ไทยลุย สวนยางไม่ทำลายป่า สินค้าส่งออกยั่งยืน เข้าเกณฑ์โลก

15 มิ.ย. 2567 - 06:30

  • ไทยร่วมประชุม ‘โครงการห่วงโซ่คุณค่าที่ปราศจากการตัดไม้ทำลายป่า’

  • ประกาศความพร้อม เป็นผู้ส่งออกยางพาราชั้นนำของโลก

  • ตามกฎ ‘ปลอดการตัดไม้ทำลายป่า (EUDR)’ ของสหภาพยุโรป

rubber-plantation-agricultural-value-chains-also-extend-eudr-SPACEBAR-Hero.jpg

EUDR (EU Deforestation Free Regulation) เป็นกฎระเบียบ ว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการ ‘ตัดไม้ทำลายป่า’ ซึ่งสหภาพยุโรป กำหนดไว้ว่า สินค้าที่วางขาย นำเข้า หรือส่งออก “ต้องไม่สร้างความเสื่อมโทรม หรือทำลายป่าไม้ของโลก” โดยต้องตรวจสอบย้อนกลับแหล่งที่มาได้ว่า ‘อยู่พิกัดใด’ เป็นพื้นที่ป่าหรือไม่...โดย 7 กลุ่มสินค้าเกษตรที่ถูกควบคุม ได้แก่ ยางพารา กาแฟ วัว โกโก้ ถั่วเหลือง ไม้ ปาล์มน้ำมัน

นั่นจึงทำให้ ‘การยางแห่งประเทศไทย’ หรือ กยท. ซึ่งได้เข้าร่วมการประชุมโครงการห่วงโซ่คุณค่าที่ปราศจากการตัดไม้ทำลายป่า (Deforest-free Value Chains Roundtable) ซึ่งจัดโดยศูนย์การค้าระหว่างประเทศ (International Trade Centre) องค์การการค้าโลก (World Trade Organization: WTO) ประกาศวิสัยทัศน์ไปในงานด้วยแล้วว่า ประเทศไทยพร้อมเป็นผู้ส่งออกยางพาราชั้นนำของโลก ตามกฎระเบียบปลอดการตัดไม้ทำลายป่า (EU Deforestation Free Regulation : EUDR) ของสหภาพยุโรป

และเพื่อให้รับรู้โดยทั่วกัน ชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี จึงประชาสัมพันธ์แจ้งให้ทราบอีกครั้ง และรวมถึงต้องการให้ทราบอีกมิติของการค้ายางพาราไทยนับจากนี้ เพื่อร่วมให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ และรวมถึงการแสดงเจตนารมย์ของประเทศ ด้านการค้าที่ควบคู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม

ตอกย้ำถึง โครงการห่วงโซ่คุณค่าที่ปราศจากการตัดไม้ทำลายป่าของ WTO ด้วยว่า มีจุดมุ่งหมายต้องการเพิ่มการมีส่วนร่วมของประเทศกำลังพัฒนาและประเทศเกิดใหม่ ในคณะกรรมการการค้าและสิ่งแวดล้อม ซึ่งระบุลำดับความสำคัญของประเทศ ด้านการค้าและความยั่งยืน ด้านสิ่งแวดล้อม ผ่านการวิจัยและการปรึกษาหารือที่เกี่ยวข้องกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่างๆ รวมถึงมาตรการด้านสภาพภูมิอากาศที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจการค้า เศรษฐกิจหมุนเวียน พลังงานทดแทน และห่วงโซ่มูลค่าที่ยั่งยืน

rubber-plantation-agricultural-value-chains-also-extend-eudr-SPACEBAR-Photo V01.jpg

ทั้งนี้ ในการประชุมการยางแห่งประเทศไทยได้นำเสนอความก้าวหน้าของไทย ในการสร้างห่วงโซ่คุณค่ายางพาราที่ปราศจากการตัดไม้ทำลายป่า ขณะนี้ไทยอยู่ระหว่างการดำเนินโครงการ Ready for EUDR in Thailand เพื่อตรวจสอบและประเมินสินค้าอย่างละเอียดให้เป็นไปตามเงื่อนไขของมาตรฐาน EUDR ด้วยมาตรการที่ครอบคลุม และการกำกับดูแลที่เข้มงวด ก่อนวางจำหน่ายหรือส่งออกสินค้า 

โดยมีการจัดเก็บและรวบรวมข้อมูลผลผลิตยางของสมาชิกแต่ละรายอย่างเป็นระบบ ซึ่งใช้วิธีประมูลซื้อขายยางผ่านระบบดิจิทัล Thai Rubber Trade (TRT) ผ่านแพลตฟอร์มของ กยท. (https://trt.raot.co.th/) มีการลงทะเบียนทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย และใช้เทคโนโลยี Block chain ในการทำธุรกรรม โดยระบบดิจิทัล TRT จะแสดงรายละเอียดยางที่ซื้อขายอย่างชัดเจน สามารถตรวจสอบย้อนกลับที่มาของผลผลิตยางพาราได้ 100% โดยมีเกณฑ์ที่เข้มงวดในการประเมินและจัดการความเสี่ยงจากการตัดไม้ทำลายป่า กิจกรรมที่ผิดกฎหมาย และการละเมิดสิทธิมนุษยชน ให้ไปเป็นตามมาตรฐาน EUDR

“นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เชื่อมั่นว่าไทยมีศักยภาพพร้อมเป็นผู้ส่งออกยางพาราชั้นนำของโลก ชื่นชมการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ให้ความสำคัญกับการรักษาสถานะที่สำคัญของไทยในการค้าโลก รวมทั้งร่วมกันต่อสู้กับความท้าทายเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อม โดยยืนยันว่ารัฐบาลพร้อมผลักดันสินค้ายางพาราไทยให้เป็นไปตามกฎระเบียบ EUDR พัฒนาการจัดการระบบยางตามมาตรฐานใหม่ระดับสากล เพิ่มขีดความสามารถในการปรับตัวให้กับเกษตรกรชาวสวนยางไทยให้เท่าทันข้อปฏิบัติ ก้าวสู่การค้าสมัยใหม่ให้เกษตรกรชาวไทยมีชีวิตที่ดีขึ้น”

นายชัย กล่าว

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์