ความลับที่ทำให้ Bernard Arnault คือมหาเศรษฐีหมายเลขหนึ่ง

10 กุมภาพันธ์ 2566 - 09:41

Secrets-that-made-Bernard-Arnault-the-number-one-billionaire-SPACEBAR-Thumbnail
  • มาดูเส้นทางการสร้างอาณาจักรแบรนด์เนมของ Bernard Arnault

  • กลยุทธ์ธุรกิจที่เฉียบคม ความกล้าลอง และความลับในการกลืนคู่แข่ง

ชื่อของ เบอร์นาร์ด อาร์โนลต์ (Bernard Arnault) อาจไม่คุ้นหูเท่ากับมหาเศรษฐีดเจ้าของธุรกิจเทคใหญ่ๆ อย่าง อีลอน มัสก์ เจฟ เบโซส์ หรือ บิล เกตส์ นั่นเพราะยุคนี้คือยุคสมัยของบิ๊กเทค แต่เมื่อนับเงินกันจริงๆ เจ้าพ่อเทคทั้่งหลายยังต้องพ่ายให้กับ เบอร์นาร์ด อาร์โนลต์ เจ้าของแบรนด์หรู ผู้ครองตำแหน่งมหาเศรษฐีอันดับ 1 ครั้งแล้วครั้งเล่า 

เขาคือเจ้าของ LVMH ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของ LV (Louis Vuitton) ราชินีแห่งวงการแบรนด์เนม และ (Moët Hennessy) ราชาแห่งวงการเมรัย 

แต่ก่อนจะมาเป็นเจ้าของแบรนด์หรูที่มีมูลค่าสูงที่สุดแบรนด์หนึ่งของโลก (และยังทำให้เขาเป็นคนที่รวยที่สุดในโลก) เบอร์นาร์ด อาร์โนลต์ เริ่มต้นจากโลกอีกใบหนึ่่ง เป็นโลกที่ไม่เกี่ยวอะไรกับสินค้าหรูหราเลยด้วยซ้ำ 

เส้นทางของเขากว่าจะมาถึงวันนี้ไม่ใช่สั้นๆ แต่เราจะสรุปให้มันยาวน้อยลงสักหน่อยเพื่อให้เข้าใจแก่นแท้ความสำเร็จของผู้ชายคนนี้  
1. แน่นอนว่า เบอร์นาร์ด อาร์โนลต์ ไม่ได้เกิดมายากจน เขาเติบโตมาในตระกูลชนชั้นกลางค่อนข้างสูง พ่อของเขาเป็นผู้จัดการธุรกิจ แม่ของเขาเป็นลูกสาวตระกูลซาวิแนล ผู้ก่อตั้งบริษัทก่อสร้าง Ferret-Savinel พ่อของเขาพบรักกับแม่ตอนที่เขามาทำงานเป็นวิศวกรให้กับบริษัทนี้ 

2. ไม่ใช่แค่ได้กับลูกสาวเจ้าของบริษัท แต่พ่อตายังมอบหมายให้พ่อของ เบอร์นาร์ด อาร์โนลต์ รับช่วงดูแลธุรกิจ Ferret-Savinel ต่อไป และเมื่อ อาร์โนลต์ เรียนจบแล้ว (จากสถาบัน École polytechnique ที่เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรม) เขาก็มาช่วยดูแลกิจการของครอบครัวในปี 1971 จากนั้นได้เป็นผู้อำนวยการโครงการก่อสร้างในปี 1974 เป็นผู้จัดการทั่วไปในปี 1977 และบริหารบริษัทโดยรับช่วงต่อจากพ่อของเขาในปี 1978 

