
เอกนัฏ ระบุว่า การใช้สิทธิในเขตปลอดอากรต้องอยู่ภายใต้กรอบกฎหมายทุกฉบับ ไม่สามารถใช้สิทธิพิเศษด้านภาษีมาเป็นข้ออ้างในการกระทำผิด โดยเฉพาะในกรณีที่กิจการไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจแก่ประเทศ ทั้งยังสร้างผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง
“เขตปลอดอากรต้องเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ไม่ใช่ช่องว่างให้ทุนต่างชาติใช้เป็นแหล่งลักลอบนำเข้าขยะอุตสาหกรรม เราจะดำเนินการทางกฎหมายอย่างเต็มที่ และขยายผลตรวจสอบพื้นที่อื่น ๆ ต่อไป” เอกนัฏ กล่าว
ภารกิจครั้งนี้เกิดขึ้นจากการรับแจ้งเบาะแสของประชาชนผ่านสายด่วนของ บก.ปทส. ซึ่งได้มีการเฝ้าสังเกตการณ์จนได้หลักฐานชัดเจนก่อนประสานหมายค้นและร่วมดำเนินการกับกระทรวงอุตสาหกรรม โดยประชาชนสามารถแจ้งข้อมูลโรงงานผิดกฎหมายผ่านระบบ ‘แจ้งอุต’ บนแอปพลิเคชัน Traffy Fondue ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
