สมรสเท่าเทียม มีผล! จับตาเศรษฐกิจใน ‘คนสีรุ้ง’ คึกขึ้น?

22 ม.ค. 2568 - 06:51

  • เมื่อกฎหมายสมรสเท่าเทียม มีผลบังคับใช้ 23 ม.ค.68 ชาวสีรุ้งหนุน ศก.ไทย อะไรบ้าง?

  • สหรัฐ ชี้ตัวเลขหลังบังคับใช้กฎหมายสมรสเท่าเทียม ช่วงปี 2558-2562 กระตุ้น ศก.ได้ถึง 3.8 พันล้านดอลลาร์

  • แล้วไทยจะเป็นเช่นไร ธุรกิจใดน่าจับตา

rainbow-economy-lgbtq-same-sex-marriage-law-wedding-industry-SPACEBAR-Hero.jpg

พฤหัสบดีที่ 23 มกราคม 2568 เป็นอีกปรากฎการณ์ในประเทศไทย หลังรัฐบาล โดยกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย เปิดโอกาสให้มีการ ‘สมรสเท่าเทียม’ โดยเป็นวันดีเดย์ให้กฎหมายสมรสเท่าเทียมมีผลบังคับใช้ พร้อมอำนวยความสะดวกให้คู่รักที่มีความหลากหลายทางเพศเข้าจดทะเบียนสมรส เพื่อส่งเสริมความเท่าเทียม ความเสมอภาค และการไม่เลือกปฏิบัติ รวมทั้งยังเป็นการเสริมสร้างภาพลักษณ์ของประเทศไทยในระดับนานาชาติในฐานะประเทศที่ยอมรับ

เมื่อ LGBTQ+ สร้างครอบครัวได้ ดันธุรกิจใดโตดีขึ้น!

แน่นอนว่า การผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียมของไทย นอกจากจะช่วยยกระดับด้านความเท่าเทียมทางเพศของไทยแล้ว ยังก่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจด้วย โดยเฉพาะธุรกิจบริการในหลากหลายสาขา จากการศึกษาของสถาบันด้านการวิจัย The William Institute ในสหรัฐอเมริกา พบว่า ภายหลังที่สหรัฐฯ ได้มีการบังคับใช้กฎหมายสมรสเท่าเทียมทั่วประเทศในช่วงปี 2558-2562 สามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ถึง 3.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (คำนวณจากค่าใช้จ่ายที่คู่รักเพศเดียวกันใช้ในการจัดงานแต่งงานมูลค่าประมาณ 3.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ การใช้จ่ายด้านการเดินทางท่องเที่ยวของผู้เข้าร่วมงานแต่งงาน 543.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และรายได้จากการเก็บภาษีการจัดงานแต่งงาน 244.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) นอกจากนี้ ยังช่วยสร้างการจ้างงานในธุรกิจที่เกี่ยวข้องเพิ่มขึ้นถึง 45,000 ราย

ในประเทศไทย กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เคยสำรวจพบว่า ธุรกิจบริการที่จะมีโอกาสเติบโตจากการมีกฎหมายสมรสเท่าเทียมมีหลากหลายธุรกิจ อาทิ ธุรกิจโรงแรม และธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการจัดงานแต่งงาน เช่น ธุรกิจสตูดิโอถ่ายภาพ ธุรกิจเช่าชุดแต่งงาน เพราะสิทธิในการสมรสจะช่วยเพิ่มความต้องการในการจัดงานเฉลิมฉลองการแต่งงานมากขึ้น

โดยบริษัทให้บริการจัดงานแต่งงานของไทย Wonders and Weddings คาดการณ์ว่ายอดจองการจัดงานแต่งงานจะเพิ่มมากขึ้น โดยการจองจัดงานแต่งงานของกลุ่ม LGBTQIA+ จะคิดเป็นร้อยละ 25 จากยอดจองทั้งหมด การจัดงานแต่งงานถือเป็นการฉลองก้าวสำคัญ (milestone) ของชีวิตของหลายคน ซึ่งกลุ่มบุคคลหลากหลายทางเพศก็ต้องการเฉลิมฉลองช่วงเวลาสำคัญนี้เช่นกัน 

