จากกรณีมีข้อสันนิษฐานว่า จุดเริ่มต้นการถล่มของตึกสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) น่าจะเกิดขึ้นบริเวณ ‘ผนังปล่องลิฟต์’ ที่บริเวณด้านหลังตัวอาคาร โดยเมื่อผนังปล่องลิฟต์ถล่ม ทำให้อาคารทั้งหลังถล่มตาม เนื่องจากผนังปล่องลิฟต์เปรียบเสมือนกระดูกสันหลังของอาคาร เมื่อโครงสร้างหลักที่เป็นหัวใจพังลง ส่วนที่เหลือของอาคารจึงรับน้ำหนักไม่ไหว
ประเด็นนี้ ศ.ดร.วรศักดิ์ กนกนุกุลชัย ราชบัณฑิตและวุฒิวิศวกร ได้ออกมาอธิบายผ่านยูทูบ DrWorsak ในหัวข้อ “8 วินาทีวิกฤต กลไกการถล่มตึก 30 ชั้น จนราบเป็นขนมชั้น” โดยชี้ให้เห็นข้อเท็จจริงและข้อสันนิษฐานว่า เป็นการวิบัติ ‘แบบขนมชั้น’ หรือ ‘แบบแพนเค้ก’ (Pancake Collapse) ซึ่งหากเป็นอาคารสูงทั่วไปที่ออกแบบถูกต้องตามหลัก ก่อสร้างตามแบบ ใช้วัสดุมาตรฐานตามแบบ โอกาสเกิดการพังถล่มแบบนี้เป็นไปได้ยากมาก โดยเฉพาะที่เกิดจากการสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว
การวิบัติแบบแพนเค้กนั้น วิธีหนึ่งคือ การทำให้โครงส่วนรับน้ำหนักในแนวดิ่ง ได้แก่ เสา และกำแพงรับแรงที่ชั้นล่างสุด เกิดการวิบัติพร้อมๆ กันในเสี้ยววินาที ทำให้ในเสี้ยววินาทีนั้น อาคารจะอยู่ในสภาวะลอยตัว ก่อนที่แรงโน้มถ่วงโลกจะดึงมวลทั้งหมดของอาคารตกลงพื้นดินอย่างรวดเร็ว โดยไม่มีเวลาให้เกิดการเอียงตัวไปด้านใดด้านหนึ่ง
“นี่เป็นหลักการรื้ออาคารสูง ด้วยการระเบิดแบบควบคุม ซึ่งต้องอาศัยความแม่นยำในการติดตั้งระเบิดที่จุดรับน้ำหนักทุกจุดในชั้นล่าง และจังหวะการระเบิดที่พร้อมเพรียงกัน ทำให้อาคารถล่มลงมาในแนวดิ่งด้วยน้ำหนักอาคารเอง”
ศ.ดร.วรศักดิ์ กล่าวเสริมว่า ภาพอาคาร สตง. ทำให้นึกถึงกรณีของโรงแรมรอยัลพลาซ่า ที่ จ.นครราชสีมา ซึ่งเกิดเหตุถล่มลงมาเมื่อวันที่ 13 ส.ค. 2536 เพราะสภาพซากมีความคล้ายคลึงกัน โดยอาจารย์วรศักดิ์เป็นหนึ่งในทีมที่ได้สำรวจซากอาคารโรงแรมรอยัลพลาซ่า และพบว่า สาเหตุเกิดจากการต่อเติมอาคารจาก 3 ชั้นเป็น 5 ชั้น โดยไม่มีการเสริมความแข็งแรงของเสา ทำให้อาคารส่วนที่ต่อเติม อยู่ได้เพียง 5-6 ปีแล้วพังลงมา
อาจารย์วรศักดิ์ อธิบายเพิ่มเติมว่า การวิบัติแบบแพนเค้กนั้นสามารถเกิดได้ 2 รูปแบบ
แบบแรก เกิดที่ชั้นล่างสุดของอาคาร เสาและกำแพงรับน้ำหนักเกิดการวิบัติพร้อมกัน ทำให้อาคารทั้งหมดตกลงมาด้วยน้ำหนักตัวเอง เกิดซากที่มีลักษณะเป็นชั้นๆ
