แหล่งลิเทียมไทย โอกาส-ความท้าทาย อะไรต้องทบทวน

31 มีนาคม 2567 - 02:00

scb-eic-lithium-opportunities-challenges-thailand-SPACEBAR-Hero.jpg
  • SCB EIC ชวนคิด ‘ลิเทียมไทย’ โอกาส-ความท้าทาย อะไรต้องทบทวน

  • อิทธิพลตลาดยานยนต์ไฟฟ้า-แบตเตอรี่ ดัน ‘แร่ลิเทียม’ ยืนหนึ่งในอุตสาหกรรม

  • แต่ใช่ไทยด้วยหรือไม่? ปัจจัยหนุน-ปัจจัยทบทวน ในความท้าทาย ยังมีอะไรต้องคิด

ด้วยเพราะคุณสมบัติลิเทียม “สามารถถ่ายโอนประจุไฟได้ดีและน้ำหนักเบา” จึงเป็นตัวเลือกสำคัญของการผลิตแบตเตอรี่ และกล่าวได้ว่า ช่วง 3-5 ปีที่ผ่านมา ‘ลิเทียม’ เติบโตก้าวกระโดด จากการแพร่หลายมากขึ้นของความต้องการแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าและการกักเก็บพลังงานในภาคไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด โดยขยายตัวถึงราว 60% ต่อปีในช่วงปี 2020-2023 มาอยู่ที่ราว 1 ล้านตันในปี 2023 และคาดว่าจะยังมีความต้องการมากขึ้นต่อเนื่องมาอยู่ที่ราว 3.5 ล้านตันในปี 2030 สอดคล้องกับเป้าหมายการเติบโตของยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และระบบกักเก็บพลังงาน (ESS) ของโลกโดยรวมที่จะมีความต้องการแบตเตอรี่ไม่น้อยกว่า 18,000 GWh

ห่วงโซ่อุปทานของแบตเตอรี่กระจุกตัวอยู่ในไม่กี่ประเทศ

หากพิจารณาผู้เล่นหลักในตลาดเอเชียแปซิฟิก (APAC) จะพบคู่แข่งสำคัญ 3 ประเทศ ได้แก่ 
- ออสเตรเลีย ผลิตเหมืองลิเทียมเป็นอันดับหนึ่ง และกำลังฝ่าข้อจำกัดของอุตสาหกรรมแปรรูป 
- จีนครอบงำห่วงโซ่อุปทานของแบตเตอรี่ โดยการเป็นผู้นำด้านการแปรรูปลิเทียมและการสร้างความร่วมมือกับบริษัทต่างๆ ทั้งในส่วนของทรัพยากรลิเทียมและส่วนผู้ผลิตแบตเตอรี่และรถยนต์ 
- อินโดนีเซียตั้งเป้าที่จะเป็นศูนย์กลางในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า โดยมีจุดเด่นเรื่องของทรัพยากรแร่นิกเกิลและโคบอลต์ ซึ่งเป็นแร่สำคัญนอกเหนือจากลิเทียม ที่จำเป็นสำหรับการผลิตแบตเตอรี่

แนวโน้มตลาดแร่ลิเทียมและทิศทางราคาจะเป็นอย่างไร?

การแข่งขันที่เพิ่มขึ้นจากผู้เล่นที่เข้ามาในตลาดอย่างต่อเนื่อง ทำให้ปัจจุบันลิเทียมอยู่ในภาวะ Excess supply เนื่องจากแร่ลิเทียมที่ผลิตเข้าสู่ตลาดมากขึ้น ขณะที่ความต้องการลิเทียบมคาร์บอเนตในตลาดยานยนต์ไฟฟ้าที่เริ่มเติบโตในอัตราเร่งที่ลดลง และคาดว่าจะภาวะ Excess supply ของตลาดลิเทียมจะยังคงอยู่เป็นเวลาหลายปี โดยคาดว่าราคาลิเทียมคาร์บอเนตในปี 2024-2026 จะเริ่มกลับมาทรงตัวในกรอบ 12,000-13,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ลดลงจากในช่วงที่เคยแตะระดับสูงสุดที่ 70,000-80,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อตันในปี 2022 

