คมนาคม จ่อสร้างใหม่ ปีนี้ 31 โครงการ ตรงไหนบ้าง?

31 ม.ค. 2567 - 08:11

  • ‘สุริยะ’ กางแผนปี 67-68 คมนาคมไหลลื่น “บก – น้ำ – ราง - อากาศ” เดินหน้า 150 โครงการ

  • จ่อสร้างใหม่ปีนี้ 31 โครงการ เมกะโปรเจกต์ ปี 68 รวม 13 โครงการ

  • ชวนดู ตรงไหนบ้าง? ต้องพร้อมรับความเจริญ และด้านการก่อสร้าง!

mot_communications_construction_project_land_rail_water_air_SPACEBAR_Hero_41aa31df14.jpg

เราเห็น ถนนพระราม 2 เป็นโครงการก่อสร้างที่ถ้าหากแล้วเสร็จ จะช่วยทำให้การเดินทางลงภาคใต้ เป็นไปอย่างสะดวก รวดเร็ว สร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันได้อีกหลายด้าน แต่อีกด้าน ก็ต้องแลกกับความอดทนของคนในย่านที่เส้นทางนั้นพาดผ่าน 

และขณะนี้ เข้าสู่ปี 2567 แผนเดินหน้าพัฒนาประเทศ มาแล้ว และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ เผยแล้ว แผนเชิงรุก ขับเคลื่อนนโยบายคมนาคม ปี 2567 - 2568 เดินหน้า 150 โครงการทั้งทางบก ทางน้ำ ทางราง และทางอากาศ มีจำนวนโครงการรวมทั้งสิ้น 150 โครงการ แบ่งเป็น  • โครงการที่จะเปิดให้บริการภายในปี 2567 จำนวน 64 โครงการ และโครงการที่จะเริ่มก่อสร้างอีกจำนวน 31 โครงการ มูลค่าลงทุนรวม 389,750 ล้านบาท • ขณะที่ในปี 2568 มีโครงการใหม่อีกจำนวน 57 โครงการ มูลค่าลงทุนรวม 263,016 ล้านบาท จำนวนนี้ มีโครงการขนาดใหญ่ ที่มีมูลค่าลงทุนสูงเกิน 1,000 ล้านบาท จำนวน 13 โครงการ มูลค่าลงทุนรวม 254,183 ล้านบาท

เมื่อมาแยกรายละเอียดโครงการมิติทางถนน มีโครงการที่จะเปิดให้บริการ ปี 2567 จำนวน 18 โครงการ เช่น  \- มอเตอร์เวย์ M81 สายบางใหญ่ - กาญจนบุรี \- มอเตอร์เวย์ M6 สายบางปะอิน – สระบุรี – นครราชสีมา \- สะพานมิตรภาพไทย - ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ - บอลิคำไซ) จ.บึงกาฬ เป็นต้น

ส่วนโครงการใหม่ที่จะเริ่มก่อสร้างในปี 2567 จำนวน 13 โครงการ เช่น  \- มอเตอร์เวย์ M9 สายวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ด้านตะวันตก ตอนบางบัวทอง – บางปะอิน \- มอเตอร์เวย์ ส่วนต่อขยาย M7 เชื่อมต่อสนามบินอู่ตะเภา \- ทางพิเศษฉลองรัช ส่วนต่อขยาย (ช่วงจตุโชติ - ลำลูกกา) \- ทางพิเศษจังหวัดภูเก็ต ตอนกะทู้ – ป่าตอง เป็นต้น

และโครงการใหม่ในปี 2568 จำนวน 24 โครงการ เช่น \- ก่อสร้างทางแนวใหม่เชื่อม M6 - ทล.32 \- ก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโกลก แห่งที่ 2 ที่ อ.สุไหงโกลก - รันเตาปันยัง จ.นราธิวาส \- โครงการพัฒนาถนนวงแหวนรอบเมืองเชียงใหม่ รอบที่ 3 (ทล.121) เป็นต้น

ขณะที่ การพัฒนาการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคมได้ให้ความสำคัญการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกและสนับสนุนการขนส่งสินค้า เพิ่มประสิทธิภาพการกระจายสินค้า รวมทั้งการกำกับดูแลและยกระดับการให้บริการ การกำกับมาตรฐานความปลอดภัยของประชาชนผู้ใช้บริการ และมาตรฐานความปลอดภัยในการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ 

\- โดยโครงการที่จะเปิดให้บริการ ปี 2567 จำนวน 11 โครงการ เช่น การพัฒนาระบบการเชื่อมต่อการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ (Feeder) ของ กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) จำนวน 29 เส้นทาง และ ของ บขส. จำนวน 21 เส้นทาง เป็นต้น 

\- ด้านโครงการใหม่ที่จะเริ่มในปี 2567 จำนวน 8 โครงการ เช่น การผลักดันรถโดยสารพลังงานสะอาด ของ ขบ. ขสมก. และ บขส. 