ขณะที่ข้อมูลของบริษัท IPSOS ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยและให้คำปรึกษาด้านตลาดข้ามชาติ ชี้ด้วยว่า ประชากรร้อยละ 9 ของไทย ระบุตนเองว่าเป็นกลุ่ม LGBTQIA+ ซึ่งความต้องการในการจัดงานเฉลิมฉลองที่เพิ่มมากขึ้นส่งผลให้ธุรกิจโรงแรมและธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการจัดงานแต่งงานเติบโตอย่างมาก

ดังนั้น เพื่อเป็นการคว้าโอกาสจากการมีกฎหมายสมรสเท่าเทียม ไทยควรผลักดันในการเป็นศูนย์กลางการจัดงานแต่งงานของทุกเพศสภาพในเอเชีย เนื่องจากความพร้อมในด้านกฎหมาย ความเป็นเลิศในด้านการจัดงานและธุรกิจบริการที่เกี่ยวข้องของไทย และการมีแหล่งท่องเที่ยวหลากหลาย ทั้งทางด้านธรรมชาติ วัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ เหมาะสมอย่างยิ่งในการเป็นสถานที่สำหรับการจัดงานแต่งงานและฮันนีมูน ซึ่งจะช่วยสร้างรายได้ให้กับไทยเป็นอย่างมาก อีกทางหนึ่ง 

นั่นจึงเป็นที่มาให้กล่าวได้ว่า การสมรสเท่าเที่ยม ยังช่วยหนุนการเติบโตของ ภาคท่องเที่ยว เพราะคู่รักเพศเดียวกันมักเลือกเดินทางไปแต่งงานหรือฮันนีมูนในประเทศหรือสถานที่ที่เป็นมิตรต่อ LGBTQ+ โดยเฉพาะประเทศที่รองรับการสมรสเพศเดียวกันมักดึงดูดนักท่องเที่ยว LGBTQ+ มากขึ้น ซึ่งนำไปสู่การเติบโตของธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร และสถานที่ท่องเที่ยว ตามที่กล่าวในข้างต้น และในขณะเดียวกัน การจัดอีเวนต์หรือเทศกาลเฉลิมฉลอง เช่น LGBTQ+ Pride ก็จะเป็นอีกส่วนำคัญที่อาจมีการขยายตัวในประเทศเหล่านี้

เศรษฐกิจสีรุ้ง เชื่อมโยงหลากอุตสาหกรรม

นอกจาก ภาคท่องเที่ยวแล้ว ยังกล่าวได้ว่า หากจะพูดถึงคำว่า ‘เศรษฐกิจสีรุ้ง’ นั่นย่อมหมายถึงการเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่มากยิ่งไปกว่าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว โดยยังมีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงในหลายมิติ ได้แก่

อุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์และการเงิน (Real Estate & Financial Services)
ซึ่งคู่สมรสเพศเดียวกันที่สามารถจดทะเบียนสมรสได้ มีแนวโน้มที่จะลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ เช่น การซื้อบ้านร่วมกันมากขึ้น และรวมถึง การจัดการทางการเงิน เช่น การกู้ร่วม การเปิดบัญชีร่วม หรือการวางแผนมรดก จะช่วยขยายตลาดบริการทางการเงิน

ธุรกิจประกันและสุขภาพ (Insurance & Healthcare)
โดยการแต่งงานที่ถูกต้องตามกฎหมายทำให้คู่สมรสเพศเดียวกันสามารถเข้าถึงสิทธิประโยชน์ เช่น การประกันสุขภาพสำหรับครอบครัว การประกันชีวิต และสวัสดิการต่าง ซึ่งการให้บริการด้านสุขภาพและการดูแลครอบครัว เช่น การดูแลเด็ก การรักษาภาวะเจริญพันธุ์ หรือบริการรับบุตรบุญธรรม เป็นต้น

