แหล่งข่าวจาก สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เผย สำนักงาน กสทช. จะจัดให้มีการจัดสรรคลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล ในปี 2568 ซึ่งเป็นการประมูลคลื่นความถี่แบบหลายย่านพร้อมกัน ประกอบด้วยย่านความถี่ 850 เมกะเฮิรตซ์ 1500 เมกะเฮิรตซ์ 1800 เมกะเฮิรตซ์ 2100 เมกะเฮิรตซ์ 2300 เมกะเฮิรตซ์ และ 26 กิกะเฮิรตซ์ พร้อมกับจะเปิดรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วนในวันที่ 6 ก.พ. 2568
สำหรับ การประมูลคลื่นความถี่รอบนี้แตกต่างจากที่เคยเกิดขึ้น มุ่งเน้นการจัดสรรที่เหมาะสมกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น การจะมีของ 6G ทิศทางการใช้คลื่นของทีวีดิจิทัล จึงได้จัดทำ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล แบ่งเป็น 6 ย่านความถี่ดังกล่าว
(ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล (International Mobile Telecommunications - IMT) ออกแบบวิธีการประมูล และเงื่อนไขในการเข้าร่วมประมูลทั้ง 6 คลื่นความถี่แบบ Simultaneous Ascending Clock Auction ประกอบด้วย 2 ขั้นตอน คือ การจัดสรรชุดคลื่นความถี่ (Allocation Stage) และการกำหนดย่านความถี่ (Assignment Stage) ผู้เข้าร่วมการประมูลต้องเสนอจำนวนคลื่นความถี่ ณ ราคาประมูลในแต่ละรอบ โดยราคาชุดคลื่นความถี่จะเพิ่มขึ้นทุกชุดของแต่ละย่านความถี่
ระยะเวลาการอนุญาตตามร่างประกาศหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล ทั้ง 6 ย่านความถี่ และใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่สาม ให้มีระยะเวลาการอนุญาต 15 ปีนับแต่วันที่ได้รับอนุญาต ยกเว้นคลื่นความถี่ย่าน 2100 เมกะเฮิรตซ์ (แบ่งเป็น2 ช่วงความถี่ 1920 - 1965 และ 2110 - 2155 เมกะเฮิรตซ์ ) ที่สิ้นสุดการอนุญาตในปี 2570 ให้มีระยะเวลาการอนุญาต 13 ปีนับแต่วันที่ได้รับอนุญาต มีการกำหนดเงื่อนไข หรือข้อกำหนดการส่งเสริมการแข่งขันในตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่จะต้องจัดสรรความสามารถในการให้บริการ (คาปาซิตี้) บางส่วนให้แก่ผู้ให้บริการแบบอิสระ Thailand Independent Market Operator (TIMO) เพื่อจัดสรรให้แก่ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบโครงข่ายเสมือน (MVNO)
เมื่อรับรองผลการประมูลแล้วผู้จะรับใบอนุญาตต้องจัดให้มีแผนรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ และแผนการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลโดยจัดให้มีกลไกในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ตามข้อกำหนดของกฎหมาย เช่น พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 เพื่อสร้างความปลอดภัยและความน่าเชื่อถือของข้อมูลและโครงข่ายโทรคมนาคม และป้องกันการเกิดอาชญากรรมทางเทคโนโลยี

สำหรับราคาประมูลที่กำหนดไว้ในร่างประกาศคือ
คลื่น 850 MHz จำนวน 2 ชุดความถี่ ใบอนุญาตละ 2×5 MHz ราคาเริ่มต้น 6,609 ล้านบาท
คลื่น 1500 MHz จำนวน 11 ชุดความถี่ ใบอนุญาตละ 5 MHz ราคาเริ่มต้น 904 ล้านบาท
คลื่น 1800 MHz จำนวน 7 ชุดความถี่ ใบอนุญาตละ 2×5 MHz ราคาเริ่มต้น 6,219 ล้านบาท
ความถี่ 2100 MHz จำนวน 12 ชุด ความถี่ ใบอนุญาตละ 2×5 MHz ราคาเริ่มต้น 3,391 ล้านบาท (FDD)
ความถี่ 2100 MHz จำนวน 3 ชุดความถี่ ใบอนุญาตละ 5 MHz ราคาเริ่มต้น 497 ล้านบาท (TDD)
ความถี่ 2300 MHz จำนวน 7 ชุดความถี่ ใบอนุญาตละ 10 MHz ราคาเริ่มต้น 1,675 ล้านบาท
ความถี่ 26 MHz จำนวน 1 ชุดความถี่ ใบอนุญาตละ 100 MHz ราคาเริ่มต้น 423 ล้านบาท
รวมการเปิดประมูลครั้งนี้ทั้งสิ้นจำนวน 450 MHz รวมมูลค่าเบื้องต้นที่ 121,026 ล้านบาท
