‘เกลือหวาน’ ของดีปัตตานี ที่ใครๆ ก็มาซื้อ

5 กรกฎาคม 2566 - 07:33

761-Pattani-sweet-salt-good-stuff-Malaya-local-products-export-SPACEBAR-Thumbnail
  • มนต์เสน่ห์ปัตตานี ไม่ได้มีแค่ความสวย แต่รู้หรือไม่ ยังมี ‘เกลือหวาน’ เป็นสินค้าท้องถิ่น ส่งออก เป็นของฝากสุดชิก

  • ชูจุดเด่น เป็นเกลือ ‘รสหวาน’ แห่งเดียวในแหลมมาลายู

ขึ้นชื่อว่า ‘เกลือ’ ย่อมต้อง ‘เค็ม’ แต่สำหรับที่ปัตตานีแล้ว ที่นี่ถูกเรียกขานเป็นดินแดนแห่ง ‘เกลือหวาน’ และเรียกชื่อภาษาถิ่นว่า ‘ฆาแฆ ตานิง มานิฮฺ’  

‘เกลือหวาน’ จัดเป็นมรดกทางวัฒนธรรมนับร้อยปี ใครก็ตามที่ได้ยินว่า ‘เกลือหวาน’ ย่อมตะลึงสะพรึงไปนิด พร้อมเกิดคำถามด้วยว่า มีด้วยหรือ? แล้วทำไม? ‘เกลือ’ ซึ่งมีคุณสมบัติด้านความเค็ม จึงหวานได้! คำตอบเป็นเพราะ ‘ธรรมชาติจัดให้’

โดย ‘จัดให้’ พื้นที่ปัตตานีที่บ้านแหลมนก ตำบลบานา ตำบลตันหยงลุโละ และตำบลบาราโหม อำเภอเมืองปัตตานีนั้น มีสภาพพื้นที่ที่ผลิตเกลือหวานได้ เพียงแห่งเดียวในประเทศไทย เพราะหากจะย้อนดูพื้นที่ทำนาเกลือทั้งประเทศ จะพบทั้งหมดของประเทศไทยประมาณ 81,485 ไร่ และจังหวัดปัตตานี เป็นจุดที่ทำได้น้อยสุด ร้อยละ 0.4 
  • เพชรบุรี     ทำนาเกลือ ร้อยละ 47.0  
  • สมุทรสาคร     ทำนาเกลือ ร้อยละ 43.1  
  • สมุทรสงคราม    ทำนาเกลือ ร้อยละ 7.7  
  • ชลบุรี         ทำนาเกลือ ร้อยละ 1.0  
  • จันทบุรี     ทำนาเกลือ ร้อยละ 0.6  
  • ปัตตานี     ทำนาเกลือ ร้อยละ 0.4 
แต่ใครจะรู้ ว่า ที่ทำนาเกลือได้ร้อยละ 0.4 นี้ ล้วนเป็นเกลือหวาน แห่งเดียวในประเทศ และแห่งเดียวในแหลมมาลายู หรือคืออาณาเขตตั้งแต่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์เรื่อยลงไปถึงประเทศสิงคโปร์ ปัตตานีเท่านั้นที่ผลิตเกลือหวานได้ เรื่องนี้เป็นที่รู้ดีของคนสิงคโปร์ มาเลเซีย พ่อค้าวาณิชในโลกมลายู ที่อาจรวมไปถึงจีน เพราะพวกเขาก็ล่องเรือเข้ามาในอ่าวปัตตานี เพื่อซื้อเกลือหวานไปขาย หลังเป็นสินค้าขึ้นชื่อด้านรสชาติกลมกล่อม จนได้ฉายาว่าเป็น ‘Garam Manis’ หรือ ‘เกลือหวาน’ ที่นี่จึงคึกคักมาก  
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/1LTT55aUd4RkpW2tMIjOjH/c8faf27e82ec311f47badf025ad62a66/761-Pattani-sweet-salt-good-stuff-Malaya-local-products-export-SPACEBAR-Photo01
กล่าวได้ว่า อาชีพทำนาเกลือที่ปัตตานีมีมาไม่ต่ำกว่า 400 ปี ‘เกลือ’ เป็นสินค้าสำคัญในพื้นที่ ทั้งยังเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าสินค้าชนิดอื่นๆ หลักฐานหนึ่งที่ชี้ว่า เกลือที่นี่ราคาสูงพบในบันทึกของ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งทรงบันทึกเรื่องเกลือปัตตานี เมื่อครั้งเสด็จตรวจราชการหัวเมืองปักษ์ใต้ ไว้ว่า... 