ทั้งนี้ ในช่วงก่อนหน้า ราคาเฉลี่ยของลิเทียมระหว่างปี 2018 – 2021 จะอยู่ราว 13,000-14,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน จากนั้นในปี 2022 ความต้องการแบตเตอรี่ในตลาดยานยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทำให้ราคาของลิเทียมคาร์บอเนตพุ่งสูงขึ้นไปถึงระดับ 70,000-80,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ด้วยราคาที่พุ่งขึ้นสูงทำให้ผู้พัฒนาเหมืองเร่งผลิตแร่ลิเทียมเข้าสู่ตลาดมากขึ้น อีกทั้ง ยังมีการเพิ่มค่าใช้จ่ายในการสำรวจแร่ลิเทียม รวมถึงการเพิ่มและขยายโครงการเหมืองแร่ จนในปี 2023 

ความต้องการลิเทียมคาร์บอเนตเริ่มเติบโตในอัตราเร่งที่ลดลง ส่งผลให้ปริมาณลิเทียมที่เร่งผลิตออกมาก่อนหน้านี้มีปริมาณเกินความต้องการของตลาด จึงเกิด Excess supply จากความต้องการลิเทียมที่อยู่ราว 9 แสนตัน ในขณะที่อุปทานอยู่ที่ 1.149 ล้านตัน ผู้พัฒนาเหมืองแร่ลิเทียมบางส่วนจึงมีการทยอยขายแร่ในสต็อก (Destocking) และลดกำลังการผลิตลง ส่งผลให้ราคาเฉลี่ยทั้งปี 2023 ของลิเทียมคาร์บอเนตลดลงเหลือประมาณ 33,892 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน

จากสภาพตลาดในปัจจุบันที่อยู่ในภาวะ Excess supply และคาดว่าจะกระทบต่อราคาลิเทียมในอนาคตเช่นกัน โดยราคาของทั้งลิเทียมคาร์บอเนตและลิเทียมไฮดรอกไซด์ในช่วงปี 2024-2026 คาดว่าจะยังคงอยู่ในระดับต่ำใกล้เคียงกับในช่วงปลายปี 2023 ที่ราว 12,000-13,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน

scb-eic-lithium-opportunities-challenges-thailand-SPACEBAR-Photo01.jpg

โอกาส-หลายความท้าทาย ทบทวนอุตฯ ‘ลิเทียม’ ในไทย

สำหรับโอกาสทางธุรกิจในไทย SCB EIC ประเมินว่า ความคุ้มค่าในการลงทุนเหมืองไปจนถึงการแปรรูปลิเทียมในเชิงธุรกิจในแหล่งทรัพยากรแร่ของไทย ยังไม่น่าสนใจในปัจจุบัน ทั้งจากราคาลิเทียมคาร์บอเนตที่อยู่ในระดับต่ำ ประเด็นเรื่อง ESG และการแข่งขันจากใน APAC 

โดยเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ไทยได้มีการค้นพบทรัพยากรแร่ 14.8 ล้านตัน ประกอบไปด้วยลิเทียมออกไซด์ราว 6.6 หมื่นตัน ซึ่งสามารถผลิตลิเทียมคาร์บอนเนตได้ราว 1.64 แสนตัน หรือสามารถนำมาเป็นองค์ประกอบในการผลิตแบตเตอรี่ได้ราว 40-100 GWh  (หรือเทียบเท่ากับการนำแบตเตอรี่ไปผลิตยานยนต์ไฟฟ้าได้ราว 6 แสนคัน-1.6 ล้านคัน และหากไปผลิต Energy Storage System (ESS) สำหรับการผลิตไฟฟ้าจะสามารถสำรองพลังงานเพื่อจ่ายไฟฟ้าได้ 40-100 GWh) การค้นพบนี้นับเป็นโอกาสต่ออุตสาหกรรมแบตเตอรี่ของไทย ที่จะนำไปใช้เป็นวัตถุดิบส่วนต้นน้ำของห่วงโซ่อุปทานแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน

อย่างไรก็ดี ท่ามกลางโอกาส ยังมีความท้าทายในการลงทุนอยู่หลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็น ความคุ้มค่าในการลงทุนเหมืองลิเทียมจนถึงแปรรูปเป็นลิเทียมคาร์บอเนตซึ่งยังมีผลตอบแทนที่ค่อนข้างต่ำในปัจจุบัน (คาดว่า IRR จะอยู่ที่ราว 7% ซึ่งต่ำกว่าต้นทุนทางการเงินที่ราว 8%) จากราคาลิเทียมคาร์บอเนตที่อยู่ในระดับต่ำที่ราว 13,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน กอปรกับประเด็นผลกระทบสิ่งแวดล้อม (ESG) ที่การทำเหมืองจะกระทบต่อความเป็นอยู่ของชุมชนรอบข้างและสิ่งแวดล้อม ซึ่งไทยยังต้องศึกษาถึงผลกระทบในเชิงลึกก่อนตัดสินใจลงทุนอีกมาก รวมไปถึง ประเด็นการแข่งขันและการได้เปรียบเชิงการค้ากับคู่แข่งหลักในตลาด APAC ที่ต้องเผชิญกับคู่แข่งในทุกห่วงโซ่อุปทานการผลิต โดยเฉพาะจาก จีน ออสเตรเลีย และอินโดนีเซีย เจ้าตลาดและมีความได้เปรียบทางการค้าค่อนข้างมาก

