รัฐขยายฐานภาษี! ความจำเป็น Vs แรงกดดันการคลัง

18 พ.ค. 2568 - 05:08

  • สรรพากร ชี้ 5 กลุ่มเป้าหมาย ‘ขยายฐานภาษี’ เหตุจากเศรษฐกิจยุคใหม่ ผุดหลายอาชีพทำเงิน แต่ ‘ไม่อยู่ในระบบภาษี’

  • ระบุ เมื่อรายได้เปลี่ยนรูป ถึงเวลา “รัฐต้องปรับวิธีเก็บภาษีใหม่”

  • ตอกย้ำ ขยายฐานภาษี เพื่อระบบภาษีโปร่งใส สร้างความเป็นธรรมในสังคมไทย

เมื่อท่านอธิบดีกรมสรรพากร ปิ่นสาย สุรัสวดี กล่าวถึงการ ‘เตรียมขยายฐานภาษี’ ในเวทีสาธารณะเมื่อไม่นานมานี้ เสียงสะท้อนจากสังคมก็มีหลากหลาย บางส่วนตั้งคำถามทันทีว่า “นี่คือสัญญาณว่า ‘รัฐกำลังจะรีดภาษีประชาชน’ ใช่หรือไม่?” ... คำถามนี้ไม่ใช่เรื่องเล็ก เพราะเกี่ยวพันโดยตรงกับ ‘ความไว้วางใจ’ ที่ประชาชนมีต่อรัฐ และยังสะท้อนถึงความกังวลของผู้คนต่อภาระที่อาจจะเพิ่มขึ้น ท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวอย่างสมบูรณ์ 

แต่หากเราลองมองลึกไปกว่านั้น จะพบว่า แนวนโยบายการขยายฐานภาษีไม่ได้เกิดจากความต้องการเก็บภาษีเพียงเพื่อเพิ่มรายได้เท่านั้น หากแต่สะท้อน ‘แรงกดดันเชิงโครงสร้าง’ ที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

โครงสร้างรายได้รัฐกำลังเปราะบาง

สำนักงบประมาณ รายงานตัวเลขงบประมาณรายจ่ายของประเทศไทยปี 2568 สูงถึง 3.75 ล้านล้านบาท ขณะที่รายได้ของรัฐยังไม่สามารถครอบคลุมรายจ่ายทั้งหมด ทำให้จำเป็นต้องกู้เงินเป็นจำนวนมากทุกปี การกู้ในระดับสูงต่อเนื่องทำให้ระดับหนี้สาธารณะเข้าใกล้กรอบวินัยการเงินของประเทศ 

ขณะเดียวกัน รายได้ของกรมสรรพากร ซึ่งเป็นแหล่งรายได้หลักของรัฐบาลนั้น ยังขึ้นอยู่กับผู้เสียภาษีกลุ่มเดิมเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะกลุ่มมนุษย์เงินเดือนและธุรกิจในระบบ นั่นหมายความว่า กลุ่มผู้มีรายได้จำนวนไม่น้อยยังคงอยู่นอกระบบภาษี หรือเสียภาษีต่ำกว่าที่ควรจะเป็น ซึ่งในระยะยาวอาจก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในระบบ 

เศรษฐกิจใหม่ เปลี่ยนเกมภาษี

ในอดีต การจัดเก็บภาษีสามารถทำได้ง่ายในระบบเศรษฐกิจที่มีการจดทะเบียนที่ชัดเจน เช่น โรงงาน บริษัท หรือผู้มีรายได้ประจำ แต่ในปัจจุบันเศรษฐกิจไทยคลื่อนเข้าสู่ ‘เศรษฐกิจดิจิทัล’ ที่รายได้กระจายตัวในรูปแบบใหม่ เช่น พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ อินฟลูเอนเซอร์ ฟรีแลนซ์ การเทรดคริปโตหรือสินทรัพย์ดิจิทัล แพลตฟอร์มต่างชาติที่ทำรายได้ในไทย ซึ่งกลุ่มเหล่านี้จำนวนไม่น้อยมีรายได้สูง แต่ไม่เข้าสู่ระบบภาษีอย่างเต็มที่ ด้วยข้อจำกัดของกฎหมาย เทคโนโลยีการตรวจสอบ หรือแม้แต่ความไม่รู้ของผู้มีรายได้เอง 

เหตุผล ‘ขยายฐานภาษี’ เพื่อเป็นธรรม-ไม่ใช่เพิ่มภาระ

กรมสรรพากรจึงมีแนวทางชัดเจนว่า ‘การขยายฐานภาษี’ ไม่ได้หมายถึงการขึ้นอัตราภาษีหรือเก็บภาษีจากประชาชนทุกคนมากขึ้น แต่เป็นการนำกลุ่มที่ยังหลุดรอดจากระบบให้เข้ามาอยู่ในระบบอย่างเป็นธรรม โดยมาตรการที่อยู่ระหว่างการพิจารณา ได้แก่
• การใช้ข้อมูลจากแพลตฟอร์มดิจิทัล เช่น e-Marketplace หรือธนาคาร เพื่อติดตามรายได้
• การปรับปรุงระบบภาษีให้เรียบง่ายขึ้น เพื่อจูงใจให้ผู้ประกอบการขนาดเล็กเข้าสู่ระบบ
• การยกระดับระบบภาษีดิจิทัล เช่น e-Tax Invoice, e-Receipt และระบบวิเคราะห์ Big Data 

5 กลุ่มธุรกิจเป้าหมายใหม่ พาเข้าระบบภาษี อะไรบ้าง?