และโครงการใหม่ในปี 2568 จำนวน 7 โครงการ เช่น โครงการจัดหารถโดยสารพลังงานไฟฟ้า ของ บขส. จำนวน 75 คัน เป็นต้น 

ด้านการพัฒนาการขนส่งทางราง กระทรวงคมนาคม เร่งรัด โครงการก่อสร้างทางรถไฟสายใหม่ และโครงการรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 รถไฟความเร็วสูงและโครงข่ายการขนส่งสินค้าไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อให้บริการได้ตรงเวลา และลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการขนส่งสินค้าและการเดินทางของประชาชน พร้อมผลักดันการออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลการให้บริการระบบการขนส่งทางราง

โดยโครงการที่จะเปิดให้บริการ ปี 2567 จำนวน 9 โครงการ เช่น รถไฟทางคู่ ช่วงนครปฐม – หัวหิน, ช่วงหัวหิน – ประจวบคีรีขันธ์, ช่วงประจวบคีรีขันธ์ - ชุมพร เป็นต้น 

โครงการใหม่ที่จะเริ่มก่อสร้างในปี 2567 จำนวน 6 โครงการ เช่น  \- รถไฟชานเมืองสายสีแดงเข้ม ช่วงรังสิต - มธ. ศูนย์รังสิต \- รถไฟชานเมืองสายสีแดงช่วงตลิ่งชัน - ศาลายา \- รถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน - ศิริราช \- รถไฟทางคู่ ช่วง ชุมทางถนนจิระ – อุบลราชธานี เป็นต้น

และ โครงการใหม่ในปี 2568 จำนวน 10 โครงการ เช่น การจัดหารถจักรและล้อเลื่อนเพื่อรองรับรถไฟทางคู่ การศึกษาจัดทำมาตรฐานเขตระบบรถขนส่งทางรางและเขตปลอดภัยระบบรถขนส่ง การจัดทำกฎหมายลำดับรองภายใต้ร่างพระราชบัญญัติการขนส่งทางราง พ.ศ. .... เป็นต้น

ด้านการพัฒนา การขนส่งทางน้ำ ได้เน้นย้ำให้ขยายขีดความสามารถการขนส่งทางน้ำ โดยการเปิดประตูการค้าทางน้ำ เพิ่มประสิทธิภาพการเดินเรือ เร่งการก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 และการพัฒนาท่าเรือในภูมิภาค รวมทั้งการปรับปรุงท่าเรือโดยสารอัจฉริยะ (Smart Pier) 

โดยโครงการที่จะเปิดให้บริการ ปี 2567 จำนวน 8 โครงการ เช่น 

\- พัฒนาท่าเรือโดยสารสาธารณะในแม่น้ำเจ้าพระยา (Smart Pier) จำนวน 4 ท่า ได้แก่ ท่าเรือพระราม 7 ท่าเรือปากเกร็ด จ.นนทบุรี ท่าเรือพระปิ่นเกล้า ท่าเรือพระราม 5 เป็นต้น  \- โครงการใหม่ที่จะเริ่มก่อสร้างในปี 2567 จำนวน 2 โครงการ เช่น พัฒนาท่าเรือภูมิภาคเชื่อมโยงกระบี่ - พังงา - ภูเก็ต (วงแหวนอันดามัน) ได้แก่ ท่าเรือมาเนาะห์ และท่าเรือช่องหลาด จ.พังงา เป็นต้น \- โครงการใหม่ในปี 2568 จำนวน 8 โครงการ เช่น พัฒนาท่าเรือวงแหวนอันดามัน เพิ่มอีกจำนวน 2 ท่า ได้แก่ ท่าเรือท่าเลน จ.กระบี่ และท่าเรืออ่าวปอ จ.ภูเก็ต พัฒนาท่าเรือโดยสารสาธารณะในแม่น้ำเจ้าพระยา (Smart Pier) เพิ่มอีกจำนวน 15 ท่า เป็นต้น

การพัฒนาการขนส่งทางอากาศ ได้เร่งรัดการเพิ่มศักยภาพท่าอากาศยานหลักของประเทศให้รองรับผู้โดยสารและนักท่องเที่ยวที่จะเพิ่มขึ้น และขับเคลื่อนสู่การเป็นศูนย์กลางการบินในภูมิภาค หรือ Aviation Hub รวมทั้งพัฒนาบุคลากรด้านการบินให้มีคุณภาพและมีจำนวนเพียงพอกับความต้องการของอุตสาหกรรมการบิน

\- โครงการที่จะเปิดให้บริการ ปี 2567 จำนวน 18 โครงการ เช่น ทางวิ่งเส้นที่ 3 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ อาคารที่พักผู้โดยสารหลังใหม่ ท่าอากาศยานตรัง อาคารที่พักผู้โดยสารหลังที่ 3 พร้อมอาคารจอดรถยนต์ท่าอากาศยานกระบี่ เป็นต้น 

\- โครงการใหม่ที่จะเริ่มก่อสร้างในปี 2567 จำนวน 2 โครงการ เช่น ก่อสร้างส่วนต่อขยายท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ด้านทิศตะวันออก เป็นต้น 

