แทรกวาระเลือกเลขาฯ คาด ‘ไตรรัตน์’ คว้าเก้าอี้

21 ก.ย. 2566 - 08:43

  • ประชุม กสทช.สัญจร แทรกวาระพิจารณาเลขาฯ คนใหม่ ลือ ไตรรัตน์ ได้นั่งเก้าอี้นี้

  • เอกสารวาระการประชุม ประธาน กสทช. ไม่ยอมบรรจุรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือก

economy_nbtc_secretary_thailand_oppose_SPACEBAR_Hero_84e3bb61bb.jpg

วันนี้ (21 ก.ย.66) มีการประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) สัญจร ที่ จ.นครพนม โดยมีวาระค้างพิจารณาจำนวนมาก เนื่องจากการประชุม กสทช.ระยะหลังติดขัด 

โดยวาระที่น่าสนใจมีทั้ง การพิจารณาเรื่องดาวเทียมไทยคม 4 ที่กำลังจะหมดอายุทางวิศวกรรม, การพิจารณาร่างโครงสร้าง กสทช. และการเสนอชื่อผู้ที่ได้รับการสรรหาเป็นเลขาธิการ กสทช.คนใหม่ เป็นต้น

สำหรับวาระการเสนอชื่อเลขาธิการ กสทช. มีการคาดการณ์ว่า นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช. จะเสนอชื่อ ไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ กสทช. สายงานยุทธศาสตร์และกิจการองค์กร เพื่อให้ที่ประชุมลงมติเห็นชอบให้เป็นเลขาธิการ กสทช.คนใหม่ ทั้งที่ในเอกสารวาระการประชุม ประธาน กสทช. ไม่ยอมบรรจุรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือกแต่อย่างใด

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 12 ก.ย.66 ที่ผ่านมา นายไตรรัตน์ เป็นโจทก์ยื่นฟ้องกรรมการ กสทช.จำนวน 4 คน ประกอบด้วย พล.อ.ท.ธนพันธ์ หร่ายเจริญ เป็นจำเลยที่ 1, พิรงรอง รามสูต เป็นจำเลยที่ 2, ศุภัช ศุภชลาศัย เป็นจำเลยที่ 3, สมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ เป็นจำเลยที่ 4 และภูมิศิษฐ์ มหาเวสน์ศิริ รองเลขาธิการ กสทช. สายงานกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ เป็นจำเลยที่ 5 ข้อหาเป็นเจ้าพนักงานร่วมกันปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 86, 157 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปราม การทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 172 ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง

จากกรณีที่เมื่อการประชุม กสทช. วันที่ 23 ม.ค.66 กรรมการ กสทช.ทั้ง 4 คน ลงมติเสียงข้างมากปลด ไตรรัตน์ จากรักษาการเลขาธิการ กสทช. จนกว่าการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีอนุมัติเงินเงินกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และ กิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) สนับสนุนการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก จำนวน 600 ล้านบาท ที่ไตรรัตน์ ถูกตั้งกรรมการสอบจะเสร็จสิ้น พร้อมมีมติให้ตั้ง ภูมิศิษฐ์ มหาเวศน์ศิริ เป็น รักษาการเลขาธิการ กสทช.แทน โดยไตรรัตน์ บรรยายฟ้องว่า จำเลยร่วมกันมติปลดโจทก์ออกจากตำแหน่ง โดยไม่มีกฎหมายรองรับให้กระทำได้ แล้วเผยแพร่ข่าวแก่สื่อมวลชนทันที ทำให้โจทก์เสียหาย  จากนั้นก็ตั้งจำเลยที่ 5 เป็นรักษาการเลขาธิการ กสทช.แทน ทำให้โจทก์เสียหายกระทบต่อการทำงาน โดยศาลรับคดีไว้เพื่อตรวจคำฟ้อง และให้นัดฟังคำสั่งหรือคำพิพากษา ในวันที่ 3 ต.ค.66

รายงานข่าวจากสำนักงาน กสทช.แจ้งต่อว่า มีการตั้งข้อสังเกตว่า การลงมติของคณะกรรมการ กสทช. ถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่และการใช้อำนาจทางปกครอง หาก ไตรรัตน์ มองว่า ได้รับความเสียหายจากมติดังกล่าวก็ชอบที่จะเสนอเรื่องต่อศาลปกครอง มากกว่าการยื่นฟ้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติชอบกลาง โดยที่ นายไตรรัตน์ ยื่นฟ้องเอง โดยไม่ผ่านคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ด้วย อาจเพราะ นายไตรรัตน์ ประเมินแล้วว่า ขั้นตอนการไต่สวนมูลฟ้องในชั้น ป.ป.ช. อาจใช้ระยะเวลานาน และมีโอกาสที่ ป.ป.ช.จะวินิจฉัยว่า คำฟ้องของนายไตรรัตน์ ไม่มีมูลความผิดทางอาญาได้

รายงานข่าว ยังระบุอีกว่า  การที่ไตรรัตน์ ยื่นฟ้องกรรมการ กสทช. 4 คน เป็นคดีอาญา อาจจะส่งผลให้กรรมการ กสทช.ทั้ง 4 คน มีลักษณะเป็นคู่กรณีกับไตรรัตน์ ตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 มาตรา 13 และหากมีการหยิบยกประเด็นดังกล่าวขึ้นมาพิจารณา ในระหว่างการพิจารณาให้ความเห็นชอบผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งเลขาธิการ กสทช. ที่คาดว่า ไตรรัตน์ จะได้รับการเสนอชื่อ หรือ ไตรรัตน์ ทำการคัดค้านด้วยตัวเอง ก็อาจทำให้กรรมการ กสทช.ทั้ง 4 คน ต้องหยุดการพิจารณาตามมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ และอาจต้องมีการพิจารณาว่า จะต้องออกจากที่ประชุม ซึ่งเมื่อพิจารณาตามมติปลดไตรรัตน์ เมื่อวันที่ 23 ม.ค.66 ก็พบว่า กรรมการ กสทช.ทั้ง 4 คนที่ถูกไตรรัตน์ฟ้องเป็นเสียงข้างมากที่ลงมติให้ปลดไตรรัตน์

ดังนั้นองค์ประชุม กสทช.ที่จะเหลือเพียงประธาน กสทช. และกรรมการ กสทช.เพียง 3 คน ให้ความเห็นชอบผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งเลขาธิการ กสทช. ซึ่งประธาน กสทช. และกรรมการที่เหลือล้วนแล้วแต่มีพฤติการณ์ที่เชื่อได้ว่า ส่งเสริมสนับสนุนการดำเนินการของประธาน กสทช. เกี่ยวกับไตรรัตน์ มาโดยตลอด 

ขณะเดียวกัน กระบวนการสรรหาผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งเลขาธิการ กสทช.ครั้งนี้ ก็ข้อเคลือบแคลงสงสัยว่า การดำเนินการไม่ถูกต้องตามหลักกฎหมาย และมีข่าวว่ามีผู้สมัครที่มีข้อสงสัยถึงความโปร่งใสจะดำเนินการฟ้องร้องต่อไป

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์