หลังศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง พิพากษา จำคุก 2 ปี ‘ดร.พิรงรอง รามสูต’ กรรมการ กสทช. ที่ออกหนังสือเตือนการมีโฆษณาแทรกบนแพลตฟอร์มทรูไอดีฯ ก็มี Effect เกิดขึ้นหลายทาง พร้อมเป็นที่มาให้เกิด เวทีเสวนา “พิรงรอง Effect ทิศทางกำกับดูแลและคุ้มครองผู้บริโภคสื่อต่อจากนี้” ขึ้น ซึ่งจัดโดยคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ท่ามกลางผู้ร่วมเสวนาหลากหลายวงการ
รศ.ดร.ปรีดา อัครจันทโชติ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ อ่านแถลงการณ์ของคณะ ชี้ถึงกิจการกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 ปัจจุบันนี้ สภาพการณ์ภูมิทัศน์สื่อเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจนกฎหมายและระเบียบข้อบังคับต่างๆ ที่มี ไม่สามารถรองรับการกำกับดูแลสื่อในสภาพการณ์จริงได้ทัน จนเกิดปัญหาอย่างยิ่งต่อระบบอุตสาหกรรมสื่อและสิทธิเสรีภาพด้านการ สื่อสารของสังคมไทย ผู้ประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมที่ได้รับใบอนุญาตถูกกำกับดูแลให้ต้องดำเนินการภายใต้กฎหมาย ในขณะที่มีผู้ประกอบธุรกิจสื่อจำนวนมากที่อาจกระทำการเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิผู้บริโภคสื่อโดยอาศัยความได้เปรียบที่ไม่ต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลนี้

ปรากฏการณ์ดังกล่าวเป็นความท้าทายยิ่งขององค์กรกำกับดูแลสื่ออย่าง กสทช. ที่จะต้องปฏิบัติหน้าที่โดยยึดหลักการ คุ้มครองผู้บริโภคสื่อและประโยชน์สาธารณะเป็นสำคัญ ดังนั้น หากมีกรณีที่ผู้บริโภคสื่อร้องเรียนขึ้นมาว่าถูกละเมิดสิทธิในฐานะ ผู้บริโภคสื่อ กสทช.มีหน้าที่ต้องดำเนินการตามบทบาทในฐานะองค์กรกำกับดูแลสื่อ
ผลของคดีความทางกฎหมายที่เกิดขึ้นอาจทำให้สังคมเกิดคำถามต่อความเป็นอิสระในการทำงานของ กสทช. และกระทบต่อความเชื่อมั่นที่ผู้ประกอบกิจการสื่อ นักวิชาชีพสื่อ และผู้บริโภคสื่อมีต่อการทำงานของ กสทช. ในอนาคต อีกทั้งการ ฟ้องร้องดำเนินคดีในลักษณะนี้ยังกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ขององค์กรอิสระ ในฐานะที่พึ่งของประชาชนในการพิทักษ์สิทธิที่ประชาชนพึงมี เป็นอุปสรรคสำคัญต่อเสรีภาพในการแสดงออก ขัดขวางการวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นสังคม โดยพยายามทำให้เกิดความกดดันและความกลัว
คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงขอแสดงจุดยืนของคณะฯ สนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ของศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.พิรงรอง รามสูต ในฐานะกรรมการ กสทช. ที่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความสุจริต ยึดมั่นในหลักการ และปกป้องผลประโยชน์สูงสุดของสาธารณะต่อไป
‘ธงทอง’ ให้สตินักกฎหมาย ต้องรอบคอบ อย่านอกทางยุติธรรม
ธงทอง จันทรางศุ ที่ปรึกษานโยบายนายกรัฐมนตรี เผยในฐานะคนที่เรียนกฎหมาย สอนกฎหมายและทำงานด้านนิเทศศาสตร์ ขอแสดงความเห็นเกี่ยวกับคดีความที่กำลังได้รับความสนใจ โดยปรัชญาในการใช้กฎหมายที่รัชกาลที่ 9 เคยพระราชทานไว้ว่า นักกฎหมายอย่าเผลอคิดว่าตัวกฎหมายเป็นความยุติธรรม ที่แท้ กฎหมายเป็นเพียงเครื่องมือแสวงหาความยุติ เราไม่ใช่คนที่ต้องเดินตามตัวบท แต่ต้องดูผลกระทบ ดูบริบทที่เกิดจากการใช้กฎหมาย ต้องดูข้อเท็จจริงและเรื่องราวที่เป็นบริบทให้ครบถ้วน

ดังนั้น นักกฎคต้องคิดว่ากฎหมายเป็นเครื่องมือแสวงหาความยุติธรรม ถ้าเราเผลอคิดแต่เพียงตัวหนังสือว่าอย่างนี้ก็ก็ว่าอย่างนี้เราจะตกหล่นข้อเท็จจริงไป หลายครั้งการฟ้องคดีขึ้นสู่ศาลผู้ฟ้องไม่ต้องต้องการแค่แพ้ชนะ แต่ต้องการผลข้างเคียงที่อาจเป็นผลประโยชน์ส่วนตัว ผลประโยชน์ส่วนรวม นักกฎหมายจึงต้องรอบคอบอย่าเป็นเครื่องในการใช้กฎหมายออกไปนอกทางความยุติธรรม
‘สุภิญญา’ ชี้ พิรงรอง Effect ส่ง กสทช.ลุกขึ้นกำกับดูแล OTT
น.ส. สุภิญญา กลางณรงค์ อดีตกรรมการ กสทช. และผู้ร่วมก่อตั้ง Co-fact Thailandกล่าวว่า คดีความที่เกิดขึ้นกับ กสทช.พิรงรอง ได้สร้างผลกระทบ และเกิดการตั้งคำถามจากสังคมไทย ทั้งในแง่การทำหน้าที่ของ กสทช.และนักกฎหมาย สะท้อนไปถึงอนาคตวงการสื่อสารมวลชน และโทรคมนาคม

สำหรับเอฟเฟกต์ที่ทำให้เกิดการตั้งคำถามมีหลายเรื่อง ตั้งแต่...
