กสทช. สรุปผลประมูลวงโคจรดาวเทียม 3 ชุด รวมมูลค่า 806.5 ล้านบาท

16 ม.ค. 2566 - 03:52

  • สเปซ เทค อินโนเวชั่น ลูก THCOM คว้าข่ายดาวเทียมชุด 2 และ 3 ได้ ขณะที่ NT ได้ชุด 4

  • สรุปมูลค่าราคาประมูลทั้งสิ้น 806,502,650 บาท

NBTC-winning-bid-satellite-network-orbit-space-tech-THCOM-NT-SPACEBAR-Thumbnail
คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ  (กสทช.) เผยการประมูลสำหรับการอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าวงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด (Package) ซึ่งมีทั้งหมด 5 ชุด แต่ปรากฏว่ามีผู้ยื่นประมูลเพียง 3 ชุด ประกอบด้วย ชุดที่ 2, 3 และ 4  

สรุปผลการประมูลวงโคจรดาวเทียม 

โดยผลการประมูลบริษัท สเปซ เทค อินโนเวชั่น จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) หรือ THCOM คว้าชุดที่ 2 และ 3 ได้ ขณะที่บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด(มหาชน) ได้ชุดที่ 4 ซึ่งมีราคาประมูลรวมทั้ง 3 ชุดที่ 806,502,650 บาท 

ศ.คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช. เผย นับเป็นครั้งแรกในประเทศไทยในการนำสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม หรือข่ายงานดาวเทียม ที่ประเทศไทยมีอยู่เดิม จากสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ หรือไอทียู มาบริหารให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศชาติและประชาชน รักษาไว้ซึ่งสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม  

โดยการประมูลสิทธิการเข้าใช้ในครั้งนี้นับเป็นก้าวสำคัญในการวางโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ ส่งเสริมการใช้งาน อินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง หรือ ไอโอที และต่อยอดการพัฒนาเทคโนโลยี 5G และ 6G ในอนาคต 

การประมูลครั้งนี้ใช้วิธี Sequential Ascending Clock Auction กล่าวคือ ผู้เข้าร่วมประมูลจะต้องตัดสินใจตามระยะเวลาที่กำหนดในแต่ละรอบ (20 นาที) ด้วยการเคาะซึ่งจะทำให้ราคาสูงขึ้นครั้งละ 5% ของราคาขั้นต่ำ โดยผู้ชนะ คือ ผู้ให้ราคาสุดท้ายสูงสุด ผู้เข้าร่วมประมูลจะไม่ทราบว่าผู้ร่วมแข่งขันรายใดต้องการสิทธิวงโคจรชุดใดและมีความต้องการกี่ชุด รวมทั้งลำดับชุดในการการประมูลนั้น กสทช. จะกำหนดลำดับในวันประมูล เพื่อป้องกันการสมยอมกันระหว่างผู้เข้าร่วมประมูล ซึ่งการประมูลในลักษณะนี้จะทำให้เกิดการแข่งขันที่โปร่งใสและเป็นธรรมมากที่สุด รวมทั้งรายได้ที่เกิดขึ้นหลังหักค่าใช้จ่ายในการประมูล กสทช. จะนำส่งเป็นรายได้แผ่นดินทั้งหมด 

ซึ่งผลการประมูล สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด (Package) ตามประกาศ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด (Package) ลำดับการประมูลจากข่ายงานดาวเทียมชุดที่ 4 ชุดที่ 3 ชุดที่ 5 ชุดที่ 2 และ 1 ตามที่ได้มีการจับฉลาก การประมูลเริ่มต้นเมื่อเวลา 10.00 น. ในวันที่ 15 มกราคม 2566 และได้สิ้นสุดลง เวลา 11.36 น. ใช้เวลาในการประมูลรวมทั้งสิ้น 1.36 ชั่วโมง (ไม่รวมเวลาหยุดพักการประมูล) และมีราคาประมูลรวมของชุดข่ายงานดาวเทียมจำนวน 3 ชุดข่ายงานดาวเทียม (Package) เท่ากับ 806,502,650 บาท (แปดร้อยหกล้านห้าแสนสองพันหกร้อยห้าสิบบาทถ้วน) 

ผู้ชนะการประมูลในแต่ละชุดข่ายงานดาวเทียมได้รับใบอนุญาต มีระยะเวลา 20 ปี ดังนี้ 

  • ชุดที่ 1 ไม่มีผู้ยื่นความต้องการ 
  • ชุดที่ 2 ผู้ชนะการประมูล บริษัท สเปซ เทค อินโนเวชั่น จำกัด ราคาสุดท้าย 380,017,850 บาท 
  • ชุดที่ 3 ผู้ชนะการประมูล บริษัท สเปซ เทค อินโนเวชั่น จำกัด ราคาสุดท้าย 417,408,600 บาท 
  • ชุดที่ 4 ผู้ชนะการประมูล บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NTราคาสุดท้าย 9,076,200 บาท 
  • ชุดที่ 5 ไม่มีผู้ยื่นความต้องการ 
คณะกรรมการ กสทช. จึงประกาศผลการประมูลให้รับทราบโดยทั่วกัน และขอประกาศให้การประมูลสำหรับการอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด (Package) สิ้นสุดลงด้วย 

