ข้าราชการ ‘เฮ’ หรือ ‘แห้ว’ ลุ้นครม.ขึ้นทั้งหมดหรือบรรจุใหม่

27 พ.ย. 2566 - 11:25

  • ข้าราชการลุ้นเงินเดือนขึ้น รอมติครม. 28 พฤศจิกายนนี้

  • การปรับอัตราเงินเดือนรอบใหม่จะไม่ใช่การขึ้นเงินเดือนข้าราชการทั้งระบบ แต่อาจไปที่ระดับข้าราชการเข้าใหม่แรกบรรจุ

  • ข้าราชการไทย บุคลากรภาครัฐ และข้าราชการบำนาญ จะได้อานิสงส์เจากการปรับเงินเดือน

  • ประมาณการในเบื้องต้น คาดว่างบฯ เบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ มีแนวโน้มจะสูงกว่างบบุคลากรภายในระยะเวลาไม่เกิน 10 ปี

  • หากงบฯที่ตั้งไว้ไม่พอจ่าย จำเป็นต้องเบิกเงินคงคลังมาใช้ก่อน เพื่อมาโปะงบฯรักษาพยาบาล-บำเหน็จบำนาญ

salary-increase-government-officer-SPACEBAR-Hero.jpg

ข้าราชการต้องลุ้นในการประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 28 พฤศจิกายนนี้ เงินเดือนจะขึ้นหรือไม่ ตามนโยบายของรัฐบาลใหม่ เพราะดูแนวโน้มแล้วน่าจะเหนื่อย อาจเป็นไปได้ว่าจะปรับขึ้นให้เฉพาะข้าราชการบรรจุใหม่มากกว่า  

คาดเงินเดือนข้าราชการหากปรับเพิ่มขึ้น 5% ต้องใช้งบประมาณเพิ่มอีกไม่ต่ำกว่า 6 หมื่นล้านบาท สุดท้ายอาจปรับฐานเงินเดือนใหม่ให้เฉาพะข้าราชการแรกบรรจุเข้ารับราชการ ทุกวันนี้ค่าใช้จ่ายด้านกำลังคนในระบบราชการสูงถึง 1.1-1.2 ล้านล้านบาท  

การประชุมคณะรัฐมนตรีในวันที่ 28 พฤศจิกายนนี้ คาดว่า ปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี ที่ดูแลสำนักงานข้าราชการพลเรือนจะนำเสนอแนวทางในการปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการตามบัญชาขอ นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ซึ่งเป็นเรื่องที่คนไทยทั้งประเทศโดยเฉพาะข้าราชการกำลังเฝ้าติดตามด้วยใจระทึกว่า จะได้รับเงินเดือนทั้งระบบเพิ่มขึ้นมากน้อยเท่าไร  

แต่ล่าสุด ทำท่าจะมีข่าวร้าย เมื่อ ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยถึงการปรับ ‘ขึ้นเงินเดือนข้าราชการ’ ว่าในเบื้องต้นเชื่อว่าการปรับอัตราเงินเดือนรอบใหม่จะไม่ใช่การขึ้นเงินเดือนข้าราชการทั้งระบบ แต่อาจไปที่ระดับข้าราชการเข้าใหม่แรกบรรจุ ที่มีฐานเงินเดือนอาจจะต่ำเมื่อเทียบเงินเดือนภาคเอกชน แต่ทั้งหมดคงแต่คงจะไม่ได้ทำทั้งระบบ สาเหตุหลักที่จะปรับให้เฉพาะข้าราชการใหม่แรกบรรจุ น่าจะมาจากภาระด้านงบประมาณที่จะต้องใช้วงเงินสูงมากฟหากมีการปรับเงินเดือนขึ้นทั้งระบบ

ก่อนอื่น เรามาพิจารณาดูตัวเลขในปัจจุบัน ประเทศไทยมีข้าราชการราว 1.68 ล้านคน และ บุคลากรภาครัฐ เช่นลูกจ้างประจำ พนักงานชั่วคราวที่มีสัญญาจ้างอีกราว 1.23. ล้านคน คิดเป็นจำนวนรวมกันราว 3.9 ล้านคน รวมทั้ง ข้าราชการบำนาญอีกราว 3 ล้านคน ที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งคนเหล่านี้จะได้รับอานิสงส์เหมือนกันหมด หากรัฐบาลมีการปรับเงินเดือนข้าราชการในต้นปีหน้าจริง   

ในปีงบประมาณ 2566 ที่สิ้นสุดไปแล้วเมื่อปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา รายจ่ายในส่วนนี้สูงถึง 1,103,918 ล้านบาท คิดเป็น 1 ใน 3 ของวงเงินงบประมาณรายจ่ายในแต่ละปี และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเฉลี่ยอยู่ที่ 3.13% ต่อปี 

ในส่วนแรก รัฐบาลตั้งงบบุคลากรเตรียมไว้จ่ายเงินเดือนข้าราชการ ค่าจ้างประจำ ค่าจ้างชั่วคราว และค่าตอบแทนพนักงานราชการ วงเงิน 614,448 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 19.30% ของวงเงินงบประมาณรายจ่าย 3.185 ล้านล้านบาท 

ส่วนงบฯ เบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญข้าราชการ, บำเหน็จลูกจ้างประจำ, เงินทำขวัญข้าราชการและลูกจ้าง, เงินทดแทนข้าราชการวิสามัญ, ค่าทดแทนสำหรับผู้ที่ได้รับอันตรายจากการรักษาความมั่นคงของประเทศ, เงินช่วยพิเศษข้าราชการบำนาญที่เสียชีวิต และเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ ดูแลบุคลากรภาครัฐประมาณ 3 ล้านคน ในปีงบประมาณ 2566 ตั้งเอาไว้ในงบกลาง 322,790 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 10.13% ของวงเงินงบประมาณปีนี้ 

