SCB EIC มอง ดอกเบี้ยไทย คงยาวที่ 2.5%

30 พ.ย. 2566 - 05:33

  • SCB EIC มอง กนง. คงดอกเบี้ย 2.5% ยาวตลอดปี 2024

  • ประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจไทย 2023 โตที่ 2.6% และ 3.0% ในปี 2024

  • ปรับลดประมาณการการขยายตัวของ ศก.ไทยปี 2023 จาก 3.1% เหลือ 2.6% เหตุจาก Q3 ขยายตัวต่ำกว่าคาดมาก

scb-eic-economic-2024-interest-monetary-policy-committee-bot-SPACEBAR-Hero.jpg

หลัง กนง. มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.5% ต่อปี ประเมินเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ 2.4% ในปี 2023 และ 3.2% ในปี 2024, ประเมินอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ 1.3% ในปี 2023 และ 2.0% ในปี 2024 และประเมินว่าระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ แม้ภาวะการเงินโดยรวมตึงตัวขึ้นบ้าง โดยยังต้องติดตามพัฒนาการของคุณภาพสินเชื่อ ที่อาจได้รับแรงกดดันจากความสามารถในการชำระหนี้ของผู้ประกอบการ SMEs และครัวเรือนบางส่วนที่ยังเปราะบางจากภาระหนี้ที่สูงขึ้นและรายได้ที่ยังฟื้นตัวช้า ในด้านต้นทุนการกู้ยืมของภาคเอกชนโน้มสูงขึ้นตามการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ผ่านมา แต่ในภาพรวมไม่เป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยสินเชื่อธุรกิจเริ่มทรงตัวสอดคล้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ด้านค่าเงินบาทปรับแข็งค่าสอดคล้องสกุลเงินภูมิภาค ตามการคาดการณ์ทิศทางนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ เป็นสำคัญ

ซึ่งปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ ทำให้ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจไทย ว่า  จะยังฟื้นตัวได้ช้า อยู่ที่ 2.6% ในปี 2023 และ 3.0% ในปี 2024 โดยปรับลดประมาณการการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2023 ลงเหลือ 2.6% (จากประมาณการเดิม 3.1%) เนื่องจาก
- เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3 ขยายตัวต่ำกว่าคาดมาก 
- การใช้จ่ายภาครัฐหดตัวสูงขึ้น จากการเบิกจ่ายงบประมาณในปีงบประมาณ 2023 ต่ำกว่าที่ประเมินไว้
- ความล่าช้าของ พ.ร.บ. งบประมาณฯ ปีงบประมาณ 2024 
- รวมถึงจำนวนนักท่องเที่ยวจีน ที่ฟื้นตัวช้ากว่าคาดการณ์ 

ดังนั้น ในปี 2024 SCB EIC จึงปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยลงเช่นกันเป็น 3.0% (จากประมาณการเดิม 3.5%) ตามแรงส่งเศรษฐกิจที่แผ่วลง แนวโน้มการบริโภคภาคเอกชนเติบโตต่ำลงจากรายได้ครัวเรือนที่ยังฟื้นตัวไม่ทั่วถึงและหนี้ครัวเรือนที่ลดลงช้า การฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวจีนใช้เวลานานขึ้น รวมถึงการลงทุนภาครัฐมีแนวโน้มขยายตัวต่ำลงจากความล่าช้าของการประกาศใช้ พ.ร.บ. งบประมาณฯ ปีงบประมาณ 2024

ด้าน เศรษฐกิจโลกในปี 2023 คาดว่าจะขยายตัว 2.7% ชะลอลงจาก 3% ในปีก่อน และมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงเป็น 2.5% โดยจะต้องเผชิญปัจจัยกดดันหลายด้าน อาทิ ผลกระทบจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางต่าง ๆ มาตรฐานการปล่อยสินเชื่อที่เข้มงวดขึ้น และสภาพคล่องโลกที่เริ่มตึงตัวขึ้น อย่างไรก็ดี ตลาดแรงงานทั่วโลกที่มีความยืดหยุ่นสูง การค้าระหว่างประเทศที่มีแนวโน้มปรับดีขึ้น และห่วงโซ่อุปทานโลกที่เริ่มกลับสู่ภาวะปกติ จะเป็นปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 2024

ซึ่งในมุมมองนโยบายการเงินโลก SCB EIC ประเมินว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ ยุโรป และอังกฤษจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับปัจจุบันไปจนถึงกลางปี 2024 ก่อนเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายสู่ระดับที่เข้มงวดน้อยลงบ้างในช่วงครึ่งหลังของปีหน้า โดยคาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ ยุโรป และอังกฤษจะลดลงมาอยู่ที่ 4.75%, 4.0% และ 5.25% ณ สิ้นปี 2024 ตามลำดับ 

ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยนโยบายของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลักจะยังอยู่สูงกว่าระดับ Neutral rate เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อยังมีแนวโน้มอยู่สูงกว่ากรอบเป้าหมายของธนาคารกลางต่าง ๆ ที่ 2% ตลอดปี 2024 โดยประเมินว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของกลุ่มประเทศหลักจะทยอยปรับลดลงเข้าสู่ Neutral rate ได้ในช่วงปี 2025 หลังจากเงินเฟ้อกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายได้อย่างยั่งยืน

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์