นายกฯ ดันเศรษฐกิจไทย–เวียดนาม จับมือเอกชนไทยในเวียดนามเปิดเกมรุกอาเซียน
การเยือนอย่างเป็นทางการของ นายกรัฐมนตรี-แพทองธาร ชินวัตร สู่กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม เริ่มต้นด้วยภารกิจเชิงเศรษฐกิจอย่างชัดเจน ผ่านการพบปะภาคเอกชนไทยในเวียดนาม ซึ่งสะท้อนถึงการให้ความสำคัญกับความร่วมมือระดับรากฐานระหว่างสองประเทศ
นายกรัฐมนตรีไทยได้แสดงจุดยืนชัดเจนว่า รัฐบาลพร้อมหนุนเอกชนไทยที่ดำเนินธุรกิจในเวียดนาม พร้อมผลักดันนโยบายเสริมสร้างความสัมพันธ์ไทย–เวียดนามสู่ ‘หุ้นส่วนยุทธศาสตร์รอบด้าน’ โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจ การลงทุน และห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาค

เอกชนไทยเชื่อมั่นเวียดนาม ดันอุตสาหกรรมตั้งหลักในภูมิภาค
ทั้งนี้ ตัวแทนภาคเอกชนไทยรายใหญ่ ซึ่งทำธุรกิจในเวียดนาม ทั้ง SCG, WHA, Amata, Central Group, CP, และธนาคารกสิกรไทย สะท้อนเสียงตรงถึงนายกรัฐมนตรีว่า เวียดนามคือเป้าหมายการลงทุนระยะยาว ด้วยเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ นโยบายรัฐที่ชัดเจน และแรงงานคุณภาพในต้นทุนที่แข่งขันได้ หลายบริษัทได้ขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่อง เช่น SCG ที่ลงทุนกว่า 250,000 ล้านบาท จ้างงานกว่า 16,000 คน และ WHA ที่ดึง Foxconn เข้านิคมอุตสาหกรรมจังหวัดแงอานได้สำเร็จ
ขณะเดียวกัน รัฐบาลเวียดนามมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะยาว ตั้งเป้าให้ GDP เติบโตเฉลี่ย 10% ต่อปีในช่วงปี 2026–2030 พร้อมปรับปรุงระบบราชการและส่งเสริมอุตสาหกรรมแห่งอนาคต อาทิ semiconductor และ AI
ฉายภาพผลกระทบ - โอกาสใหม่ในภูมิภาคอาเซียน
การเคลื่อนไหวของรัฐบาลไทยในครั้งนี้ ถือเป็นการ ‘ส่งสัญญาณ’ ว่า รัฐพร้อมทำงานร่วมกับเอกชนเพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันของไทย โดยเฉพาะในห่วงโซ่อุปทานระดับภูมิภาค (Regional Supply Chain) โดยความร่วมมือไทย–เวียดนามจะกลายเป็น ‘สะพานเศรษฐกิจ’ ที่เชื่อมอุตสาหกรรม การเงิน และบริการในอาเซียนเข้าด้วยกัน ว่ากันว่า ภาคเอกชนไทยจะได้ประโยชน์หลายด้าน โดยเฉพาะการเข้าถึงตลาดใหม่ที่เติบโตเร็ว, ด้านต้นทุนการผลิตที่คุ้มค่า, การร่วมพัฒนาเทคโนโลยีและทักษะแรงงาน, ความมั่นใจในนโยบายภาครัฐทั้งสองประเทศ เป็นต้น

การพบปะครั้งนี้นับเป็นกิจกรรมสำคัญก่อนจะมีการจัดงาน Vietnam–Thailand Business Forum 2025 ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 16 พฤษภาคม โดยมีนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีของไทย และท่าน ฝั่ม มิญ จิ๊ญ นายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ร่วมงานและขึ้นกล่าวถ้อยแถลง วิสัยทัศน์ของผู้นำสองประเทศ และเป็นสักขีพยานในการลงนามความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในหลากหลายมิติ
สำหรับการหารือครั้งนี้มีคณะผู้แทนระดับสูงของรัฐบาลไทยที่ร่วมภารกิจ อาทิ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายสรวงศ์ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง นายแพทย์พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี นางสาวอุรวดี ศรีภิรมย์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงฮานอย
ด้านภาคเอกชน นำโดย นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการอาวุโส หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และนายกสมาคมมิตรภาพไทย–เวียดนาม พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงจากบริษัทชั้นนำของไทยที่ดำเนินธุรกิจและลงทุนอยู่ในเวียดนามอีกจำนวนมาก
