‘นอท’ กองสลาก ตั้งโต๊ะทำ ‘เทนเดอร์ ออฟเฟอร์’ หุ้น EE ราคาหุ้นละ 14 สตางค์ ระบุเตรียมเงินไว้ราว 164 ล้านบาท สวนกับราคาตลาดล่าสุดที่พุ่งขึ้นไปอยู่ที่ 65 สตางค์ ‘ฟุ้ง’ จะโฟกัสไปในธุรกิจสายเทคฯ ทั้ง สื่อออนไลน์ แพลตฟอร์มชำระเงิน และ มาร์เก็ตเพลส แต่ยัง ‘อุบไต๋’ จะขายสลากออนไลน์หรือไม่
บริษัท อีเทอเนิล เอนเนอยี จำกัด (มหาชน) หรือ EE ได้ทำหนังสือแจ้งไปยังตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยถึงการได้รับข้อเสนอซื้อหลักทรัพย์ที่เหลือทั้งหมดของกิจการ (Mandatory Tender Offer) จาก ‘นอท’ พันธ์ธวัช นาควิสุทธิ์ ในฐานะผู้ทำคำเสนอซื้อ ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์ในการเข้าถือหลักทรัพย์เพื่อครอบงำกิจการ
คำเสนอซื้อ ‘เทนเดอร์ ออฟเฟอร์’ ดังกล่าว ‘นอท’ พันธ์ธวัช จะตั้งโต๊ะรับซื้อหุ้นจำนวน 1,173,000,000 หุ้น หรือ 42.19% ของหุ้นที่เหลือ มูลค่าราว 164,220,000 บาท หลังจากที่เขาเข้ามาซื้อหุ้น EE ‘บิ๊กล็อต’ จำนวน 1,607,000,000 หุ้น หรือ 57.81% ไปก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 4 ธันวาคมที่ผ่านมา โดย ณ วันที่ยื่นคำเสนอซื้อกิจการ EE มีหุ้นสามัญที่ออกและจำหน่ายแล้วทั้งหมด 2,780,000,000 หุ้น
มีการกำหนดราคาเสนอซื้อในราคาหุ้นละ 0.14 บาท โดย ‘นอท’ พันธ์ธวัช แจ้งกับตลาดหลักทรัพย์ฯว่า จะใช้เม็ดเงินในการทำเทนเดอร์ ออฟเฟอร์ ที่เตรียมไว้ ราว 164,220,000 บาท และแต่งตั้งให้บริษัทหลักทรัพย์ บียอนด์ จำกัด(มหาชน) เป็นตัวแทนรับซื้อ มีกำหนดระยะเวลารับซื้อหุ้นรวม 25 วันทำการ ตั้งแต่วันที่ 19 ธันวาคม 2567 จนถึงวันที่ 24 มกราคม 2568
การเข้ามาซื้อหุ้น EE ‘บิ๊กล็อต’ ผ่านตลาดหุ้นฯ ของ ‘นอท’ พันธ์ธวัช ที่ผ่านมาจำนวน 1,607 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 14 สตางค์ คิดเป็นมูลค่าราว 224.98 ล้านบาท เป็นการซื้อจากผู้ถือหุ้นรายใหญ่ 12 ราย ประกอบด้วย
1. อรอร อัครเศรณี จำนวน 635,550,000 หุ้น หรือ 22.86%
2. ปกรณ์ มงคลธาดา จำนวน 193,531,300 หุ้น หรือ 6.96%
3. พรรณทิพา เนติพัฒน์ จำนวน 136,400,000 หุ้น หรือ 4.91%
4. สุเมธ เศษธะพานิช จำนวน 133,400,000 หุ้น หรือ 4.80%
5. สุภชัย สถิตย์วิมล จำนวน 125,600,000 หุ้น หรือ 4.52%
6. ภควันต์ วงษ์โอภาสี จำนวน 111,048,900 หุ้น หรือ 3.99%
7. ศุภลักษณ์ เศษธะพานิช จำนวน 76,200,000 หุ้น หรือ 2.74%
8. สิทธิพงษ์ เนติพัฒน์ จำนวน 55,805,600 หุ้น หรือ 2.01%
9. กัญจนารัศม์ วงศ์พันธุ์ จำนวน 48,652,100 หุ้น หรือ 1.75%
10. อริสษา สิงห์ซอม จำนวน 32,612,100 หุ้น หรือ 1.17%
11. สุรัสวดี เกตุทัต จำนวน 29,200,000 หุ้น หรือ 1.05%
12. กมลรัตน์ ชาญสง่ำเวช จำนวน 29,000,000 หุ้น หรือ 1.04%
สำหรับหุ้นในส่วนที่เหลืออีก 1,173,000,000 หุ้น หรือ 42.19% ยังเหลืออยู่ในมือของ ฉาย บุนนาค จำนวน 124,276,500 หุ้น 4.47%, ฐานุตรา พิพัฒน์วิไลกุล 90,000,000 หุ้น 3.24%, บริษัท เพียร์ ฟอร์ ยู จำกัด(มหาชน) 75,500,000 หุ้น 2.72% , กฤษฎา พฤติภัทร 61,000,000 หุ้น 2.19% ,บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด 43,841,589 หุ้น 1.58% และมีรายย่อยถือหุ้นอยู่อีกจำนวน 778,381,911 หุ้น หรือราว 28.00%
