บอร์ด กสทช. เคาะวันประมูลคลื่นฯ 17-18 พ.ค.68 เทงบจัด 70 ล้าน

28 ก.พ. 2568 - 07:52

  • บอร์ด กสทช. เคาะวันประมูลคลื่นความถี่ 17-18 พ.ค.68

  • เทงบจัดประมูล 70 ล้าน

  • ล่าสุด บอร์ดเสียงข้างมาก สั่งทบทวนงบสร้างการรับรู้ ที่ส่งตัวเลข 30 ล้านบาท

nbtc-spectrum-auction-frequency-6G-SPACEBAR-Hero.jpg

การประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (บอร์ด กสทช.) เมื่อวันที่ 26 ก.พ. ที่ผ่านมา กรรมการ กสทช. เห็นชอบกรอบระยะเวลาการประมูล และกรอบงบประมาณ จำนวน 70 ล้านบาท ในการจัดประมูล 

โดยจากนี้ สำนักงาน กสทช. จะประกาศเชิญชวนผู้สนใจเข้าร่วมการะมูลระหว่างวันที่ 15 มีนาคม -13 เมษายน 2568 และจะเปิดให้ยื่นคำขอเพื่อเข้าร่วมการประมูลคลื่นความถี่ในวันที่ 16 เมษายน 2568 หลังจากนั้น ทางสำนักงาน กสทช. จะตรวจสอบคุณสมบัติ เสนอ กสทช. เพื่อพิจารณาในวันที่ 17-28 เมษายน และเสนอ กสทช. เพื่อพิจารณาผลการตรวจคุณสมบัติในวันที่  28 เมษายน - 2 พฤษภาคม 2568 พร้อมประกาศรายชื่อผู้ผ่านคุณสมบัติเข้าร่วมประมูลในวันที่ 6 พฤษภาคม 2568 นอกจากนี้ ยังได้จัดเตรียมความพร้อมสำหรับผู้เข้าร่วมการประมูล (Mock Auction) ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 8 พฤษภาคม และกำหนดวันประมูล (Auction) ในวันที่ 17-18 พฤษภาคม 2568 

สำหรับกรอบงบประมาณในการจัดประมูล ได้กำหนดไว้ที่ 70 ล้านบาท แบ่งเป็น

1. ค่าใช้จ่ายสถานที่จัดการประมูล ค่าระบบคอมพิวเตอร์ ค่าจ้างผู้บริการจัดการงานประมูลและค่าใช้จ่ายสำรองอื่นๆ
1.1 ค่าจ้างเหมาบริการเพื่อจัดงานด้านสถานที่ อาหาร และสิ่งอำนวยความสะดวก 12 ล้านบาท
1.2 ค่าใช้จ่ายด้านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ระบบรักษาความปลอดภัย ระบบกล้องวงจรปิด 3 ล้านบาท

2. ค่าใช้จ่ายในการจ้างที่ปรึกษา/ผู้เชี่ยวชาญ
2.1 จ้างผู้รับตรวจคุณสมบัติผู้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ 5 ล้านบาท
2.2 จ้างที่ปรึกษาดำเนินการประมูลใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ 20 ล้านบาท

3. ค่าใช้จ่ายในการสร้างการรับรู้ให้ประชาชนทั้งทั้งก่อนและหลังการประมูล 30 ล้านบาท
3.1 จ้างผลิตและเผยแพร่ภาพยนตร์โฆษณาที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการประมูล
3.2 จ้างผลิตและเผยแพร่ผ่านช่องทางสื่อสารออนไลน์คลิปประชาสัมพันธ์ข้อมูล (Infographic Motion clip)
3.3 จ้างผลิตและเผยแพร่ภาพยนต์สั้นรูปแบบไวรัล ประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับประโยชน์ที่ได้รับจากการประมูลคลื่นความถี่

เหตุผลที่ในครั้งนี้ต้องมีการใช้งบประมาณในการสร้างการรับรู้ให้ประชาชนทั้งก่อนและหลังการประมูลถึง 30 ล้านบาท เนื่องจากการประมูลในครั้งนี้จะแตกต่างจากการประมูลครั้งที่ผ่านมา อย่างไรก็ดีความเห็นของกรรมการเสียงข้างมากมีความเห็นทักท้วงและขอความชัดเจนการใช้งบประมาณในส่วนการสร้างการรับรู้โดยให้สำนักงานกลับไปทบทวนวงเงินงบประมาณมาใหม่และชี้ให้เห็นถึงจุดประสงค์ในการใช้งบประมาณสร้างการรับรู้ว่าต้องการจะให้เกิดการรับรู้ในส่วนใดทั้งนี้ให้นำกลับมาเข้าสู่การพิจารณาอีกครั้งในการประชุมวันที่ 12 มีนาคม

สำหรับการกำหนดราคาในการประมูล คาดว่าจะใช้ราคาประมูลตั้งต้นเดิมที่สำนักงาน กสทช. เสนอมา คือ การประมูลรวมทั้งสิ้น จำนวน 450 เมกะเฮิรตซ์ รวมราคาเริ่มต้นมีมูลค่า 121,026 ล้านบาท ประกอบด้วย 
คลื่น 850 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 2 ชุดความถี่ ใบอนุญาตละ 2×5 เมกะเฮิรตซ์ ราคาเริ่มต้น 6,609 ล้านบาท 
คลื่น 1500 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 11 ชุดความถี่ ใบอนุญาตละ 5 เมกะเฮิรตซ์ ราคาเริ่มต้น 904 ล้านบาท 
คลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 7 ชุดความถี่ ใบอนุญาตละ 2×5 เมกะเฮิรตซ์ ราคาเริ่มต้น 6,219 ล้านบาท 
ความถี่ 2100 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 12 ชุด ความถี่ ใบอนุญาตละ 2×5 เมกะเฮิรตซ์ ราคาเริ่มต้น 3,391 ล้านบาท 
ความถี่ 2100 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 3 ชุดความถี่ ใบอนุญาตละ 5 เมกะเฮิรตซ์ ราคาเริ่มต้น 497 ล้านบาท 
ความถี่ 2300 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 7 ชุดความถี่ ใบอนุญาตละ 10 เมกะเฮิรตซ์ ราคาเริ่มต้น 1,675 ล้านบาท 
ความถี่ 26 กิกะเฮิรตซ์ จำนวน 1 ชุดความถี่ ใบอนุญาตละ 100 เมกะเฮิรตซ์ ราคาเริ่มต้น 423 ล้านบาท

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์