1. หลักกระบวนการยุติธรรมนิติธรรม (rule of law)
2.การทำหน้าที่ธรรมาภิบาลขององค์กรอย่างกสทช. ทั้งตัวคณะกรรมการ (บอร์ด) กสทช. และสำนักงาน กสทช.จากที่เกิดวิกฤติมาหลายปีกสทช.ต้องออกมาจากแดนสนธยาก่อนที่มันจะมืดมนไปมากกว่านี้
3. อุตสาหกรรมโทรคมนาคมและโทรทัศน์ อยู่ในจุดที่ลำบากมาก ในแง่ของการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค เห็นได้จากโทรคมนาคมก็เหลือผู้เล่นในตลาดเพียง 2 ราย ส่วนโทรทัศน์ก็ขาดการกำกับดูแลจาก กสทช. โดยมีเทคโนโลยีอย่างโอเวอร์ เดอะ ท๊อป (โอทีที) เข้ามาแทนที่การดูทีวีแบบดั้งเดิม ดังนั้น หากขาดการกำกับดูแลที่ชัดเจนจะก่อให้เกิดการเลือกปฏิบัติในการแข่งขัน ซึ่งจะไม่เป็นธรรมและจะกระทบต่อผู้บริโภค
“สิ่งเหล่านี้คือคลื่นใต้น้ำที่สะสมมานาน รอการสะสาง โดย กสทช.เองควรจะเข้ามากำกับดูแลโอทีทีตั้งแต่วันแรกที่รับตำแหน่งด้วยซ้ำ เท่าที่ทราบก็มีแต่นางสาวพิรงรองที่ผลักดันเรื่องนี้ตั้งแต่ พ.ย.ปี 2566 แต่ก็ยังไม่ได้ถูกบรรจุเข้าในวาระการประชุมบอร์ด กสทช.แต่อย่างใด กสทช.ควรจะลุกขึ้นมาเป็นเจ้าภาพกำกับดูแลโอทีทีได้แล้ว เพราะโอทีทีคือระเบิดเวลาที่รออยู่ ตั้งแต่เข้ามารับตำแหน่งเมื่อสองปีที่แล้วเสียด้วยซ้ำ ไม่ควรปล่อยให้เวลาล่วงเลยผ่านมาจนถึงขนาดนี้แล้วปล่อยให้เกิดช่องโหว่ทำให้เอกชนเข้ามาฟ้อง กสทช. ได้”
น.ส.สุภิญญา ยังเรียกร้อง กสทช.ควรสนับสนุนให้ดร.พิรงรองทำงานต่อ อย่าโดดเดี่ยว ควรสร้างบรรยากาศเซฟโซนให้กรรมการที่ตั้งใจทำงาน โดยความขัดแย้งที่เกิดขึ้นขอให้เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรมที่ต้องสู้กันในชั้นอุทธรณ์ต่อไป
สื่อชี้ความล่าช้าของกฎหมาย OTT กระทบทีวีดิจิทัล
ระวี ตะวันธรงค์ ที่ปรึกษาสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ (ผู้ประกอบการสื่อ) ชี้ความต่าง OTT (Over The Top) กับ IPTV (Internet Protocol Television) โดย โอทีที เป็นบริการสื่อหรือเนื้อหาผ่านอินเทอร์เน็ต ที่จนถึงตอนนี้ยังไม่มีกฎหมายใดเข้าไปควบคุม ซึ่งก็คือแพลตฟอร์มออนไลน์ข้ามชาติที่มาหาผลประโยชน์จากโฆษณาในไทย เช่น YouTube, Netflix, LINE TV และ Prime Video

ต่างกับ ระบบ ไอพีทีวี (Internet Protocol Television) เป็นบริการโทรทัศน์ผ่านอินเตอร์เน็ต แบบควบคุมเครือข่ายส่วนใหญ่บริการโดยผู้ให้บริการโทรคมนาคมหรือบริษัทที่ได้รับอนุญาต ซึ่งในไทยมีมานานกว่า 20 ปีแล้ว อาจต้องใช้กล่องรับสัญญาณ (Set-Top Box) และสมัครสมาชิก ซึ่งตรงนี้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลตามกฎหมาย กสทช.