3. เขาค่อยๆ ก้าวขึ้นมาสู่ตำแหน่งสูงสุดในบริษัทเมื่ออายุแค่ 28 ปี หลังจากรับช่วงต่อ เขายังเกลี้ยกล่อมให้พ่อขายกิจการส่วนรับเหมาก่อสร้างทั้งหมดแม้ว่ามันจะเป็นกิจการหลักของบริษัทก็ตาม เมื่อได้เงินมา 40 ล้านฟรังค์ เขาก็เปลี่ยน Ferret-Savinel ให้เป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์ พร้อมกับชื่อใหม่ Férinel ที่เชี่ยวชาญด้านที่พักสำหรับนักท่องเที่ยว 

4. เราจะเห็นว่าเส้นทางของ เบอร์นาร์ด อาร์โนลต์ เหมือนจะราบรื่นและง่ายดายเพราะความเป็นลูกคนรวยมาตั้งแต่แรก แต่อย่าลืมว่าเมื่อเขารับช่วงบริษัทมา แทนที่จะสานต่อธุรกิจแบบเดิมๆ เขากลับเปลี่ยนรูปแบบของบริษัทแทบจะสิ้นเชิง ความกล้าที่จะลองธุรกิจแบบใหม่ๆ คือลักษณะเด่นอย่างหนึ่งของเขา และลักษณะเด่นอีกอย่างคือ ‘ความไม่ไว้ใจรัฐบาล’ ซึ่งมีอำนาจในการกำหนดอนาคตภาคธุรกิจสูงมากในเวลานั้น 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/5gD4Xf4CUaDrKnnc9Wv92W/fe8f75d8b81dfdddb32492c35242fef2/Secrets-that-made-Bernard-Arnault-the-number-one-billionaire-SPACEBAR-Photo01
Photo: Pierre GUILLAUD / AFP
5. รัฐบาลฝรั่งเศสต่างจากรัฐบาลประเทศแองโกล-อเมริกันที่ไม่ว่าจะเป็นซ้ายหรือขวา ก็จะไม่พยายามทำลายระบอบทุนนิยม แต่รัฐบาลฝ่ายซ้ายของฝรั่งเศสไม่เป็นอย่างนั้น พวกเขาพร้อมที่้จะทุบนายทุนให้ป่นปี้ ถ้าหากพบว่านายทุนกำลังเอาเปรียบเศรษฐกิจของชาติ ดังนั้น เมื่อ ฟร็องซัว มีแตร็อง ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีฝรั่งเศส ด้วยแนวทางบริหารประเทศแบบซ้าย (ไม่เอาใจธุรกิจ เน้นสวัสดิการประชาชน) เบอร์นาร์ด อาร์โนลต์ ก็อยู่ต่อไม่ไหว 

6. เป็นอีกครั้งที่เขาตัดสินใจแบบพลิกหน้ามือเป็นหลังมือ เพราะความระแวงนโยบายไม่เอาใจธุรกิจของ มีแตร็อง ดังนั้น เบอร์นาร์ด อาร์โนลต์ จึงเลือกที่จะไม่อยู่ที่ฝรั่งเศสต่อมันซะเลย เขาย้ายไปอยู่สหรัฐในปี 1981 แล้วปล่อยให้คนสนิทบริหารธุรกิจแทนเขา ที่สหรัฐ อาร์โนลต์ จะทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่เขาถนัดต่อไป แต่มันก็ไม่ได้โดดเด่นอะไรนัก จนกระทั่งเขาหวนกลับมาฝรั่งเศสอีกครั้งในปี 1984 

7. การกลับมาครั้งนี้ โชคชะตาของเขาจะเปลี่ยนไปตลาดกาล เพราะมีคนเสนอให้เขาซื้อกลุ่มบริษัท Boussac ซึ่งเป็นเจ้าของแบรนด์ Christian Dior ตอนนั้นเจ้าของกลุ่มบริษัทนี้มีปัญหากับรัฐบาลและยังเจอกับวิกฤตธุรกิจเหมือนกับธุรกิจสิ่งทออื่นๆ ในยุโรปตอนนั้น ความจริงธุรกิจที่มีแต่ปัญหาแบบนี้ไม่น่าที่ อาร์โนลต์ จะซื้อมาให้ลำบากเล่น แต่เขากลับเลือกที่จะซื้อมันมาครอบครอง 