นอกจากนี้ ยังควรพิจารณาถึง ต้นทุนค่าเสียโอกาสจากทั้งสิ่งแวดล้อมและชุมชน ด้วย ซึ่งจะต้องพิจารณาถึงพื้นที่ที่จะทำเหมืองว่ามีกิจการหรือมีต้นทุนที่ต้องเสียประโยชน์อะไรบ้าง โดยหากพิจารณาถึงพื้นที่ก่อสร้างเหมืองทั้งสองแหล่ง ทั้ง แหล่งเรืองเกียรติ และแหล่งบางอีตุ้ม ที่ ต.ท่าอยู่ อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา จะพบว่ามีบริเวณใกล้เคียงเป็นชุมชน และใกล้จุดท่องเที่ยวที่เป็นจุดชมวิวฝั่งทะเลอ่าวพังงาด้วย

หากนำต้นทุนเรื่องค่าเสียโอกาสของพื้นที่มาพิจารณาด้วย คาดว่าจะทำให้ต้นทุนโครงการ (Capex) และต้นทุนการดำเนินงาน (Opex) สูงขึ้นอีก และจะส่งผลให้ IRR ของโครงการลดลง (Downside risk) อีกจากเดิมที่ IRR ราว 7-8% ก็จะยิ่งทำให้โครงการลดความน่าสนใจลงตามไปด้วย 

ขณะที่ใน ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคมและธรรมาภิบาล (ESG) นั้นกล่าวได้ว่า ในการทำเหมืองลิเทียม ยังต้องได้รับการยืนยันทางการแพทย์และการศึกษาสำหรับผลกระทบเชิงสุขภาพและเศรษฐกิจในระยะยาว จากอดีตในหลายๆ เหมือง ทั้งในจีน และในกลุ่มประเทศอเมริกาใต้ที่สิ่งแวดล้อมและชุมชนได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะการเกษตรและการปนเปื้อนของลิเทียมในน้ำดื่ม 

โดยหลายประเทศที่ทำเหมืองลิเทียม จะพบว่ามีการปนเปื้อนของลิเทียมในแหล่งน้ำธรรมชาติต่างๆ เช่น น้ำบาดาล (Ground water) แม่น้ำ (Surface water) และน้ำดื่ม (Drinking water) ยกตัวอย่าง เหมืองลิเทียม ใน Ganzizhou Rongda ประเทศจีน ที่พบว่ามีการปนเปื้อนของลิเทียมในแม่น้ำ (Surface water) ส่งผลให้ปลาในแม่น้ำตายผิดปกติ

และยังพบว่ามีวัวในภาคเกษตรบางส่วน ล้มตายจากการดื่มน้ำในแม่น้ำบริเวณใกล้เหมือง รวมถึงเหมืองลิเทียมในประเทศกลุ่มอเมริกาใต้อย่าง อาร์เจนตินา โบลิเวีย และชิลี ก็พบการปนเปื้อนของลิเทียมในแม่น้ำ (Surface water) สูง และมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนในทำนองเดียวกัน 

อย่างไรก็ตาม จากปริมาณลิเทียมที่ปนเปื้อนในแหล่งน้ำบริเวณใกล้เหมืองที่จะกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์และสัตว์ต่างๆ ยังไม่มีรายงานอย่างเป็นทางการจากองค์การอนามัยโลก ว่าปริมาณของลิเทียมในแหล่งใดและปริมาณเท่าใดจะก่อให้เกิดอันตรายหรือผลกระทบต่อสุขภาพทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

ซึ่งแน่นอนว่าโครงการใหม่ ๆ จะมีแรงกดดันในด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมที่มากขึ้นจากกระแสด้านสิ่งแวดล้อม การตระหนักรู้ของประชาชน ตลอดจนนโยบายและกฎระเบียบต่างๆ ที่เข้มงวดขึ้น ในปัจจุบัน