เงื่อนไข และรายละเอียดการใช้วงโคจร 

อย่างไรก็ตาม ผู้ประมูลได้ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่สำคัญคือ วงโคจรทุกชุดจะต้องแบ่งให้รัฐใช้ 1 ทรานสปอนเดอร์ หากใช้เพื่อให้บริการบรอดแบนด์รัฐที่ 400 เมกกะบิตต์ สำหรับแพคเก็จที่ไม่มีผู้ประมูล กสทช.จะพิจารณาต่อไปว่าจะดำเนินการอย่างไร 

วงโคจรชุดที่ 4 ที่ 126 องศาตะวันออก ชุด sme (ซึ่ง NT ประมูลได้ที่ราคา ราคา 9,076,200 บาท) ครอบคลุมเอเชียแปซิฟิก ญี่ปุ่น เกาหลี ฯลฯ สามารถนำไปให้บริการทั้ง บรอดคาสติ้งและบรอดแบนด์ เหตุที่เรียก sme เพราะเหมาะกับผู้ประกอบการรายเล็ก ราคาไม่แพง เป็นแพ็กเกจที่ประสานงานยังไม่เสร็จผู้ประมูลได้ต้องรอประสานงานเสร็จ จึงจะเอาดาวเทียมขึ้นได้  

วงโคจร ชุด 3 ที่ 119.5 องศาตะวันออก เป็นวงโคจรที่มีโอกาสทางธุรกิจค่อนข้างสูง (สเปซ เทค อินโนเวชั่น ประมูลได้ ที่ราคา 417,408,600 บาท) เป็นชุดที่มีดาวเทียมบรอดแบนด์ เหมาะกับการเอาไปให้บริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ เป็นวงโคจรที่มีดาวเทียมของไทยคม 4 ให้บริการอยู่ และกำลังหมดอายุสัมปทาน จึงต้องประมูลเพื่อหาคนมารับช่วงต่อ  

เงื่อนไขของวงโคจรนี้ คือ ผู้ประมูลได้ต้องรับดูแลลูกค้าไทยคม4 ที่ประสงค์จะรับบริการต่อ ถ้ารัฐต้องการใช้มากกว่า 400 เมกกะบิตต์ ให้รัฐซื้อเพิ่มได้ ในราคาที่อิงกับต้นทุน โดยมีระยะเวลาเจรจาไม่เกิน 90 วัน  

วงโคจรชุดที่ 5 ที่ 142 องศาตะวันออก อยู่ไกลสุด บริเวณออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ (ราคาเริ่มต้นที่ 189 ล้านบาท ไม่มีผู้ประมูล) โดยเป็นวงโคจรดาวเทียมบรอดคาสติ้ง ที่อัปเกรดเป็นบรอดแบนด์ได้ ผู้ประมูลได้ต้องให้บริการกับลูกค้าต่างประเทศโซนแปซิฟิก มีจุดเด่นที่มีสิทธิการใช้งานสมบูรณ์ ตำแหน่งอยู่กลางมหาสมุทรแปซิปิก โอกาสทางธุรกิจจะน้อย  

วงโคจรชุดที่ 2 ที่ 78.5 องศา ตะวันออก (สเปซ เทค อินโนเวชั่น ประมูลได้ที่ราคา 380,017,850 บาท) เป็นวงโคจรที่ดีสำหรับประเทศไทย ครอบคลุมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อินเดีย จีน ตะวันออกกลาง มีโอกาสทางธุรกิจมาก สามารถดึงลูกค้าของไทยคม 5 มาใช้บริการได้ มีดาวเทียมของไทยที่ให้บริการอยู่แล้วคือไทยคม 6 (NT) และไทยคม 8 (Thaicom)  

วงโคจรชุดที่ 1 ที่ 50.5-51 องศาตะวันออก (ราคาเริ่มต้น 374 ล้านบาท ไม่มีผู้ประมูล) เป็นวงโคจรที่ครอบคลุมบริเวณตะวันออกกลาง ยุโรปตะวันออก แอฟริกา เป็นชุดที่มีโอกาสทางธุรกิจ แต่มีคู่แข่งสูงและมีข้อจำกัดที่ผู้ประมูลได้ต้องนำดาวเทียมขึ้นก่อนเดือนพฤศจิกายน 2567 เพื่อไม่ให้เสียสิทธิวงโคจรดาวเทียม  

ขั้นตอนหลังจากนี้ จะต้องมีการรับรองผลการประมูลในวันที่ 18 มกราคม 2566 ผู้ประมูลได้ต้องชำระเงินงวดแรกภายใน 90 วัน 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/4xm4lwafKUAo7GN4ydKj1H/e367f3b1290906f1ebefe2811464d2c0/NBTC-winning-bid-satellite-network-orbit-space-tech-THCOM-NT-SPACEBAR-Photo01

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์