สารัชถ์ รัตนาวะดี รองประธานกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF กล่าว ในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2568 ซึ่งเป็นการประชุมครั้งสุดท้ายของ GULF ก่อนจะเปลี่ยนไปเป็นชื่อใหม่ ‘กัลฟ์ ดีเวลลอปเมนท์’ ซึ่งเกิดจากดีลควบรวมครั้งใหญ่ กับบริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ INTUCH โดยให้ความเชื่อมั่นนักลงทุนว่า เป็นการควบรวมของบริษัทที่ดี ไม่ใช่การควบรวมเพื่อแก้ปัญหาของบริษัทเหมือนในอดีต ธุรกิจใหม่หลังควบรวมจะสร้างรายได้ให้กลุ่มกัลฟ์มากขึ้น จะเติมเต็มโครงสร้างพื้นฐานอินฟราสตรัคเจอร์ โทรคมนาคม ดาต้าเซ็นเตอร์ มุ่งสู่ธุรกิจแห่งอนาคต
บริษัทเตรียมงบลงทุนไว้ประมาณ 100,000 ล้านบาท ภายในช่วง 5 ปี โดยแบ่งเป็นการลงทุนในธุรกิจพลังงานสะอาดสัดส่วน 60-70% ส่วนงบลงทุนปี 68 อยู่ที่ราว 20,000 กว่าล้านบาท ซึ่งยังไม่นับรวมโครงการใหม่ที่ยังไม่สามารถระบุได้
ทั้งนี้ บริษัทใหม่จะมีผลทางการในวันที่ 1 เมษายน 2568 ภายใต้ชื่อ บริษัท กัลฟ์ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ชื่อย่อหุ้น GULF ตามเดิม และจะเริ่มกลับมาซื้อขายหุ้น (เทรด) ในวันที่ 3 เมษายน 2568 ซึ่งประโยชน์จากการควบรวมในครั้งนี้ จะทำให้บริษัทใหม่มีฐานะการเงินที่แข็งแรงขึ้น เนื่องจากบริษัทใหม่จะถือหุ้นโดยตรงใน AIS สัดส่วน 40% ซึ่งสามารถที่จะรับรู้ส่วนแบ่งกำไรเข้ามาได้ไม่ต่ำกว่า 3,500 ล้านบาทต่อปี กระแสเงินสดและเงินปันผลมากขึ้นกว่า 6,000 ล้านบาทต่อปี รวมถึงอัตราหนี้สินต่อทุน (D/E) ลดลงเหลือ 0.8 เท่า จากเดิมไม่เกิน 1.8 เท่า และอันดับเครดิตเรทติ้งจะปรับตัวสูงขึ้นในอนาคต ซึ่งจะทำให้ต้นทุนทางการเงินของบริษัทลดลง จากเดิมที่มีต้นทุนเงินกู้ที่ระดับ 3%

อนึ่ง ปัจจุบัน GULF ใช้ชื่อหุ้น GULFI ชั่วคราวเนื่องจากอยู่ในช่วงพักการซื้อเพื่อเตรียมการจัดสรรหุ้นสามัญของบริษัทใหม่ให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมของ GULF และ INTUCH
ขณะที่ภายหลังการควบรวมจะทำให้บริษัทมี 4 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่ 1. พลังงาน 2. โครงสร้างพื้นฐาน 3. ดิจิทัล และ 4. ธุรกิจการลงทุนอื่นๆ เช่น การลงทุนใน ADVANC และ THCOM โดยแบ่งเป็นสัดส่วนกำไรจากธุรกิจพลังงานประมาณ 60% และจากธุรกิจที่เหลืออีก 40%

“การควบรวมครั้งนี้จะทำให้ GULF แข็งแรงมากขึ้น มีสถานะทางการเงินที่ดี ต้นทุนทางการเงินต่ำลงมาก ทำให้ความสามารถทางรายได้ดีขึ้น ความสามารถทางการแข่งขันและกำไรสูงขึ้น จะได้ส่วนแบ่งกำไรไม่น้อยกว่า 3,500 ล้านบาทต่อปี และจะได้เงินปันผลเพิ่มขึ้นกว่า 6,000 ล้านบาทต่อปี หนี้สินต่อทุนลดลง 0.8 เท่า จากเดิมไม่เกิน 1.8 เท่า เพราะอินทัชไม่มีหนี้ มีสถาพคล่องสูง ต่อยอดธุรกิจพลังงาน โครงสร้างพื้นฐาน ดิจิทัล แม้แต่การเงินกระจายความเสี่ยงรายได้เดิมจากกำไรกลุ่มธุรกิจพลังงาน 60% อีก 40% จะมาจากอีก 3 ธุรกิจซึ่งรวมถึงการควบรวมธุรกิจแล้ว”
สารัชถ์ กล่าว
อย่างไรก็ตามหลังจากวันที่ 1 เมษายนนี้ ก็น่าจะเห็นการลงทุนที่มากขึ้นในเชิงรุก โดยเฉพาะการลงทุนโรงไฟฟ้าในต่างประเทศที่ปัจจุบันมีคนมาชวนลงทุนจำนวนมาก รวมถึงการลงทุนธุรกิจดาต้าเซ็นเตอร์โครงการที่ 2-3 และธุรกิจดิจิทัลมากขึ้น
