‘หนู’ สัตว์ฟันแทะ ที่บางคนก็บอกว่า ‘น่ารัก’ แต่สำหรับชาวนาแล้ว คงเป็น ‘ไม้เบื่อไม้เมา’ หลังเป็นศัตรูตัวฉกาจ กัดกินข้าวได้ ตั้งแต่ระยะ เริ่มงอก เติบโตเป็นต้น ก็ถูกกัดจนต้นข้าวล้ม หรือเมื่อออกรวง ก็ยังกัดกินเมล็ดข้าว เรียกว่า ทุกช่วงของการเติบโต ‘หนูนา’ ทำลายต้นข้าวได้ทุกช่วง สิ่งนี้จึงเป็นที่มาให้หนูถูกเรียกว่าเป็นศัตรูตัวฉกาจ ทำให้นาข้าวเสียหายได้ทั้งแปลง
ผู้รู้ ไม่ว่าจะเป็น หัวเรือใหญ่อย่าง กองวิจัยและพัฒนาข้าว กรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หรือแม้แต่เอกชน อย่างผู้ผลิตปุ๋ยตรามงกุฎ ต่างออกมาให้ข้อมูล วิธีกำจัด ‘หนูนา’ ศัตรูนาข้าว โดยให้ข้อมูล หนูในนาข้าวที่สำคัญ มี 7 ชนิด คือ หนูพุกใหญ่, หนูพุกเล็ก, หนูนาใหญ่, หนูนาเล็ก, หนูท้องขาวบ้าน, หนูหริ่งนาหางยาว และ หนูหริ่งนาหางสั้น
ทั้งนี้ หนูจะทำให้ข้าวเสียหายตั้งแต่เริ่มปลูก โดยกัดกินเมล็ดข้าวที่งอก เมื่อข้าวเริ่มงอกถึงระยะแตกกอ หนูจะกัดต้นข้าว แต่อาจจะไม่กินข้าวที่กัดนั้นทั้งหมด เมื่อข้าวออกรวง หนูจะกัดกินลำต้นหรือคอรวงให้ขาด แล้วแกะเมล็ดออกจากรวงกิน นอกจากนี้ ยังเก็บสะสมรวงข้าวไว้ในรัง เพื่อเป็นอาหารหลังฤดูกาลเก็บเกี่ยว อย่างไรก็ตาม สัตว์เช่น หนูนา ขยายพันธุ์เร็ว เฉลี่ยอายุ 2-3 เดือนก็สามารถผสมพันธุ์ได้ ปีหนึ่ง ๆ ตกลูกได้ 4-6 ครอก แต่ละครอกก็จะเกิดขึ้นประมาณ 6 - 7 ตัว ชาวนาจึงต้องกำจัดต่อเนื่อง

การป้องกันกำจัดหนูศัตรูข้าว
สำหรับข้อแนะนำในการป้องกันและกำจัดหนูศัตรูข้าว สามารถทำได้หลายวิธี ดังนี้
1\. การปรับสภาพแวดล้อมบริเวณแปลงนาให้ ‘ไม่เหมาะต่อการอาศัยของหนู’ เช่น ลดขนาดของคันนาให้เล็ก เพื่อลดที่อยู่อาศัยและที่ผสมพันธุ์ (น้อยกว่า 30 เซนติเมตร) กำจัดวัชพืชหรือกองวัสดุเหลือใช้ตามบริเวณคันนาอยู่เสมอ
2\. การดัก โดยใช้กับดักชนิดต่าง ๆ
3\. การขุดหนู สำหรับพื้นที่ปลูกข้าวที่มีแรงงานและเวลามากพอ
4\. การล้อมตีหนู ในช่วงหลังจากเก็บเกี่ยว
5\. การทำรั้วกั้น หรือการล้อมรั้วร่วมกับการใช้ลอบหรือกรงดัก
6\. การใช้ศัตรูธรรมชาติ เช่น งู นกแสก นกเค้าแมว ช่วยกำจัดหนู
7\. การใช้เหยื่อโปรโตซัวกำจัดหนู วางในรูหรือทางเดินหนู และควรใช้ภาชนะสำหรับใส่เหยื่อวางจุดละ 2 ก้อน ห่างกัน 10-20 เมตร จำนวน 20-25 ก้อนต่อไร่

อย่างไรก็ตาม หนูนา เป็นสัตว์ที่รับประทานได้ แม้ยังไม่แพร่หลาย แต่ก็ถือว่า เป็นที่นิยมสำหรับการบริโภค หนูนานิยมเลี้ยงเป็นฟาร์มด้วยแล้วในหลายพื้นที่ ทั้งในภาคกลาง อีสาน และภาคเหนือ เช่น ปทุมธานี นครราชสีมา กำแพงเพชร ... โดยพัฒนาการของธุรกิจหนูนา มีตั้งแต่ ย่างขาย สนนราคาจานเล็กๆ ตั้งแต่ 100-200 บาท ส่วนถ้าชั่งน้ำหนัก ตกกิโลกรัมละ 450 บาท ขณะที่ผู้เลี้ยงระดับฟาร์มหนู มีการชำแหละแช่แข็งส่งขายทั่วประเทศ ตกราคากิโลกรัมละ 250 บาท ถือว่า เป็นราคาที่สูงกว่าเนื้อสัตว์ธรรมดา ทั้งหมู ปลา ไก่ เลยทีเดียว ขณะที่ทางเลือกของชาวนา บ้างก็ดักจับมาบริโภค และบ้างก็ใช้สารกำจัด เพื่อเป็นการป้องกันตั้งแต่เริ่มต้น