นักวิเคราะห์ ชี้ Outlook เครดิตไทยถูกหั่น กดดันตลาดระยะสั้น – กนง. ลดดอกเบี้ย หนุนกลุ่มอสังหาฯ-Non Bank

30 เม.ย. 2568 - 07:47

  • Moody’s ปรับ Outlook เป็น Negative สะท้อนเศรษฐกิจไทยเปราะบาง

  • หุ้นกลุ่มที่ได้อานิสงส์ดอกเบี้ยขาลง คือ อสังหาฯ (AP, SPALI), Non-Bank (SAWAD, MTC), ค้าปลีก (CPALL), ไฟฟ้า (GULF)

moody-outook-set-stocks-SPACEBAR-Hero.jpg

นักวิเคราะห์จากสถาบันการเงินชั้นนำประเมินผลกระทบหลังมูดี้ส์ปรับลด Outlook เครดิตของไทย ระบุกระทบตลาดหุ้นเพียงระยะสั้น แต่สะท้อนข้อจำกัดด้านการคลังและความเสี่ยงเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจไทย พร้อมคาดการณ์ว่า กนง. มีโอกาสสูงที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งนี้

กรภัทร วรเชษฐ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ หัวหน้าสายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า การที่มูดี้ส์ปรับลด Outlook เครดิตของไทยจะกดดันตลาดหุ้นไม่มาก แต่เป็นตัวสะท้อนข้อจำกัดด้านการคลังในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ภายใต้ความเสี่ยงเชิงโครงสร้างและแรงกดดันจากมาตรการกำแพงภาษีของสหรัฐฯ ที่อาจถ่วงเศรษฐกิจไทย ส่งผลให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมวันนี้

"จากข้อมูลในอดีต เมื่อไทยถูกปรับลด Outlook พบว่าค่าเงินบาทไม่ได้ตอบสนองอย่างมีนัยสำคัญ ส่วนตลาดหุ้นปรับตัวลงเพียงระยะสั้นและกลับมาที่ระดับเดิม หรือบางครั้งกลับปรับตัวขึ้น" กรภัทรกล่าว

บล.กรุงศรีประเมินว่า ดัชนี SET วันนี้น่าจะผันผวนแต่มีแนวโน้มปรับตัวขึ้น โดยมีแนวต้านที่ 1,182/1,190 จุด และแนวรับที่ 1,160/1,152 จุด พร้อมแนะนำให้ลงทุนในหุ้นที่ได้ประโยชน์จากดอกเบี้ยขาลง เช่น AP, CPALL และ SAWAD

ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ฯ บล.กรุงศรี กล่าวเสริมว่า ประเทศไทยกำลังเข้าสู่วัฏจักรลดดอกเบี้ย (Rate Cut Cycle) จากปัจจัยหนุนหลายประการ ทั้งเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่กลับหัว (Inverted Yield Curve) อัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำ และเศรษฐกิจไทยที่เติบโตต่ำกว่าศักยภาพ ซึ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ กนง. ตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% ในการประชุมวันนี้

ด้านวทัญ จิตต์สมนึก ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์กลยุทธ์ บล.พาย มองว่า การที่มูดี้ส์ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของไทยเป็นผลมาจากมาตรการเรียกเก็บภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ และความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการเก็บภาษีเพิ่มเติม แต่ผลกระทบไม่รุนแรงมากนัก

"สาเหตุที่มูดี้ส์ปรับลด Outlook เพราะเศรษฐกิจไทยพึ่งพิงปัจจัยภายนอกค่อนข้างมาก ทั้งการส่งออกและการท่องเที่ยว อีกทั้งยังมีความไม่แน่นอนว่าสหรัฐฯ จะใช้มาตรการภาษีอะไรกับไทยหลังผ่านพ้น 90 วัน ประกอบกับเศรษฐกิจไทยที่เติบโตช้า โดยปีนี้คาดว่าจะเติบโตเพียง 1.5-1.8% และยังมีปัญหาหนี้ครัวเรือนในระดับสูง" ผอ.ฝ่ายวิเคราะห์กลยุทธ์ บล.พาย กล่าว

ผอ.ฝ่ายวิเคราะห์กลยุทธ์ บล.พาย ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า การปรับลดดังกล่าวเป็นเพียงปัจจัยด้านความเชื่อมั่นที่กระทบในระยะสั้น ไม่ได้กระทบต่อปัจจัยพื้นฐานมากนัก เนื่องจากเงินกู้ส่วนใหญ่ของไทยยังเป็นเงินกู้ภายในประเทศ แต่สิ่งที่น่ากังวลมากกว่าคือทิศทางเศรษฐกิจไทยที่เติบโตช้า การส่งออกที่ชะลอตัว และการท่องเที่ยวที่เริ่มอ่อนแรง โดยตัวเลขนักท่องเที่ยวสะสมอยู่ที่ 11.8 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้นเพียง 0.1% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

นอกจากนี้ ผอ.ฝ่ายวิเคราะห์กลยุทธ์ บล.พาย ยังเตือนถึงความเสี่ยงจากการที่สินค้าจีนอาจทะลักเข้าไทยจากผลกระทบของสงครามการค้ากับสหรัฐฯ ซึ่งอาจกดดันผู้ประกอบการ SME ของไทย และคาดการณ์ว่าตลาดหุ้นไทยอาจปรับตัวลงอีกรอบในบริเวณ 1,170-1,200 จุด

สำหรับกลยุทธ์การลงทุนหลัง กนง. ปรับลดอัตราดอกเบี้ย ผอ.ฝ่ายวิเคราะห์กลยุทธ์ บล.พายแนะนำว่า นักลงทุนไม่ควรใช้ประเด็นเรื่องดอกเบี้ยเป็นปัจจัยหลักในการลงทุน และไม่ควรมองว่าการปรับลดดอกเบี้ยเป็น 'ยาวิเศษ' แต่ควรพิจารณาภาพรวมเศรษฐกิจไทยด้วย อย่างไรก็ตาม การลดดอกเบี้ยจะเป็นปัจจัยหนุนหุ้นกลุ่มสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร (Non-bank) เช่น MTC, SAWAD และหุ้นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ เช่น AP, SPALI ในระยะสั้นเป็นต้น

ผอ.ฝ่ายวิเคราะห์กลยุทธ์ บล.พาย ยังแนะนำให้นักลงทุนจับตาตลาดหุ้นทั่วโลกที่ยังมีความเสี่ยง และควรรอให้ตลาดหุ้นโลกฟื้นตัวขึ้นอีกก่อนเข้าลงทุนเพิ่ม ในขณะที่มองว่าตลาดตราสารหนี้ยังคงมีความน่าสนใจ

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์