ลำไย หนึ่งในผลไม้ที่เกษตรกรในพื้นที่ภาคเหนือของไทยนิยมปลูกมากที่สุด โดยเฉพาะ จังหวัดเชียงใหม่ และ ลำพูน ที่มีพื้นที่ปลูกลำไยรวมกันกว่า 6 แสนไร่ แบ่งเป็นเชียงใหม่กว่า 4 แสนไร่ และลำพูน 2 แสนไร่ โดยปี 2568 คาดว่า จะมีผลผลิตลำไยในฤดูประมาณ 500,000 ตัน ซึ่งตลาดหลัก ยังคงเป็นการส่งออกไปยังประเทศจีน และขายสดภายในประเทศบางส่วนเท่านั้น

พสิษฐ์ สุขสวัสดิ์ ประธานแปลงใหญ่จังหวัดลำพูน เปิดเผยว่า จากข้อมูลของสำนักงานเกษตรจังหวัดลำพูน คาดการณ์ว่าลำไย ในฤดูปี 2568 จะเริ่มมีผลผลิตตั้งแต่ เดือนมิถุนายน ถึงเดือนกันยายน จะมีผลผลิตราวๆ 270,000 ตัน และจะมีมากสุดในช่วงเดือนสิงหาคม ประมาณ 120,000 ตัน
“จากกรณีที่มีฝนตกมากกว่าปกติ ทำให้ชาวสวนตั้งใจจะทำลำไยนอกฤดู กลับติดดอกในช่วงในฤดู ทำให้ปีนี้ผลผลิตมากกว่าปกติ ทำให้ราคารับซื้อจะไม่สูงมาก เพราะราคาต้องขึ้นอยู่กับตลาดประเทศจีนเป็นหลัก ทั้งผลสด และลำไยอบแห้งทั้งเปลือก ไม่รู้ว่าจะมีการบริโภคเหมือนเดิมหรือไม่ และลำไยอบแห้งทั้งเปลือก เป็นผลผลิตที่ส่งออกไปยังประเทศจีนมากที่สุด ประมาณ 6,000 ตู้คอนเทนเนอร์”
ประธานแปลงใหญ่จังหวัดลำพูน คาดว่าปีนี้ ผลผลิตลำไยจะออกมามากกว่าความต้องการ ปัญหาหลักก็คือ หากผลผลิตมีจำนวนมากราคาก็จะตกต่ำ และเกษตรกรหลายหลายคนต้องปรับตัว ผลิตลำไยให้มีคุณภาพ ซึ่งที่ผ่านมาก็เริ่มมีการรวมกลุ่มเป็นเกษตรกรแปลงใหญ่เพื่อผลิตลำไยที่มีคุณภาพแล้ว โดยต้องผลิตตามมาตรฐาน GAP แต่ปัญหาหลัก คือ กลุ่มลำไยแปลงใหญ่ยังเป็นส่วนน้อย ถ้าเทียบกับเกษตรกรรายย่อยที่ปลูกทั้งหมด


ขณะที่ ผศ.พาวิน มโนชัย รองอธิการบดี และผู้เชี่ยวชาญด้านการผลิตลำไย มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เปิดเผยว่า ตามปกติผลผลิตลำไยจากประเทศไทย จะส่งไปที่ประเทศจีนเป็นหลัก การกำหนดราคารับซื้อจึงขึ้นอยู่กับประเทศปลายทาง
“แต่ปัญหาสำคัญของการผลิตยำไย ที่พบเจอคือ ในจังหวัดเชียงใหม่ และ ลำพูน ที่เป็นแหล่งพื้นที่ปลูกลำไยที่สำคัญของภาคเหนือ เกษตรกรชาวสวน ผลิตลำไยไม่ได้มาตรฐานตามที่ตลาดต้องการ ลำไยมีขนาดเล็ก เพราะปล่อยให้ลำไยติดลูกจำนวนมาก ในช่วงการผลิต ทำให้มีการแย่งอาหารกันส่งผลให้ลูกลำไยนั้นไม่โตได้ขนาดเท่าที่ควร”
“เพราะหากจะทำลำไยให้มีคุณภาพลูกใหญ่ ก็จะต้องเพิ่มต้นทุนในการผลิตทั้งคนดูแล และคนตัดแต่งช่อลำใย จึงทำให้คุณภาพโดยรวมของลำไยทางภาคเหนือ ไม่ได้ราคา ถ้าเทียบกับเกษตรกรทางภาคตะวันออกที่มีระบบการผลิตมีคุณภาพตามหลักวิชาการ”
ผศ.พาวิน กล่าวต่อว่า แนวทางการแก้ปัญหานั้น เกษตรกรจะต้องหันมาทำลำไยที่มีคุณภาพตามหลักวิชาการ โดยการตัดแต่งกิ่ง เพื่อลดต้นทุนในการจ้างแรงงานเก็บผลผลิต ทำสาวต้นลำใย และตกแต่งช่อ ให้มีลำไยไม่มากนัก ซึ่งจะทำให้ลำไยมีลูกขนาดใหญ่ตามที่ตลาดต้องการ ก็จะมีราคาที่สูงกว่า และปัจจุบัน เริ่มมีเกษตรกรทำลำไยรูปแบบแปลงใหญ่ที่เริ่มมีผลผลิตได้มาตรฐานตามที่ตลาดต้องการ
“ขณะเดียวกัน การส่งเสริมการบริโภคภายในประเทศก็เป็นอีกปัจจัยที่จะแก้ปัญหา ผลผลิตล้นตลาด และราคาตกต่ำได้”
“นอกจากนี้ คาดการณ์ว่า ลำไยนอกฤดู การผลิตปี 2569 จะมีราคาสูง เพราะปีนี้มีผลผลิตลำไยในฤดูจำนวนมาก และไม่เหลือต้นในการผลิตลำไยนอกฤดู ในปี 2569 เชื่อว่าจะทำให้ลำไยนอกฤดูมีราคาสูงแต่จะมีผลผลิตน้อย”

