แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เปิดแผนช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกผลไม้ไทย รับมือช่วงผลผลิตออกมากในฤดูกาลนี้ โดยสั่งการให้กระทรวงพาณิชย์เร่งบูรณาการความร่วมมือกับภาครัฐและเอกชน เพื่อ ระบายผลผลิตในประเทศและผลักดันการส่งออกอย่างเป็นระบบ โดยรัฐบาลตระหนักถึงปัญหาผลผลิตล้นตลาด โดยเฉพาะมะม่วง มังคุด เงาะ และทุเรียน จึงมอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงยุติธรรม และภาคเอกชน เร่งดำเนินแผนรับซื้อผลไม้จากเกษตรกรในแหล่งผลิต พร้อมขยายการจำหน่ายในประเทศผ่าน 4 แนวทางสำคัญ คือ
1. จำหน่ายตรงสู่ผู้บริโภค
2. รับซื้อเพื่อกิจกรรม CSR
3. บริโภคภายในองค์กร
4. ใช้ในหน่วยงานรัฐ เช่น กรมราชทัณฑ์
เอกชนร่วมวง 27 ราย รับซื้อผลไม้กว่าแสนตัน
นายกรัฐมนตรี บอกด้วยว่า ในการประชุมหารือร่วมกับภาคเอกชน มี ผู้ประกอบการ 27 ราย จาก 9 กลุ่มธุรกิจหลัก รับซื้อผลไม้รวมกว่า 103,760 ตัน แบ่งเป็น กลุ่มอุตสาหกรรม-หอการค้าไทย รับซื้อรวม 55,500 ตัน, ห้างค้าปลีกค้าส่ง เช่น แม็คโคร, เทสโก้, บิ๊กซี, โลตัส ฯลฯ รับซื้อกว่า 34,450 ตัน, ปั๊มน้ำมัน, ตู้เต่าบิน, ไปรษณีย์ไทย, หน่วยงานรัฐ-มูลนิธิต่างๆ อีก 13,810 ตัน
โดยรัฐบาลยังมีแผนกระตุ้นการบริโภคในประเทศ เช่น รณรงค์ ‘กินผลไม้ไทย’ ผ่าน KOL และสื่อโซเชียล, จัดเทศกาล Thai Fruits Festival, ประกวดเมนูอาหารจากผลไม้ เพื่อระบายผลไม้ภายในประเทศให้ได้ 346,500 ตัน จากเป้าหมายรวม 730,000 ตัน
ตั้ง War Room – เร่งเจาะตลาดส่งออก เพิ่มเป้า 4.13 ล้านตัน
ด้านการส่งออก รัฐบาลตั้งเป้าปี 2568 จะส่งออกผลไม้ไทย 4.13 ล้านตัน (+3%) คิดเป็นมูลค่า 308,000 ล้านบาท (+2%) โดยเฉพาะ ตลาดจีน ซึ่งล่าสุด สำนักงานศุลกากรจีน (GACC) ได้ผ่อนคลายมาตรการตรวจสอบทุเรียนไทยที่มีระบบจัดการดี (ลดระดับการสุ่มตรวจ BY2) ถือเป็นผลจากความร่วมมือเชิงรุกของไทยกับหน่วยงานจีน โดย รัฐบาลตั้ง War Room เพื่อติดตามสถานการณ์ส่งออกและประสานงานด่วน พร้อมจัด ชุดเฉพาะกิจเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เร่งเปิดทางผลไม้ไทยสู่ตลาดใหม่
กลยุทธ์หลักปีนี้คือเจาะ 3 กลุ่มตลาดส่งออก
1. ตลาดศักยภาพ ได้แก่ ฮ่องกง มาเลเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน ออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร
2. ตลาดสร้างแบรนด์ ได้แก่ ตะวันออกกลาง และเอเชียใต้
3. ตลาดโลจิสติกส์ต้นทุนต่ำ ได้แก่ กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม (CLMV)
พร้อมทั้งจัดงานแสดงสินค้า (Trade Fairs) และแคมเปญกระตุ้นยอดขายในต่างประเทศ (Trade Promotion) เพื่อสร้างความต้องการอย่างต่อเนื่อง
ทั้งหมดเป็นส่วนหนึ่งของ “มาตรการบริหารจัดการผลไม้ ปี 2568” ที่วางเป้าหมายการระบายผลไม้ 950,000 ตัน ผ่าน 7 มาตรการหลัก รวม 25 แผนงาน ได้แก่
1. สร้างความเชื่อมั่นในคุณภาพผลผลิต (4 แผนงาน)
2. ส่งเสริมตลาดในประเทศ (8 แผนงาน) – เป้าหมาย 730,000 ตัน
3. ส่งเสริมการแปรรูป/ปรับพื้นที่เกษตร (2 แผนงาน) – เป้า 220,000 ตัน
4. ส่งเสริมตลาดต่างประเทศ (4 แผนงาน)
5. ยกระดับสินค้าผลไม้ไทย (3 แผนงาน)
6. แก้อุปสรรคการค้า-โลจิสติกส์ (2 แผนงาน)
7. มาตรการทางกฎหมายและควบคุม (2 แผนงาน)
นายกรัฐมนตรีสรุปว่า “ผลไม้ไทยคือจุดแข็งของการเกษตรไทย รัฐบาลจะเดินหน้าเต็มที่ เพื่อให้เกษตรกรไทยมีรายได้ที่มั่นคงและเป็นธรรม พร้อมยกระดับสินค้าไทยสู่ตลาดโลกอย่างยั่งยืน”