ปัจจุบันกิจการของ EE ดำเนินธุรกิจเสมือนประกอบธุรกิจลงทุนในบริษัทอื่น (Holding Company) มีทุนจดทะเบียน7,750,000,000 บาท มีการลงทุนในธุรกิจการเกษตร ผ่านการลงทุนใน 2 บริษัทย่อย ที่ทำในด้านอุตสาหกรรมกัญชง-กัญชา คือ บริษัท แคนนาบิซ เวย์ จำกัด (CW) และ บริษัท ซีบีดี ไบโอไซเอนซ์ จำกัด (CBDB) ของ ‘จ๊ะเอ๋’ อุนารินทร์ กิจไพบูลทวี
หลังการเข้าไปซื้อหุ้นใหญ่ใน EE ถึงแม้ ‘นอท’ พันธ์ธวัช จะออกคำชี้แจงทันทีถึงการเข้ามาถือหุ้น EE โดยระบุว่า มองเห็นศักยภาพและโอกาสของบริษัทในธุรกิจด้านเทคโนโลยี แต่ก็ดูเหมือนยังมีคำถามว่าเขาจะนำธุรกิจจำหน่ายสลากออนไลน์ของตัวเองเข้ามาดำเนินการเป็นธุรกิจหลัก นอกเหนือจากการขยายธุรกิจไปในสายเทคโนโลยีหรือไม่ เนื่องจากยังไม่มีความชัดเจนว่าจะ ‘โฟกัส’ ไปในเทคโนโลยีด้านไหน
ตลาดหลักทรัพย์ฯเองก็ดูจะไม่ค่อยสบายใจกับปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้น จึงมีการออกประกาศเตือนนักลงทุนตามมา โดยขอให้ศึกษาข้อมูลหุ้น EE ด้วยความระมัดระวัง กรณีบริษัทมีการเปลี่ยนแปลงธุรกิจและอำนาจควบคุมอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากธุรกิจใหม่มีความเสี่ยงที่แตกต่างจากธุรกิจปัจจุบันของบริษัท ซึ่งเป็นธุรกิจการเกษตร โดยบริษัทคาดว่าจะลงทุนภายในปี 2568 และมีผลตอบแทนการลงทุนไม่น้อยกว่า 12% จึงเป็นข้อมูลสำคัญต่อการตัดสินใจลงทุน
ในหนังสือที่แจ้งไปยังตลาดหลักทรัพย์ล่าสุด มีการยืนยันว่า ภายใน 1 ปี มีแผนที่จะมีการลงทุนในในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีและสารสนเทศ (Information Technology) ที่เป็นธุรกิจใหม่ของกิจการ ซึ่งจะพิจารณาความเป็นไปได้ในการลงทุนในกลุ่มธุรกิจที่มีศักยภาพในการเติบโต เช่น
- ธุรกิจสื่อเทคโนโลยี (Technology Media) ซึ่งเป็นธุรกิจสื่อแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่เน้นการสร้างและนำเสนอเนื้อหาตามความสนใจของผู้ใช้งาน โดยมีฟีเจอร์ภายในที่เปิดโอกาสให้ผู้ใช้งานและผู้ทำธุรกิจสามารถซื้อขายสินค้าและบริการผ่านสื่อแพลตฟอร์มดังกล่าว
- ธุรกิจให้บริการชำระเงิน (Payment Gateway Solution) ซึ่งเป็นธุรกิจที่ให้บริการชำระเงิน โดยทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายผ่านระบบการทำธุรกรรมการชำระเงินออนไลน์ โดยให้บริการคลอบคลุมรูปแบบบัตรเครดิต บัตรเดบิต ธนาคาร และกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-wallet)
- ธุรกิจแพลตฟอร์มตลาดซื้อขาย (Marketplace Platform) ซึ่งเป็นธุรกิจที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลางเชื่อมโยงระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายให้สามารถทำธุรกรรมขายสินค้าและบริการในโลกดิจิทัล และบริหารจัดการงานระบบหลังบ้านของการซื้อขายในโลกดิจิทัล
ในหนังสือยังระบุอีกว่าตามแผนดังกล่าวจะมีการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนให้แก่บุคคลในวงจำกัด (Private Placement) โดยคาดว่าจะมีการลงทุนในธุรกิจ Tech ในราว 500 ล้านบาท ภายในไตรมาส 2-3 ของปี 2568 แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยชื่อผู้ร่วมลงทุนได้
ล่าสุดราคาหุ้น EE พฤหัสบดีที่ 19 ธันวาคมที่ผ่านมา ปิดที่ระดับ 0.65 บาท ปิดลดลง 0.01 บาท หรือ 1.52%