ธุรกิจบันเทิงและสื่อ (Entertainment & Media)
กล่าวได้ว่า ในธุรกิจบันเทิงและสื่อนั้น จะมีการเพิ่มเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการแต่งงานเพศเดียวกัน เช่น ภาพยนตร์ ซีรีส์ หรือรายการที่แสดงถึงความหลากหลายและความเท่าเทียม จะได้รับการตอบรับที่ดีจากกลุ่มผู้ชม เช่นเดียวกับ อุตสาหกรรมเพลง การผลิตวิดีโอ และโฆษณา ที่เฉลิมฉลองการแต่งงานเพศเดียวกันสามารถสร้างรายได้เพิ่มเติม

การจ้างงานและนโยบายองค์กร (Employment & Corporate Policies)
องค์กรที่เปิดรับความหลากหลายและยอมรับการสมรสเพศเดียวกัน มีแนวโน้มที่จะดึงดูดแรงงานที่มีศักยภาพสูง นโยบายองค์กรที่สนับสนุนความเท่าเทียม เช่น การให้สวัสดิการแก่คู่สมรส LGBTQ+ จะช่วยเสริมสร้างความภักดีและเพิ่มประสิทธิภาพของพนักงาน

ธุรกิจด้านกฎหมายและบริการให้คำปรึกษา (Legal & Consulting Services)
ทั้งนี้ ในการจดทะเบียนสมรส จะเพิ่มความต้องการบริการด้านกฎหมาย เช่น การวางแผนมรดก การทำสัญญาสมรส และการรับรองสิทธิทางกฎหมายของคู่สมรส บริการให้คำปรึกษาด้านการเงิน การวางแผนชีวิตคู่ และการจัดการภาษี

8. ภาคส่วนการเก็บภาษี (Tax Revenue)
การแต่งงานเพศเดียวกันจะเพิ่มรายได้จากภาษี เช่น ภาษีการจดทะเบียนสมรส ภาษีการซื้อขายทรัพย์สิน และภาษีจากการบริโภคในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง

กล่าวได้ว่า ‘การจดทะเบียนสมรสเพศเดียวกัน’ มีศักยภาพในการกระตุ้นเศรษฐกิจในหลากหลายภาคส่วน และยังเป็นการส่งเสริมความเท่าเทียมในสังคมอย่างยั่งยืน ตัวอย่างผลกระทบเชิงบวกในประเทศที่รองรับสมรสเพศเดียวกัน ใน 2 ประเทศ คือสหรัฐอเมริกา และไต้หวัน
• โดยใน สหรัฐอเมริกา : การอนุญาตให้สมรสเพศเดียวกันในปี 2015 สร้างรายได้ประมาณ 3.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปีแรก
• ขณะที่ ใน ไต้หวัน : หลังจากอนุมัติการสมรสเพศเดียวกันในปี 2019 การท่องเที่ยว LGBTQ+ และธุรกิจงานแต่งงานมีการเติบโตอย่างเห็นได้ชัด

สมรสเท่าเทียมในไทย ถือเป็นเรื่องใหม่ในสังคมไทย เป็นการเปลี่ยนแปลงสังคมที่ให้การยอมรับชาว LGBTQ+ ทำให้ในสังคมมีอีกกลุ่มคนอย่างเป็นทางการ ก่อให้เกิดกิจกรรมที่สร้างเงินสร้างรายได้ ส่งเศรษฐกิจไทยให้มีตัวเลขที่เพิ่มขึ้น จับตาต่อ สมรสเท่าเทียม ซึ่งส่งชาวคู่รักเพศเดียวกัน ‘สร้างครอบครัว’ และบางคู่ต้องการการมีบุตร จะมีกฎหมายใดมารองรับเพิ่มเติมหรือไม่ หรือจะมีมาตรการเข้มอย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบในทางอื่นที่อาจมีความสุ่มเสี่ยงกับเศรษฐกิจและสังคมต่อไปในอนาคต

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์