ถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติเลยก็ว่าได้ สำหรับการเดินทางช่วงเทศกาลปีใหม่ ที่จะได้รับการอำนวยความสะดวก ไม่ว่าจะเป็นการลดราคาน้ำมัน ของบริษัทผู้ค้าน้ำมันต่างๆ และรวมถึง การได้ใช้ทางด่วนฟรี ด้วย...เพราะต้องการส่งความสุขให้คนไทยด้วยการแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ที่แม้ไม่ได้มาก แต่ด้วยจำนวนคนเดินทางมหาศาล ก็ทำให้รัฐและการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ต้องสูญเสียรายได้ไปจำนวนหนึ่ง แต่อีกด้านก็จะไปกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยในเทศกาล ช่วยสร้างการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้
ทั้งนี้ทั้งนั้น เชื่อว่า หลายคนบางทีได้ยินว่า “ปีใหม่ขึ้นทางด่วนฟรี” แต่ทำไมขึ้นไปแล้วต้องจ่ายเงิน นั่นเป็นเพราะว่า เส้นทางที่ใช้ยังไม่ใช่เส้นทางที่ได้รับการยกเว้นนั่นเอง ... ทีนี้ถ้าอยากให้ชัวร์ มาเช็กให้รู้ชัด จากมติคณะรัฐมนตรี ที่อนุมัติในเรื่องนี้เมื่อ 4 วันก่อน (17 ธันวาคม 2567) เนื้อหาสำคัญคือ
การอนุมัติเว้นค่าผ่าน “ทางพิเศษบูรพาวิถี และทางพิเศษกาญจนาภิเษก รวมถึงมอเตอร์เวย์หมายเลข 7 และ 9” ช่วงปีใหม่ รวมทั้งสิ้น 8 วัน ระหว่างวันที่ 26 ธันวาคม 2567 ถึงวันที่ 2 มกราคม 2568
ทางด่วนฟรี เส้นทางตรงไหน?
1. ทางพิเศษบูรพาวิถี (ทางพิเศษสายบางนา - ชลบุรี)
• ทางยกระดับด้านทิศใต้สนามบินสุวรรณภูมิเชื่อมทางพิเศษบูรพาวิถี
2. ทางพิเศษกาญจนาภิเษก (บางพลี - สุขสวัสดิ์)
3. ทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 (กทม. – บ้านฉาง หรือ มอเตอร์เวย์กรุงเทพฯ-ชลบุรี)
• ช่วงกรุงเทพฯ-พัทยา
• ทางแยกเข้าท่าเรือแหลมฉบัง
• ทางแยกเข้าพัทยา
• ช่วงบ้านหนองปรือ-บ้านฉาง
4. ทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 (บางปะอิน - บางพลี และ พระประแดง - บางขุนเทียน)
• ช่วงพระประแดง-บางแค
• ช่วงบางปะอิน-บางพลี
สำหรับการยกเว้นค่าผ่านทางพิเศษทั้ง 4 สาย เริ่มตั้งแต่เวลา 00.01 น. วันที่ 26 ธันวาคม 2567 ถึงเวลา 24.00 น. วันที่ 2 มกราคม 2568 รวมทั้งสิ้น 8 วัน
ทั้งนี้ ทางพิเศษบูรพาวิถี และทางพิเศษกาญจนาภิเษก คาดว่าจะมีปริมาณจราจรประมาณ 2,695,056 คัน จะทำให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย ไม่ได้รับรายได้ประมาณ 96,023,112 บาท แต่จะได้รับผลประโยชน์ตอบแทนด้านเศรษฐกิจ โดยประเมินเป็นเงินมูลค่า 113,941,400 บาท
ขณะที่การยกเว้นค่าผ่านทางพิเศษบนทางหลวงพิเศษ (มอเตอร์เวย์) หมายเลข 7 และ 9 คาดว่าจะทำให้รัฐสูญเสียรายได้ประมาณ 207.8645 ล้านบาท แต่จะก่อให้เกิดผลประโยชน์ตอบแทนทางด้านเศรษฐกิจโดยสามารถประเมินเป็นมูลค่าเงินได้ประมาณ 448.0282 ล้านบาท