แบบที่สอง เริ่มจากพื้นชั้นบนหลุดจากเสาหรือกำแพงรับน้ำหนัก ทำให้พื้นชั้นบนกระแทกชั้นถัดลงมาเป็นลูกโซ่ แต่ละชั้นทยอยหล่นลงมาเหมือนโดมิโน เกิดซากเป็นชั้นๆ โดยประเทศไทยเคยเกิดการวิบัติแบบแพนเค้กทั้งสองรูปแบบ กรณีรอยัลพลาซ่าเป็นแบบแรก ส่วนแบบที่สอง เกิดกับคอนโด 6 ชั้นแห่งหนึ่งใน จ.ปทุมธานี ที่ถล่มลงมาเมื่อปี 2557 ชั้นบนวิบัติก่อน แล้วหลุดจากเสามากระแทกพื้นชั้นถัดไป
ที่น่าสังเกตคือ ในกรณีที่สอง กำแพงปล่องลิฟต์ยังคงยืนหยัดอยู่ได้ แม้พื้นทุกชั้นหล่นลงมาหมดก็ตาม เพราะการหลุดของพื้นไม่มีพลังทำลายส่วนนี้ ดังนั้น จากซาก สตง. ที่ไม่เหลือกำแพงปล่องลิฟต์อยู่เลย จึงมั่นใจว่า น่าจะเป็นการพังทลายแบบแรกมากกว่าแบบสอง
โครงสร้างตึก สตง. รับการบิดตัวไม่ไหว จนพังถล่ม
ทั้งนี้ ตามโครงสร้างของ สตง.ที่สูง 30 ชั้น มีโครงสร้างหลักอยู่ 3 ประเภท คือ
1. เสา จะรับน้ำหนักของอาคารในแนวดิ่ง
2. ปล่องลิฟต์ (Shear Core) ซึ่งช่วยต้านแรงลม และรับแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหว ทำให้อาคารไม่แกว่งจนอันตราย
3. พื้นแผ่นเรียบ จะมีการอัดแรงด้วยลวดพิเศษ เรียกว่า Post-tensioned
แต่ที่สังเกตจากแปลนอาคาร สตง. คือ ตำแหน่งกำแพงปล่องลิฟต์ไม่ได้อยู่ตรงกับศูนย์กลางของอาคาร แต่ไปชิดขอบอาคาร ทำให้ศูนย์กลางบิดตัวเยื้องไปจากศูนย์กลางอาคาร ส่งผลต่อพฤติกรรมของอาคารเมื่อเกิดการแกว่ง ทำให้อาคารบิดตัว
“สมมติว่า อาคารที่มีเสา 4 ต้นที่มุม แล้วมีปล่องลิฟต์ใกล้ขอบอาคาร จะทำให้ศูนย์กลางการหมุนกับศูนย์กลางอาคารไม่ตรงกัน เมื่อเกิดการสั่นสะเทือน ทำให้อาคารไม่เพียงโยกเยก แต่จะบิดตัวด้วย กลับกัน ถ้าศูนย์กลางการหมุนกับศูนย์กลางอาคารตำแหน่งเดียวกัน อาคารจะโยกไปมา แต่จะไม่บิดตัว”
“ส่วนที่อยู่ไกลจากปล่องลิฟต์จะเคลื่อนตัวง่าย ถ้ากำแพงปล่องลิฟต์ไม่สมมาตรกับศูนย์กลางอาคาร นอกจากอาคารจะโยกไปมาแล้ว เสาจะเกิดบิดตัวตามเข็มนาฬิกาและทวนเข็มนาฬิกาสลับไปมา ทำให้เสาและกำแพงรับภาระเพิ่ม”
อาจารย์วรศักดิ์ กล่าว
สำหรับประเด็น อาคารสูง ที่จะทำให้กำแพงปล่องลิฟต์เยื้องออกไป ไม่ใช่ทำไม่ได้ แต่วิศวกรโครงสร้างต้องออกแบบให้กำแพงและเสารับแรงบิดได้โดยไม่เกิดการวิบัติ