ส่วนความท้าทายด้านธรรมาภิบาลต้องยอมรับว่ามีความแตกต่างกันในแต่ละประเทศ ทั้งเรื่องการเมือง และภาครัฐที่จะมีการกำกับดูแลและปฏิบัติเกี่ยวกับจรรยาบรรณในเรื่องธรรมาภิบาลที่แตกต่างกัน สำหรับประเทศไทย ปัจจุบันภาครัฐมีการตื่นตัวเรื่องธรรมาภิบาลมากขึ้น โดยจะมีประกาศจากทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการทำเหมืองแร่อย่างมีธรรมาภิบาล และในส่วนของการดำเนินงานโครงการก็มีความทันสมัยและโปร่งใส ทั้งการขออนุญาตและการดำเนินการ ตามยุทธศาสตร์การบริหารจัดการแร่ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) ซึ่งจะเป็นข้อกำหนดและกรอบให้ทั้งผู้ประกอบการและภาครัฐได้ทำงานอย่างมีธรรมาภิบาล

สำหรับ ประเด็นเรื่องการแข่งขันและความได้เปรียบเชิงการค้า ปริมาณแร่ลิเทียมที่ค้นพบในไทยถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับปริมาณแร่ที่พบในประเทศอื่น ดังนั้น ค่อนข้างยากหากไทยจะแข่งขันการส่งออกแร่ที่ยังไม่ผ่านการแปรรูป และหากจะแข่งขันด้านการแปรรูปก็ยังต้องเผชิญกับการแข่งขันสูงจากจีน ที่ถือว่าเป็นผู้ครองตลาดการแปรรูปลิเทียมมาอย่างยาวนาน รวมถึงออสเตรเลียที่พยายามจะผลักดันอุตสาหกรรมการแปรรูปในประเทศด้วย ซึ่งทำให้ทั้งสองประเทศนี้มีความได้เปรียบด้านต้นทุนเป็นอย่างมาก 

ส่วนอินโดนีเซียแม้จะไม่ได้เป็นคู่แข่งในตลาดแร่ลิเทียมโดยตรง แต่จากจุดเด่นเรื่องของทรัพยากรแร่นิกเกิลและโคบอลต์ ทำให้อินโดนีเซียยังคงเป็นผู้เล่นที่ต้องจับตามองในแง่ของการลงทุนโรงงานผลิตแบตเตอรี่ใหม่สำหรับอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าที่เป็นส่วนของธุรกิจปลายน้ำ

อย่างไรก็ตาม หากมองข้ามเรื่องความคุ้มค่าทางด้านการเงิน ต้นทุนทางสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้น และการแข่งขันของตลาดลิเทียมในระดับสากล การลงทุนโครงการเหมืองแร่ลิเทียมในไทยอาจมีความน่าสนใจมากขึ้น หาก...

1. ภาครัฐต้องการสร้างระบบนิเวศ (Ecosystem) สำหรับการผลิตแบตเตอรี่ขึ้นมาในประเทศไทย สำหรับป้อนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและพลังงานสะอาด ซึ่งจะลดการนำเข้าแร่ลิเทียมจากต่างประเทศและหันมาเพิ่มการพึ่งพาตัวเอง โดยทางหน่วยงานรัฐอาจส่งเสริมการลงทุนโดยใช้ Tax incentive เพื่อจูงใจการลงทุนได้ด้วย

2. ผู้ประกอบการที่ผลิตแบตเตอรี่ในไทย ต้องการเสริมความมั่นคงในห่วงโซ่อุปทานของตน โดยการควบรวมกิจการเหมืองแร่ลิเทียมไปจนถึงผลิตแบตเตอรี่ (ต้นน้ำ-ปลายน้ำ) ซึ่งจะทำให้ผู้ผลิตสามารถควบคุมต้นทุนการผลิตได้และช่วยให้มีต้นทุนต่อหน่วยที่ต่ำลง และ 

3. มีการสำรวจและค้นพบแร่หายากและแร่มีค่าอื่น ๆ ที่มักจะพบในแหล่งแร่ลิเทียมด้วย ซึ่งจะช่วยให้สามารถเพิ่มรายได้ของโครงการเหมืองได้นอกเหนือจากการขายเพียงแค่ลิเทียม เช่น แร่ลูบิเดียมและซีเซียม (ซึ่งมีสัดส่วนน้ำหนักราว 0.2-1% ของทรัพยากรแร่) หรือ ซิลิกอนและอะลูมิเนียม (มีสัดส่วนสูงราว 50% และ 20% ของทรัพยากรแร่ตามลำดับ)

ข่าวที่น่าสนใจ

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์