สหรัฐฟาดภาษีไทย 36% สศช. เชื่อ บางสินค้ายังไม่ตาย!

8 ก.ค. 2568 - 04:28

  • ‘ดนุชา’ ชี้ไทยยังพอสู้ได้ แม้สหรัฐฯ ขึ้นภาษีนำเข้า 36%

  • รอหารือ ‘พิชัย’ กำหนดทิศทางรับมือ

สหรัฐฟาดภาษีไทย 36% สศช. เชื่อ บางสินค้ายังไม่ตาย!

จากกรณีประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศใช้มาตรการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากประเทศไทยในอัตราสูงถึง 36% โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2568 นั้น ล่าสุด ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจไทย โดยยอมรับว่า “เป็นประเด็นที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด” โดยขณะนี้ สศช. กำลังอยู่ระหว่างการประเมินผลกระทบจากมาตรการภาษีดังกล่าว ซึ่งเพิ่งมีการเผยแพร่รายละเอียดอย่างเป็นทางการในช่วงเช้า “เรายังต้องดูรายละเอียดในเชิงลึก ทั้งตัวสินค้าที่ถูกกระทบและประเทศคู่แข่งในแต่ละตลาด”

ยังมีสินค้าบางกลุ่ม ‘พอแข่งขันได้’

เลขาสภาพัฒน์ ยังชี้ แม้ไทยจะถูกจัดเก็บภาษีในอัตราที่สูงกว่าหลายประเทศ เช่น ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ที่ถูกเรียกเก็บเพียง 25% แต่ยังมั่นใจว่า “ยังมีสินค้าบางกลุ่มของไทยที่ยังคงสามารถแข่งขันในตลาดสหรัฐฯ ได้ แม้จะมีต้นทุนเพิ่มขึ้น”

“เราต้องรอดูว่า รองนายกฯ พิชัย ซึ่งดูแลด้านเศรษฐกิจและการคลัง จะมีท่าทีหรือมาตรการใดเพิ่มเติมในเร็ว ๆ นี้”

ดนุชา กล่าว

จับตา GDP ไตรมาส 3-4

ส่วนคำถามถึงผลกระทบต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ในช่วงครึ่งหลังของปี 2568 นั้น เลขาสภาพัฒน์ ย้ำว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการวิเคราะห์ข้อมูล และจะต้องดูปัจจัยประกอบหลายด้าน โดยเฉพาะระดับความสามารถในการแข่งขันของผู้ส่งออกไทยในแต่ละอุตสาหกรรม

“จีดีพีในไตรมาส 3 และ 4 ยังอยู่ในช่วงประเมิน เพราะปัจจัยภายนอกที่เปลี่ยนแปลงเร็วแบบนี้ย่อมส่งผลต่อการตัดสินใจของผู้ผลิต ผู้ส่งออก และนักลงทุนด้วย”

ดนุชา กล่าว

สหรัฐฯ ประกาศขึ้นภาษีไทย 36% อย่างเป็นทางการ

ก่อนหน้านี้ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้ลงนามในคำสั่งฝ่ายบริหาร ประกาศเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากไทยในอัตรา 36% โดยมีผลตั้งแต่ 1 ส.ค. 2568 และเผยแพร่หนังสือถึงรัฐบาลไทยผ่านแพลตฟอร์ม ‘Truth Social’ พร้อมระบุว่า การจัดเก็บภาษีนี้มีเป้าหมายเพื่อ “สร้างความเป็นธรรมด้านการค้าระหว่างประเทศ”

สำหรับประเทศไทย ถือเป็นหนึ่งใน 14 ประเทศที่ถูกจัดเก็บภาษีชุดใหม่ โดยมีอัตราภาษีสูงกว่าหลายชาติในภูมิภาคเอเชีย เช่น มาเลเซีย 25%, อินโดนีเซีย 32%, เมียนมา-ลาว 40% และกัมพูชา 36% เท่ากับไทย

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์