“...ในเมืองตานีมีนาเกลือแห่งเดียวตลอดแหลมมลายู สินค้าเกลือเมืองตานีขายได้อย่างแพงถึงเกวียนละ 16 เหรียญ ขายตลอดออกไปจนสิงคโปร์และเกาะหมาก...”  

เกลือหวานได้อย่างไร? 
ย้อนกลับมาให้เหตุผล ทำไมเกลือที่นี่จึงหวาน? นั่นเป็นเพราะเกลือไม่ได้ถูกผลิตจากน้ำทะเลแท้ๆ แต่เป็นน้ำทะเลมาผสมกับน้ำกร่อยจากอ่าวปัตตานี ที่ซึ่งมีแม่น้ำปัตตานีและคลองยามู หรือคลองยะหริ่งไหลเวียนน้ำภายในอ่าว เมื่อนำมาผลิตเป็นเกลือ จึงได้เกลือเลิศรส มีความกลมกล่อม นำไปหมักหรือทำอาหาร ก็จะได้รสชาติที่ดีตามไปด้วย ว่ากันว่า เป็นเกลือที่ไม่ได้เค็มจัดจนขม ชาวบ้านจึงนิยมนำไปนำไปหมักปลา ทำน้ำบูดู ทำปลาแห้ง ดองผักผลไม้ และดองสะตอ เป็นต้น 

เกลือหวาน ปลอมไม่ได้ 
อะไรที่ขายดี มักมีมือดีมาปลอมได้เสมอ แต่สำหรับเกลือหวาน จะปลอมขั้นตอนไหนล่ะ จะเอาน้ำตาลไปละเลงในผืนนาก็ไม่น่าจะคุ้ม... เพราะกรรมวิธีการผลิตไม่ได้ผ่านกระบวนการให้ผสมอะไรได้ คนที่ไม่ได้ทำเกลือแต่อยากขายเกลือหวาน ก็ทำได้แค่การเอาเกลือจากที่อื่น (ที่ราคาถูกกว่า) ไปขายในพื้นที่ สวมรอยเป็นเกลือหวานเท่านั้น  

นาเกลือหวาน ‘หดหาย’ การท่องเที่ยวเข้า ปัจจัยอะไร? 
กว่าที่เกลือหวานจะลดความนิยมลง ก็กินเวลามานับร้อยปี โดยความนิยมที่เสื่อมถอยมีเหตุมาจากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป รายได้เกษตรกรลด ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล และการขยายตัวของเมือง ที่ทำพื้นที่นาเกลือ กลายสภาพเป็นนากุ้งบ้าง เป็นที่อยู่อาศัยบ้าง และรวมถึงเป็นที่ตั้งของโรงงานอุตสาหกรรม พื้นที่ทำนาเกลือที่มีอยู่หลายพันไร่ จึงลดน้อยลงเรื่อยๆ  

แต่ที่ยังยืนหยัดและไม่เคยหดหายไปไหน ก็คือ ‘ถนนนาเกลือ’ และเป็นอีกแหล่งพบปะทั้งคนค้าขายเกลือและนักท่องเที่ยว เหตุที่มันยังไม่หายไปไหน ก็เพราะชาวบ้านต้องใช้ถนนในการลำเลียงเกลือจากท้องนา ขึ้นมาจำหน่ายให้แก่พ่อค้าแม่ค้าที่จะนำเกลือไปขายต่อ และด้วยเพราะความพิเศษของ ‘เกลือหวาน’ ที่กล่าวได้ว่า เป็นสินค้าเป็นนีชมาเก็ต เป็นที่สุด และเป็น 1 เดียวในแหลมมาลายู สินค้าตัวนี้จึงเป็นได้ทั้ง สินค้าพื้นถิ่น สินค้าส่งออก และสินค้าเพื่อการท่องเที่ยว ที่หาไม่ได้จากที่อื่น โดยสามารถเป็นของฝากจากจังหวัดปัตตานีได้ดีทีเดียว ใครที่ได้รับก็ตื่นตาตื่นใจ  