\- โครงการใหม่ในปี 2568 จำนวน 8 โครงการ เช่น ก่อสร้างต่อเติมความยาวทางวิ่ง ขยายทางขับ ลานจอดเครื่องบิน พร้อมระบบไฟฟ้าสนามบิน ท่าอากาศยานชุมพร ซ่อมบำรุงเสริมผิวทางวิ่ง ทางขับ ท่าอากาศยานกระบี่ เป็นต้น

นายสุริยะ กล่าวอีกว่า ในปี 2568 กระทรวงคมนาคมมีโครงการลงทุนขนาดใหญ่ (Mega Projects) ที่มีมูลค่าลงทุนเกิน 1,000 ล้านบาท จำนวน 13 โครงการ และมีมูลค่าลงทุนรวม 254,183 ล้านบาท ได้แก่ 

\- มิติการขนส่งทางถนน เช่น โครงการถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร รอบที่ 3 ด้านทิศใต้, โครงการทางแยกต่างระดับสันป่าตอง อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่, โครงการพัฒนาถนนวงแหวนรอบเมืองเชียงใหม่ รอบที่ 3 (ทล.121) และโครงการต่อเชื่อมถนนนครอินทร์ - ศาลายา 

\- มิติการขนส่งทางบก ได้แก่ โครงการสถานีขนส่งสินค้าจังหวัดสุราษฎร์ธานี ส่วนมิติการขนส่งทางราง ได้แก่ แผนการจัดหารถจักรและล้อเลื่อนเพื่อรองรับรถไฟทางคู่ 

\- มิติการขนส่งทางน้ำ ได้แก่ ขุดลอกบำรุงรักษาร่องน้ำเศรษฐกิจ จำนวน 10 แห่ง เป็นต้น 

\- มิติการขนส่งทางอากาศ ได้แก่ โครงการก่อสร้างต่อเติมความยาวทางวิ่ง ขยายทางขับ ลานจอดเครื่องบิน พร้อมระบบไฟฟ้าสนามบิน และองค์ประกอบอื่นๆ ของท่าอากาศยานชุมพร

อย่างไรก็ตาม ในปี 2568 กระทรวงคมนาคมจะเร่งลงทุนโครงการฯ โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบราง และโครงการตามนโยบายรัฐบาลที่ต้องการส่งเสริมการท่องเที่ยว รวมถึงโครงการแก้ปัญหา Missing Link และโครงการเพิ่มความปลอดภัยในการเดินทาง ลดอุบัติเหตุในการขนส่ง ได้แก่ มิติระบบราง จะเร่งลงทุนก่อสร้างรถไฟทางคู่ และรถไฟความเร็วสูง ตามกรอบระยะเวลาการดำเนินงาน (Timeline) ดังนี้

\- เร่งลงทุนก่อสร้างรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2565 - 2569) จำนวน 7 เส้นทาง ระยะทาง 1,479 กิโลเมตร (กม.) และเร่งรัดการก่อสร้างรถไฟสายใหม่ เด่นชัย – เชียงราย – เชียงของ และบ้านไผ่ - มุกดาหาร – นครพนม ให้แล้วเสร็จตามแผน

\- จากนโยบาย Visa Free ของรัฐบาล คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาประเทศไทยจำนวนมากนั้น กระทรวงคมนาคมจึงให้ความสำคัญกับการพัฒนา Gateway ทางอากาศ โดยมีโครงการ Quick Win ในด้านการพัฒนาปรับปรุงอาคาร ท่าอากาศยาน ให้มีความสะอาด ปลอดภัย สร้างความสะดวก ให้กับนักท่องเที่ยว นอกจากนี้ จะมีการปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพอาคารผู้โดยสาร และทางวิ่ง (Runway) ให้สอดคล้องกับปริมาณผู้โดยสารที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต โดยกระทรวงคมนาคมมุ่งเน้นเพิ่มขีดความสามารถทางด้านอากาศ เพื่อให้ประเทศไทยเป็น Aviation Hub 

นอกจากนี้ ในปี 2567 - 2568 กระทรวงคมนาคมยังได้กำหนดแผนงานและโครงการขยายขีดความสามารถการขนส่งทางน้ำด้วย อาทิ การเร่งรัดการพัฒนาท่าเรือโดยสารสาธารณะในแม่น้ำเจ้าพระยา (Smart Pier), การพัฒนาท่าเรือรองรับเรือสำราญขนาดใหญ่ (Cruise Terminal) สนับสนุนการท่องเที่ยว และการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 จะเร่งรัดงานก่อสร้างเพื่อให้เปิดบริการได้ในปี 2574

นายสุริยะ ยังเน้นย้ำ สำหรับการเดินหน้าในแต่ละโครงการ กระทรวงคมนาคมและทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันหารือและได้นำประเด็น และปัญหาของประชาชนในด้านคมนาคมมาคมนาคม และหาแนวทางในการแก้ไขปัญหา โดยจัดทำเป็น Action Plan เพื่อกำหนดการดำเนินงานและเวลาดำเนินงานที่ชัดเจน ในการพัฒนาระบบคมนาคมทั้งทางถนน ทางบก ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศ ให้ประชาชนได้รับความสะดวก ความปลอดภัยในการเดินทาง และเสียค่าใช้จ่ายในราคาที่เหมาะสม รวมถึงเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วย

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์