SCN หุ้นเล็ก มีปันผล สยายสู่สถานีชาร์จ-ผลิตไฮโดรเจน

3 มีนาคม 2567 - 04:46

scn-performance-action-plan-2024-ev-station-hydrogen-engery-SPACEBAR-Hero.jpg
  • ซีอีโอ SCN เล่าถึง ‘ไฮโดรเจน’ พลังงานอนาคต ที่เล็งรุกเต็มที่ในปี 2567 คู่กับ EV Charger โซลาร์โฮม

  • มีเป้ารายได้ จะโตต่อจากปี 66 ที่ 10-20%

  • ก่อนโชว์ผลประกอบการปี 66 กำไรโต 28% เคาะจ่ายปันผล 0.0124 บาท/หุ้น

‘พลังงานไฮโดรเจน’ ถูกพูดถึงมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ในฐานะเป็นอีกหนึ่งพลังงานทดแทนที่น่าจับตามอง เนื่องจากมีข้อดีหลายข้อที่แตกต่างจากพลังงานหมุนเวียนประเภทอื่น ธุรกิจพลังงานอย่างบริษัท สแกน อินเตอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCN จึงเล็งสยายงาน สู่โหมด ‘ไฮโดรเจน’ ด้วย 

ดร.ฤทธี กิจพิพิธ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฯ หรือ ซีอีโอ SCN เผย เพราะการผลิตไฮโดรเจน ยังมีหลายองค์ประกอบที่ต้องคำนึง ทั้งด้านต้นทุนที่ยังสูง ธุรกิจมีความซับซ้อนกว่าธุรกิจการกลั่นน้ำมันที่มีอยู่ รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานเกี่ยวกับไฮโดรเจนยังมีอยู่น้อยมาก จึงไม่สะดวกนักหากจะนำมาใช้กับบุคคลทั่วไป SCN จึงจะรุกทำธุรกิจ การผลิตไฮโดรเจน (H2) หรือบลูไฮโดรเจน เพื่อเป็นเชื้อเพลิงและเป็นก๊าซพิเศษให้แก่บางอุตสาหกรรมที่ต้องการใช้ โดยขณะนี้อยู่ในช่วงของการศึกษาความเป็นไปได้ ในการลงทุนธุรกิจก๊าซธรรมชาติรูปแบบใหม่แห่งอนาคต วางงบลงทุนไว้ที่ 300 ล้านบาท ล่าสุด ได้ว่าจ้างบริษัทปรึกษาระดับโลกทำการศึกษา ใช้เงินเพื่อการศึกษานี้ 60 ล้านบาท มั่นใจว่า ‘เทรนด์นี้มาแน่’ เป็นการต่อยอดธุรกิจให้ SCN ได้ในอนาคต

รู้จักกระบวนการได้มาของ ‘ก๊าซไฮโดรเจน’

ปัจจุบัน ก๊าซไฮโดรเจน มีแนวโน้มจะเข้ามาทดแทนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน มากขึ้นในภาคอุตสาหกรรม การขนส่ง และการผลิตไฟฟ้า เนื่องจากพลังงานจากก๊าซดังกล่าวปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่า...ซึ่งสำหรับประเทศไทย กำลังการผลิตก๊าซไฮโดรเจนส่วนใหญ่ เป็นกำลังการผลิตของก๊าซ ‘เกรย์ไฮโดรเจน’ หรือไฮโดรเจนสีเทา เพราะต้นทุนการผลิตต่ำกว่าต้นทุนการผลิตก๊าซไฮโดรเจนชนิดอื่นๆ

แต่ยังถือว่า การใช้ก๊าซเกรย์ไฮโดรเจนเป็นเชื้อเพลิง จัดอยู่ในภาคส่วนที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกจำนวนมาก อย่างธุรกิจโรงไฟฟ้าฟอสซิล (ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน) อาจไม่ช่วยให้ไทยสามารถบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ได้ โดยก๊าซไฮโดรเจนชนิดอื่นๆ ที่อาจช่วยให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว นั่นคือ ก๊าซบลูไฮโดรเจน และกรีนไฮโดรเจน