8. ตอนนั้น อาร์โนลต์ ถือว่ารวยก็จริง แต่ไม่ใช่คนรวยขนาดมีเงินเอามาซื้อธุรกิจเล่นๆ เขาเป็นแค่เจ้าของบริษัทอสังหาฯ ระดับรองๆ สิ่งที่ทำให้เขามีอำนาจการซื้อ Boussac มาได้ คือสายสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับ อองตวน แบร์แนง (Antoine Bernheim) นักการธนาคารผู้ทรงอิทธิพลแห่งธนาคาร Banque Lazard ผู้มีฉายาว่า ‘นักการธนาคารผู้ตั้งพระราชา’ (banquier faiseur de roi) และ ‘เจ้าพ่อทุนนิยมแห่งฝรั่งเศส’ (le parrain du capitalisme francais) 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/1PiircE5dDG9S8eTU0cnxN/9256288fb0effeecb16eca94ba493353/Secrets-that-made-Bernard-Arnault-the-number-one-billionaire-SPACEBAR-Photo02
Photo: KAZUHIRO NOGI / AFP
9. มีเงินจากเจ้าพ่อการเงินยังไม่พอ อาร์โนลต์ ยังต้องมีแผนที่เหนือกว่าคู่แข่งด้วย การหาคนมาซื้อ Boussac ในตอนนั้น รัฐบาลฝรั่งเศสต้องการจะรักษาตำแหน่งงานเอาไว้ (ตามแนวทางของรัฐบาลฝ่ายซ้าย) ดังนั้น นักธุรกิจคนไหนมีคำมั่นสัญญาว่าจะช่วยคนงานของ Boussac ได้มากที่สุด คนนั้นก็จะได้มันไปครอง ปรากฎว่า อาร์โนลต์ เสนอแผนที่จะรักษาตำแหน่งงานเอาไว้ 12,252 จากคนทำงานเดิม 16,000 ตำแหน่ง  

10. แต่พอซื้อมาได้ อาร์โนลต์ ไม่ได้รักษาสัญญา ภายในเวลาไม่กี่เดือนตำแหน่งานในบริษัทถูกตัดลงเหลือแค่ 8,700 ตำแหน่ง ซึ่งน้อยกว่าที่สัญญาหลายพันตำแหน่ง เขายังจัดการปรับโครงสร้างบริษัท ขายกิจการบางอย่างไป ทำให้เงิน 40 ล้านฟรังค์ที่หยิบยืมมาากเจ้าพ่อการเงิน งอกขึ้นมาเป็น 8,000 ล้านฟรังค์ และนั่นทำให้เขากลายเป็นหนึ่งในคนที่รวยที่สุดในโลกตั้งแต่ปลายทศวรรษที่ 1980s แล้ว ไม่ใช่เพิ่งจะมาติดอันดับมหาเศรษฐีโลกในตอนนี้  

11. ถึงตอนนี้ อาร์โนลต์ กลายเป็นไทคูนแห่งวงการแฟชั่นชั้นสูงเต็มตัวแล้วในฐานะผู้บริหารของ Dior และดูเหมือนเขาจะติดใจวงการนี้ สายตาของเขาจึงมองไปที่แบรนด์เนมอีกรายคือ LVMH ซึ่งเจอกับวิกฤตการเงินในปี 1987 เป็นโอกาสเหมาะที่จะเข้าไปซื้อมา และเป็นอีกครั้งที่ อาร์โนลต์ ได้เงินทุนหนุนหลังจากนายธนาคารคู่ใจคือ อองตวน แบร์แนง แต่มันยังมีอะไรที่มากกว่าเงินที่ทำให้ อาร์โนลต์ เข้ามากุม LVMH ได้สำเร็จ 