ขณะที่ ‘เสาคอนกรีตเสริมเหล็กของอาคาร’ ตามหลักการ ถ้าเราบิดแท่งวัสดุไปมา ซึ่งอาจทำให้คอนกรีตเกิดรอยแตกร้าว 45 องศาสองแนวฉากกันเป็นรูปตัว X เมื่อบิดไปหลายรอบ เนื้อคอนกรีตก็จะแตกเป็นผง กระเทาะ และวิบัติในที่สุด
“ข้อสันนิษฐานตอนนี้คือ อาคาร สตง. บิดตัวไปมา อาคารเกิดการโยกไหว ทำให้เกิดการบิดกลับไปมารุนแรงที่กำแพงปล่องลิฟต์และเสา โดยเฉพาะชั้นล่างที่ฝังติดฐานราก เมื่อกำแพงปล่องลิฟต์รับแรงบิด เกิดการบิดหลายรอบ น่าจะวิบัติก่อน จากนั้นเสาเล็กก็ต้องมารับน้ำหนักเพิ่ม ทำให้วิบัติตามในเสี้ยววินาที”
ราชบัณฑิตวิศวกรโครงสร้าง กล่าว
หลักฐานสนับสนุนข้อสันนนิษฐานนี้คือ คลิปวิดีโอ 3 ตัวที่ถ่ายจากมุมที่ต่างกัน คือด้านขวา ด้านหน้า และมุมที่เห็นเสา ซึ่งเป็นคลิปที่เชื่อว่าทุกคนได้เห็นกันมาหมดแล้ว ตนได้นำมาซิงก์เวลา 3 คลิปให้ตรงกัน เพื่อให้เห็นเหตุการณ์พร้อมกันทุกมุม
จากคลิปพบว่า การวิบัติทั้งหมดใช้เวลา 8 วินาที อาคารยุบลงมาอย่างเร็ว เหมือนของหล่นจากฟ้า ไม่มีการกระแทก ไม่เอียงหรือกระเด็นไปด้านข้าง และการร่วงของพื้นแต่ละชั้นขนานกัน มีระยะห่าง
จากคลิปจะเห็นด้วยว่า กำแพงปล่องลิฟต์ชั้นบนมีสัญญาณขยับตัว ทำให้คาดว่าจุดแรกของการวิบัติเกิดที่กำแพงปล่องลิฟต์ชั้นล่างสุด จนเห็นปล่องลิฟต์ชั้นบนขยับ แล้วกำแพงทั้งหมดคงแตกยุ่ย จนเสาแตกยุ่ยตามหมดใน 2-3 วินาทีถัดมา

ขณะที่ลักษณะของเสาชั้นล่างตึก สตง. ก็พบว่าเสามีลักษณะของการเกิดแรงเฉือนจากการบิดตัวไปมา เห็นรอยปากฉลามมุม 45 องศาตัดกัน รอยขาดลักษณะนี้สอดคล้องกับที่กล่าวไปในตอนแรกว่า เมื่อเสาคอนกรีตบิดไปมา จะเกิดรอยแตก 45 องศาสลับด้านกัน เกิดรอยแตกตัว X เมื่อขาดจะเป็นรอยปากฉลาม
โดยสรุป เมื่อเกิดแผ่นดินไหว อาคารที่ไม่สมมาตรเนื่องจากกำแพงปล่องลิฟต์ค่อนไปด้านหลัง เกิดการโยกตัวและบิดไปมา ทำให้ปล่องลิฟต์และเสาถูกบิดอย่างรวดเร็ว หลายบรอบ จนกำแพงปล่องลิฟต์ยุ่ยวิบัติ จากนั้นแรงบิดไปเกิดกับเสาต่อ จนเสาถูกบิดขาดตาม เมื่อเสาและกำแพงปล่องลิฟต์ชั้นล่างวิบัติไปพร้อมกัน อาคารจึงเหมือนลอยตัวชั่วขณะ และด้วยแรงโน้มถ่วง อารทั้งหลังร่วงมาแนวตั้ง ทับถมมาแบบแพนเค้ก
ราชบัณฑิตวิศวกรโครงสร้าง เสริมว่า ด้วยอำนาจทำลายมหาศาล ทำให้ชิ้นส่วนแนวตั้งถูกทำลายไม่เหลือร่องรอย จากภาพถ่ายซากตึกจึงแทบไม่เห็นร่องรอยกำแพงปล่องลิฟต์และเห็นว่าคอนกรีตไม่เกาะเหล็กเส้น เพราะถูกทำลายรุนแรง