ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจไทย ไตรมาส 3 ของปี 2566 และแนวโน้มปี 2566-2567 ว่า ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ซึ่งเป็นตัวเลขจริงทางเศรษฐกิจของไทย ในช่วงไตรมาสที่ 3 ปี 2566 ขยายตัว 1.5% ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งขยายตัวอยู่ที่ 1.8%
ทั้งนี้ เป็นผลมาจากการส่งออกสินค้าหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 โดยติดลบ 3.1% ทำให้สาขาอุตสาหกรรมติดลบไปด้วย 4% ขณะที่การบริโภคภาครัฐบาล ติดลบ 4.9% เป็นผลจากการโอนเพื่อสวัสดิการสังคมที่ไม่เป็นตัวเงินสำหรับสินค้าและบริการในระบบตลาดลดลง 38.6% และรายจ่ายค่าซื้อสินค้าและบริการขยายตัว 0.5% ส่งผลให้ในช่วง 9 เดือน (มกราคม - กันยายน 2566) เศรษฐกิจไทยขยายตัว อยู่ที่ 1.9%

ส่วนแนวโน้มปี 2566 สศช.ได้ปรับประมาณการใหม่ จากเดิมประเมินว่า เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้อยู่ในกรอบ 2.5-3% เป็นขยายตัว 2.5% ซึ่งเป็นกรอบล่างของการประมาณการครั้งก่อน โดยประเมินว่าการลงทุนภาครัฐหดตัวไปถึง 1.8% เพราะติดปัญหาเรื่องของงบประมาณแผ่นดิน โดยเฉพาะงบประมาณปี 2567 ยังไม่สามารถใช้ได้
ขณะที่ในปี 2567 คาดว่า เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ในระดับ 2.7-3.7% โดยมีค่ากลางอยู่ที่ 3.2%
สำหรับเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 3 ปี 2566 ขยายตัว 1.5% โดยการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ยังเป็นตัวนำ ขยายตัวในเกณฑ์สูงต่อเนื่อง 8.1% เร่งขึ้นจาก 7.8% ในไตรมาสก่อนหน้า และเป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 4 ไตรมาส ตามการขยายตัวดีขึ้นของการใช้จ่ายในเกือบทุกหมวด สอดคล้องกับการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องของการจ้างงานและความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่เพิ่มสูงขึ้น
การลงทุนรวม ขยายตัว 1.5% เร่งขึ้นจาก 0.4% ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการเร่งขึ้นของการลงทุนภาคเอกชน 3.1% เทียบกับการขยายตัว 1.0% ในไตรมาสก่อนหน้ แต่การลงทุนภาครัฐลดลง 2.6% เทียบกับการลดลง 1.1% ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการลดลงของการลงทุนรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่น และการลงทุนรัฐวิสาหกิจ เนื่องจากติดปัญหาเรื่องงบประมาณล่าช้า
ด้านการค้าระหว่างประเทศ ตัวเลขการส่งออกสินค้า มีมูลค่า 70,405 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 2.0% เทียบกับการลดลง 5.6% ในไตรมาสก่อนหน้า โดยปริมาณส่งออกลดลง 3.1% ขณะที่ราคาส่งออกเพิ่มขึ้น 1.1%
การนำเข้าสินค้า : มีมูลค่า 65,012 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 10.7% ต่อเนื่องจากการลดลง 5.0% ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับการลดลงของการผลิตสาขาอุตสาหกรรมและการส่งออก โดยปริมาณและราคานำเข้าลดลง 10.4% และ 0.3% ตามลำดับ ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 5,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1.91 แสนล้านบาท
ในขณะที่ เสถียรภาพทางเศรษฐกิจ อัตราการว่างงานอยู่ที่ 0.99% ต่ำสุดในรอบ 15 ไตรมาส และต่ำกว่า 1.06% ในไตรมาสก่อนหน้า และ 1.23% ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ที่ 0.5% และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ยอยู่ที่ 0.8%
ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 3,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 1.18 แสนล้านบาท
เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2566 อยู่ที่ 2.1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ
หนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2566 มีมูลค่าทั้งสิ้น 11,131,634.20 ล้านบาท คิดเป็น 62.1% ของ GDP