มีทั้งบลู และกรีน แล้วสรุปว่า ‘ไฮโดรเจน’ มีกี่สี

ทั้งนี้ทั้งนั้น เพื่อให้เห็นภาพที่มาของการผลิต จึงยังคงมีการแบ่งสี ทั้งน้ำตาล เทา น้ำเงิน และเขียว ตามเชื้อเพลิงที่ใช้ผลิต คือ
- ไฮโดรเจนสีน้ำตาล (Brown Hydrogen) เป็นก๊าซไฮโดรเจนที่ใช้เชื้อเพลิงในการผลิต มาจาก ‘ถ่านหิน’ ซึ่งเป็นกระบวนการที่นำถ่านหินมาเผาบางส่วน พร้อมทั้งมาทำปฏิกิริยากับไอน้ำ จนเกิดเป็นก๊าซไฮโดรเจนที่มีสัดส่วนก๊าซคาร์บอนไดอออกไซด์ที่สูงสุด
- ไฮโดรเจนสีเทา (Grey Hydrogen) เนื่องจากถูกผลิตจากก๊าซธรรมชาติ และยังมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิต จึงยังไม่ใช่พลังงานสะอาดที่แท้จริง 
- ไฮโดรเจนสีน้ำเงิน (Blue Hydrogen) ผลิตโดยใช้ก๊าซธรรมชาติเช่นกัน แต่มีกระบวนการดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ทำให้ไฮโดรเจนสีฟ้านั้นสะอาดกว่าไฮโดรเจนสีเทา 
- ไฮโดรเจนสีเขียว (Green Hydrogen) คือ การผลิตก๊าซไฮโดรเจนโดยไม่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล มีกระบวนการแยกน้ำด้วยไฟฟ้า (Electrolysis) โดยใช้พลังงานไฟฟ้ามาแยกโมเลกุลของน้ำออกเป็นไฮโดรเจนและออกซิเจน ดังนั้น ในการผลิตไฮโดรเจนสีเขียว จึงต้องอาศัยไฟฟ้าที่มาจากแหล่งพลังงานสะอาดคาร์บอนต่ำ เช่น พลังงานลมหรือพลังงานแสงอาทิตย์​

เห็นภาพดังนี้แล้ว ก็บอกได้ว่า บลูไฮโดรเจน ที่ SCN กำลังเดินหน้าจัดว่า ตอบโจทย์โลก และภาคอุตสาหกรรมเลยทีเดียว ต้องจับตาต่อไปว่า การศึกษานี้จะให้ผลอย่างไรบ้าง สร้างการเติบโตให้ SCN ในอนาคตอย่างไร?

และในฐานะที่ SCN ทำทั้งธุรกิจก๊าซธรรมชาติ พลังงานทดแทน และขนส่งแบบครบวงจร นอกจากเล็งเทรนด์เติบโตของธุรกิจไฮโดรเจนแล้ว อีกธุรกิจที่กำลังเดินหน้า คือ ธุรกิจ EV Charger โซลาร์โฮม จับกลุ่มลูกค้า หอพัก อพาร์ตเมนต์ โรงแรม ที่รายใหญ่ไปไม่ถึง วางงบลงทุน 20 ล้านบาท ชื่อโครงการ ‘Private PPA’ (สัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับเอกชน) อีวี ชาร์จเจอร์ โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการเจรจาลูกค้าประมาณ 20 แห่ง คาดว่าจะเป็นธุรกิจที่สามารถเติบโตได้มากในอนาคต และให้ผลตอบแทนจากการลงทุน (IRR) อยู่ที่ราว 10%

ซีอีโอ SCN ยังทิ้งท้ายด้วยผลการดำเนินงานปี 2566 ของ SCN ว่า บริษัทฯ เคาะจ่ายปันผล 0.0124 บาท/หุ้น (ขึ้น XD 7 พฤษภาคม และจ่าย 23 พฤษภาคม 2567) หลังผลประกอบการปี 2566 รับรู้รายได้จากการขายและบริการอยู่ที่ 1,878 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 34% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยสามารถทำกำไรเติบโตได้สุทธิ 167 ล้านบาท เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน นับเป็นกำไรสุทธิแบบออร์แกนิค อยู่ที่ 132 ล้านบาท เพิ่มขึ้นมา 28% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ซึ่งเป็นการเติบโตแบบ Organic Growth หรือการเติบโตจากความแข็งแกร่งขององค์กร นั่นเอง

ข่าวที่น่าสนใจ

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์