และ ณ ที่แห่งนี้ ใครใคร่ซื้อของก็ซื้อ ใคร่จะถ่ายรูปก็ถ่ายได้ โดยมีช่วงเวลาที่ดีสำหรับการชมและแชะ ก็คือตอนเช้าและเย็น แต่แนะนำว่า ควรไปชมคือตั้งแต่เดือนมกราคม - เมษายน หรืออาจจะยาวไปถึงช่วงเดือนมิถุนายนของทุกปีก็ได้ ซึ่งจะได้เห็นชาวนาเกลือทำนาเกลือกัน หรือได้ถ่ายภาพกับกองเกลือสวยๆ แต่ก็ยังต้องขึ้นกับสภาพฝนที่อาจเกิดขึ้นด้วย 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/6UMkGqvZ0XZjXpu4Ulsbqw/9b52bf3519e7ddf38df4e4750b4150da/761-Pattani-sweet-salt-good-stuff-Malaya-local-products-export-SPACEBAR-Photo03
เที่ยวแล้ว ก็อย่าลืมจัด ‘เกลือหวาน’ มาเป็นของฝากเพื่อนพ้องน้องพี่ เพราะเป็นของฝากที่ดี ที่หาไม่ได้จากที่อื่น แนะอีกว่า ถ้าเห็น ‘เกลือสีขุ่น’ จงดีใจและรีบซื้อ เพราะนั่นคือ ‘เกลือหวาน’ ที่คุณตามหา แต่หากขาวจั๊ว นั่นแสดงว่า พ่อค้าเอาเกลือจากที่อื่นไปขายในพื้นที่เกลือหวานนั่นเอง 

แปลง ‘เกลือหวาน’ เป็นสินค้า อัพราคา 
‘เกลือหวาน’ ไม่น่าเป็นสินค้าราคาตก ก็ยังตกได้ ถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลง...ทำอย่างไรให้เกลือหวานคงราคาดี สร้างรายได้ให้ชมชน เรื่องนี้เป็นโจทย์ใหญ่ ให้วิสาหกิจชุมชนกลุ่มทำนาเกลือ ใช้ความพยายามพัฒนาเกลือหวานเป็นผลิตภัณฑ์ ปัจจุบันก็นับได้ว่า ถึงขั้นจุดสำเร็จแล้ว หลังมีการแปลงเป็นสินค้าให้นักท่องเที่ยวสามารถซื้อเกลือหวานได้ หลายชนิด อาทิ  
  • เกลือบริโภคเสริมไอโอดีนทั่วไป 
  • เกลือขมิ้นบานา ใช้สำหรับทาเนื้อปลาสดและทอด จะได้ปลาทอดรสชาติดีไม่เค็มเกินไปหอมขมิ้นและพริกไทย 
  • เกลือบานาสปาขัดผิว สูตรขมิ้น ช่วยขจัดเซลล์ผิวเก่าที่หมองคล้ำกระตุ้นการเกิดเซลล์ผิวใหม่ที่เรียบเนียนขมิ้นช่วยบำรุงและป้องกันการเกิดผดผื่นรักษารอยแผลและลดความมันของผิวได้  
นี่จึงเป็นจุดเปลี่ยน ทำให้เกษตรกรชาวนาเกลือ ไม่ต้องขายเกลือกิโลกรัมละ 3-5 บาทอีกต่อไป แต่สามารถอัพราคาเกลือที่ราคาตกต่ำลงมา ให้ขายได้ไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 100 บาท สร้างแบรนด์ ‘เกลือหวาน’ ได้หลากหลาย ผงาดได้ในตลาดเกลือ ที่สุดปลายด้ามขวานของไทยต่อเนื่องยาวนาน  

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์