รัฐยังย้ำ การขยายฐานภาษีในครั้งนี้ เพื่อสร้างความเป็นธรรมระหว่างผู้ที่อยู่ในระบบกับผู้ที่ยังอยู่นอกระบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเราอยู่ในยุคดิจิทัล ผู้คนมีทางเลือกในการสร้างรายได้หลากหลายมากขึ้น มีอาชีพเกิดขึ้นใหม่บนโลกออนไลน์จำนวนมากและยังไม่เข้าระบบจัดเก็บภาษี การขยายฐานมาถึงกลุ่มเหล่านี้ จึงเป็นความจำเป็นให้ครอบคลุมกลุ่มใหม่ๆ ที่เติบโตขึ้นตามบริบทเศรษฐกิจยุคใหม่ สรุปออกมาเป็น 5 กลุ่มเป้าหมาย ที่จะถูกนำเข้าสู่ระบบภาษีอย่างจริงจัง ประกอบด้วย

1. ธุรกิจค้าออนไลน์ (E-commerce & Social Commerce)
ธุรกิจออนไลน์ที่เติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เช่น ร้านค้าใน Facebook, Shopee, Lazada และ TikTok จำนวนมากยังไม่ได้จดทะเบียนหรือเสียภาษีอย่างครบถ้วน ทำให้กรมสรรพากรมุ่งมั่นที่จะทำงานร่วมกับแพลตฟอร์มเหล่านี้เพื่อเก็บข้อมูลและกระตุ้นให้ผู้ค้าปรับตัวเข้าสู่ระบบภาษีอย่างถูกต้อง

2. กลุ่ม Influencer, Creator ฟรีแลนซ์ดิจิทัล
ผู้สร้างคอนเทนต์และแรงงานอิสระในโลกออนไลน์ หรือฟรีแลนซ์ในวงการดิจิทัล ที่มีรายได้จากการทำงานออนไลน์ แต่บางส่วนยังไม่ได้เข้าสู่ระบบภาษีอย่างครบถ้วน กรมสรรพากรจึงเน้นส่งเสริมให้กลุ่มนี้รับรู้และปฏิบัติตามกฎหมายภาษี เพื่อให้ระบบมีความเป็นธรรมและโปร่งใสมากขึ้น

3. ธุรกิจบริการผ่านแพลตฟอร์ม (Food Delivery, Ride-hailing, Fintech ฯลฯ)
ธุรกิจบริการที่อยู่บนแพลตฟอร์มดิจิทัล หรือกลุ่มแรงงานในระบบเศรษฐกิจแบ่งปัน (gig economy)เช่น ผู้ขับรถส่งอาหาร หรือคนขับรถโดยสารสาธารณะ รวมถึงธุรกิจฟินเทค มีการทำธุรกรรมทางการเงินจำนวนมาก แต่รายได้ส่วนหนึ่งยังไม่ได้ถูกจัดเก็บภาษีอย่างเต็มที่ จึงจำเป็นต้องมีการควบคุมและติดตามอย่างเข้มงวด

4. กลุ่มนักลงทุนและผู้ถือครองสินทรัพย์ดิจิทัล (คริปโต, NFT, หุ้น ฯลฯ)
การลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล เช่น คริปโตเคอร์เรนซี และ NFT มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น แต่การเสียภาษีจากรายได้ในกลุ่มนี้ยังเป็นข้อท้าทายใหม่ กรมสรรพากรกำลังเร่งพัฒนากฎหมาย ระบบติดตาม และประเมินรายได้ เพื่อให้สามารถจัดเก็บภาษีได้อย่างเหมาะสมและเป็นธรรม

5. ธุรกิจรายย่อยและ SME ทั่วไป รวมถึงร้านขายยา
กลุ่มธุรกิจรายย่อย เช่น ร้านค้า ร้านขายยา คลินิก และธุรกิจ SME ขนาดเล็กถึงกลาง ยังมีจำนวนไม่น้อยที่ไม่จดทะเบียนหรือไม่ได้ทำบัญชีภาษีอย่างถูกต้อง ทำให้เกิดช่องว่างในระบบภาษี ซึ่งกรมสรรพากรกำลังเร่งผลักดันให้กลุ่มเหล่านี้เข้าสู่ระบบภาษีอย่างถูกต้องและครบถ้วน 

แน่นอนว่า ทุกการเปลี่ยนแปลงย่อมมาพร้อมแรงเสียดทาน โดยเฉพาะเมื่อเกี่ยวข้องกับเงินในกระเป๋าของประชาชน แต่หากกรมสรรพากรสามารถสื่อสารอย่างชัดเจนว่า นโยบายนี้ไม่ได้มุ่งเน้นการเพิ่มภาระ แต่เป็นการสร้างความเป็นธรรมในระบบภาษี เป็นจุดเริ่มต้น ‘ซ่อมสร้าง’ โครงสร้างฐานภาษีให้กว้างขึ้น ยกระดับประเทศสู่อนาคต ได้อย่างมีเหตุผลและโปร่งใส ... เหตุผลเหล่านี้ก็อาจเปลี่ยนจากความกังวลไปสู่ความร่วมมือ และเปลี่ยนจากการตั้งคำถามว่า “จะรีดภาษีเราอีกหรือ?” เป็นคำถามใหม่ว่า “เราจะช่วยกันทำให้ระบบภาษียุติธรรมขึ้นได้อย่างไร?”

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์