2 รายการนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายจ่ายที่ยากแก่การตัดทอน โดยเฉพาะในส่วนเงินเบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ ที่เป็นตัวเลขที่น่ากังวล เพราะนับวันก็จะมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตามการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของไทย และมีอัตราเพิ่มสูงขึ้นทุกปี โดยมีอัตราเฉลี่ยสูงถึง 10.82% ต่อปี ขณะที่งบบุคลากรประเภทเงินเดือนข้าราชการ ค่าจ้างประจำ ค่าจ้างชั่วคราว และค่าตอบแทนพนักงานราชการ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย เฉลี่ยอยู่ที่ 1.73% ต่อปี เนื่องจากมีความพยายามในการลดขนาดของระบบราชการลง

คาดการณ์-10-ปี-งบบำเหน็จ.jpg

มีการประมาณการในเบื้องต้น คาดว่างบฯ เบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ มีแนวโน้มจะสูงกว่างบบุคลากรภายในระยะเวลาไม่เกิน 10 ปี 

นอกจากรายจ่ายด้านเงินเดือน เงินเบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญของบุคลากรภาครัฐแล้ว ยังมีค่ารักษาพยาบาลบุคลากรภาครัฐและครอบครัวที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นตามการเข้าสูงสังคมผู้สูงอายุเช่นกัน โดยเพิ่มจากระดับปีละ 6 หมื่นล้านบาท ขึ้นมาเป็นราว 7.6 หมื่นล้านบาท ในช่วงเพียง 5-6 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากจำนวนผู้สูงอายุที่เกษียณเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ  โดยมีอัตราเพิ่มเฉลี่ยอยู่ที่ 4.08% ต่อปี 

เพราะเหตุนี้ทำให้ ในบางปีงบฯที่ตั้งไว้ไม่พอจ่าย จำเป็นต้องเบิกเงินคงคลังมาใช้ก่อน โดยในปี 2565 มีการควักเงินคงคลัง 23,597 ล้าน มาโปะงบฯรักษาพยาบาล-บำเหน็จบำนาญ แบ่งเป็นค่ารักษาพยาบาลบุคลากรภาครัฐ 7,650 ล้านบาท เงินเบี้ยหวัด บำเหน็จบำนาญบุคลากรภาครัฐ 15,041 ล้านบาท และเงินช่วยเหลือข้าราชการ ลูกจ้าง และพนักงานของรัฐอีก 906 ล้านบาท

นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีภาระต้องจ่ายเงินชดเชยนำส่งเข้ากองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นตามการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเช่นเดียวกัน โดยในปีงบประมาณ 2566 ต้องจ่ายสมทบสูงถึง 75,980 ล้านบาท  

ในส่วนของการปรับเงินเดือนเลื่อนขั้นประจำปีนั้นรัฐบาลตั้งเอาไว้ในงบกลาง โดยในปีงบประมาณ 2566 ลดลงเหลือ 10,000 ล้านบาท เนื่องจากในช่วง 2 ปีที่ผ่านมารายจ่ายส่วนนี้มีแนวโน้มลดลงเฉลี่ยอยู่ที่ 19.45% 

สำหรับเงินช่วยเหลือการศึกษาบุตร เงินช่วยเหลือบุตร และเงินพิเศษกรณีเสียชีวิตระหว่างรับราชการ ในปีงบประมาณ 2566 ลดลงมาเหลือ 4,200 ล้านบาท อีกรายการหนึ่งคือ เงินสมทบเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพลูกจ้างประจำ โดยในปีงบประมาณ 2566 ลดลงเหลือ 500 ล้านบาท  

ทั้งหมด เมื่อรวม รวมค่าใช้จ่ายเงินเดือนและสวัสดิการของบุคลากรภาครัฐในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จากปี 2557 เราใช้งบประมาณ 865,800 ล้านบาท แต่ในปี 2566 เพิ่มเป็น 1,103,918 ล้านบาท  

คำถามที่น่าสนใจก็คือ ผลจากการศึกษาที่ รองนายกรัฐมนตรี ปานปรีย์ พหิทธานุกร ที่ดูแล สำนักงานข้าราชการพลเรือน ซึ่งคาดว่าจะนำเสนอให้ ครม.พิจารณาในสัปดาห์นี้ จะมีแนวทางในการปรับอัตราเงินเดือนข้าราชการเพิ่มขึ้นอย่างไร และจะเป็นภาระด้านงบประมาณเพิ่มขึ้นอีกเท่าไร เพราะถ้าพิจารณางบในส่วนนี้ที่อยู่ในระดับราว 1.2 ล้านล้านบาท หากมีการปรับเงินเดือนโดยเฉลี่ยขึ้นราว 5% ก็เท่ากับจะมาภาระด้านงบประมาณเพิ่มขึ้นอีกสูงถึงราว 6 หมื่นล้านบาท !!!  

เพราะเหตุนี้ จึงอาจเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ มีแนวคิดที่จะปรับ ‘ขึ้นเงินเดือนข้าราชการ’ เฉพาะในส่วนของข้าราชการเข้าใหม่แรกบรรจุ ที่มีฐานเงินเดือนอาจจะต่ำเมื่อเทียบเงินเดือนภาคเอกชน ทำให้ข้าราชการในระบบ และข้าราชการบำนาญ คงต้องร้องเพลงรอต่อไป ยกเว้นนายกฯ เศรษฐา จะทุบโต๊ะให้มีการปรับขึ้นทั้งระบบ

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์