ทั้งนี้ ไอพีทีวีถูกจัดเป็นบริการโทรทัศน์ ตาม พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ผู้ให้บริการต้อง ขอใบอนุญาตจาก กสทช. (ประเภทบริการโทรทัศน์หรือบริการสื่อสาร) ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขด้านเทคนิค การจัดการเนื้อหา และอาจมีข้อกำหนดให้ส่งสัญญาณช่องรายการบังคับ (Must-Carry) แต่ตามกฎหมาย กสทช. โอทีทีและไอพีทีวีแตกต่างกันในเชิงการกำกับดูแล เนื่องจาก ไอพีทีวีถือเป็นบริการโทรทัศน์ที่ต้องขออนุญาต ในขณะที่โอทีทีเป็นบริการเนื้อหาออนไลน์ที่อยู่ไม่อยู่ภายใต้กฎหมาย
“เราจะไม่พาดพิงคำพิพากษาของศาลฯ เพราะไม่มีกฎหมายควบคุมกำกับดูแลโอทีที คำถามคือการกำกับดูแลโอทีที ซึ่งเป็นวาระสำคัญ เพราะโอทีทีเติบโตขึ้นทุกวัน ดังนั้น การกำกับดูแลจะเริ่มกี่โมง ผลกระทบที่เกิดขึ้นจะเป็นการทำลายธุรกิจโทรทัศน์โดยตรง เพราะผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลกำลังจะสิ้นสุดใบอนุญาตในปี 2572 แล้ว แต่ยังไม่เห็นความชัดเจนจาก กสทช.เลยว่าจะเปิดประมูลรอบใหม่หรือไม่ สวนทางกับธุรกิจโอทีทีที่มันโตขึ้น ดึงเม็ดเงินมหาศาลจากเอเจนซี่โฆษณาไป”
เวทีเสวนา “พิรงรอง Effect ทิศทางกำกับดูแลและคุ้มครองผู้บริโภคสื่อต่อจากนี้” ครั้งนี้ นอกจากการเสวนาฯ พูดคุย ชี้ถึงปัญหาในอดีต และข้อควรแก้-ทางออกในปัจจุบันและอนาคต เพื่อช่วยเหลือผู้เกี่ยวข้องที่กำลังได้รับผลกระทบแล้ว ในส่วนของสถาบันการศึกษาหลายแห่งที่เกี่ยวข้องกับศาสตร์ด้านนิเทศศาสตร์และสื่อสารมวลชน ได้ออกแถลงการณ์สนับสนุนการทำงานของ ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.พิรงรอง รามสูต โดยเน้นย้ำถึงบทบาทของเธอในการปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนและการทำงานอย่างมีจรรยาบรรณ ซึ่งมหาวิทยาลัยที่ออกแถลงการณ์ ประกอบด้วย :
1. คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย – สนับสนุนบทบาทของ กสทช. ในการกำกับดูแลสื่อและการสื่อสารที่เป็นธรรมและโปร่งใส
2. คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ – เน้นความสำคัญของการมีกรรมการ กสทช. ที่ยึดมั่นในหลักการและมาตรฐานสากล
3. คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ – แสดงความกังวลเกี่ยวกับแรงกดดันที่อาจส่งผลกระทบต่อการทำงานของ กสทช.
4. คณาจารย์สาขาวิชานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี – สนับสนุนการดำเนินงานของ กสทช. ที่คำนึงถึงประโยชน์ของสาธารณะเป็นหลัก
ทั้งนี้ นอกจากภาคการศึกษาแล้ว ‘องค์กรสื่อ’ หลายแห่งก็ออกมาแสดงจุดยืนสนับสนุนการทำงานของ ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.พิรงรอง รามสูต โดยเน้นถึงบทบาทของเธอในการรักษาความเป็นธรรมในการกำกับดูแลสื่อ ได้แก่ :
1. สภาสถาบันนักวิชาการสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย – ออกแถลงการณ์สนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ของเธอ พร้อมเรียกร้องให้สังคมให้ความเป็นธรรมกับการทำงานของ กสทช.
2. สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ – แสดงความกังวลว่าการกดดันให้กรรมการ กสทช. ออกจากตำแหน่งอาจส่งผลกระทบต่อการคุ้มครองผู้บริโภค และเรียกร้องให้ภาครัฐสนับสนุนการทำงานของ กสทช. ในการกำกับดูแลอย่างเป็นอิสระ