ด้าน วิทยากร มณีเนตร อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า หลังจากลงพื้นที่ติดตาม สถานการณ์การผลิตลำไยในฤดู ปี 2568 ของจังหวัดเชียงใหม่ และลำพูน พบว่า ผลผลิตลำไยในปีนี้จะเพิ่มขึ้นประมาณ 10% โดยคาดว่าปริมาณในฤดูรวมอยู่ที่กว่า 500,000 ตัน กรมการค้าภายในจึงเร่งประสานแผนงานเชิงรุกกับสำนักงานพาณิชย์จังหวัด และภาคเอกชนในพื้นที่เพื่อเชื่อมโยงและระบายผลผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ
กรมการค้าภายใน จะจัดกิจกรรมเชื่อมโยงผลผลิตออก ไปจำหน่ายนอกแหล่งผลิต โดยขยายตลาดไปยังภูมิภาคอื่น ๆ เช่น ภาคใต้และภาคอีสาน ผ่านกิจกรรมต่างๆ อาทิ มหกรรมธงฟ้า และประสานความร่วมมือกับห้างค้าปลีกทั่วประเทศในการเพิ่มปริมาณการวางจำหน่าย
นอกจากนี้ในด้านบรรจุภัณฑ์และการขนส่ง กรมการค้าภายในได้เตรียมกล่องและตะกร้าบรรจุลำไยที่เหมาะสมกับการขนส่งทั่วประเทศ โดยได้รับความร่วมมือจาก บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการขนส่งลำไยจากสวนถึงผู้บริโภคอย่างรวดเร็ว ทั้งผ่านช่องทางออนไลน์และออฟไลน์”
ในด้านการส่งออกลำไย มีบริษัทเอกชน รองรับมีการคัดเกรดลำไยสดด้วยระบบที่ทันสมัย พร้อมบรรจุลงกล่องและตู้คอนเทนเนอร์อย่างมีมาตรฐาน โดยลำไยจะถูกส่งออกไปยังประเทศต่างๆ เช่น อินโดนีเซีย อินเดีย และสหรัฐอเมริกา ซึ่งปัจจุบันมีการส่งออกเฉลี่ยสัปดาห์ละกว่า 50 ตู้คอนเทนเนอร์
“ซึ่งนอกจากตลาดที่เรามีอยู่แล้ว กระทรวงพาณิชย์ยังหาตลาดใหม่ๆ เพื่อส่งออกลำไย อาทิ ประเทศในตะวันออกกลาง แคนาดา เพื่อระบายผลผลิตและรักษาเสถียรภาพราคาลำไยในฤดูกาลนี้ แต่สิ่งสำคัญที่สุดเกษตรกรร่วมกันผลิตลำไยให้มีคุณภาพ ตามมาตรฐานที่ตลาดต้องการ ทั้งด้านขนาด รสชาติ และความปลอดภัย รวมถึงการคัดบรรจุอย่างถูกสุขลักษณะ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภค และเพิ่มโอกาสในการแข่งขันในตลาดทั้งในและต่างประเทศอย่างยั่งยืน”