12. อย่างที่ชื่อบอกไว้ LVMH เป็นการรวมตัวกันของสองกิจการ และยังแบ่งกันบริหารโดยสองตระกูล ซึ่งไม่ลงรอยกันหนักขึ้นเรื่อยๆ ฝ่ายหนึ่งต้องการจะขายกิจการสุราเมรัย (Moët Hennessy) อีกฝ่ายหนึ่งต้องการให้ Louis Vuitton เป็นอิสระ ความขัดแย้งนี้รุนแรงถึงขนาดที่ผู้ถือหุ้นคนอื่นๆ ทนไม่ไหว ต้องเชื้อเชิญให้ อาร์โนลต์ มาถือหุ้นส่วนใหญ่เสียเลย โดยที่กลุ่มที่แตกแยกกันพยายามขัดขวางไม่ให้เขาเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/8TVsLOWFLiivB4ZvRHjuX/8d57410a520321762af95afc61d2c6fb/Secrets-that-made-Bernard-Arnault-the-number-one-billionaire-SPACEBAR-Photo03
Photo: Yoan VALAT / POOL / AFP
13. แต่ อาร์โนลต์ เชี่ยวกว่า เขาอาศัยความแตกแยกนี้ ทำให้ผู้ถือหุ้นอื่นๆ เห็นความสำคัญในฐานะคนกลางที่มีวิสัยทัศน์และปราศจากการชิงดีชิเด่น จนกระทั่งสั่งสมอิทธิพลมากพอ ทำให้เขากลายเป็นประธานบริษัทในที่สุด อย่างแรกๆ ที่เขาทำหลังจากนั้นคือ ไล่หัวหน้ากลุ่มที่ขัดแย้งกันออกไปจาก LVMH ซะ จากนั้นกำหนดทิศทางของ LVMH ให้ชัดเจน และทำให้บริษัทที่แตกแยก มีเอกภาพและมีความหวังอีกครั้ง  

14. อาร์โนลต์ เชื่อว่าการบริหารแบรนด์ระดับไฮเอนด์จะราบรื่นได้จะต้องทำแบบกระจายอำนาจ แต่ละบริษัทต้องบริหารกันอย่างเป็นอิสระ นี่คือวิธีการการบริหารภายในที่ต่างจากก่อนหน้านี้ที่ LVMH เกือบจะพัง เพราะการรวมสองกิจการที่ต่างกันเกินไป แต่มีโครงสร้างบริหารที่มีประธานสองคน ซึ่งดูเหมือนจะเป็นเอกเทศ แต่พวกเขากลับล้ำเส้นกันเอง อาร์โนลต์ ยังคิดว่ามันควรเป็นเอกเทศ แต่ต้องเป็นอิสระจากกันจริงๆ ภายใต้ร่มเงาของกลุ่มบริษัทเดียวกัน 

15. สำหรับความท้าทายภายนอก เขามุ่งกลืนคู่แข่งด้วยการซื้อมันมาครอง แล้วใช้แบรนด์ที่แกร่งกว่าในกลุ่มบริษัทเป็นตัวผลักดันแบรนด์เกิดใหม่ (หรือที่ได้มาใหม่) ให้มันเติบโต เขาใช้กลยุทธ์นี้มาตั้งแต่ทศวรรษที่ 1980s ในตอนนี้ เขาอาจจะเป็นที่รู้จักควบคู่กับกลุ่มบริษัท LVMH แต่ถ้าจะไล่ชื่อกิจการที่เขาเป็นเจ้าของหรือถือหุ้นใหญ่ คงจะนบกันไม่ไหวเลยทีเดียว และหลายๆ กิจการเรารู้จักกันดีมากด้วย 

16. บางครั้งการกลืนกิจการคู่แข่งของเขาร้ายกาจเอามากๆ เช่น กรณีของการแทรกซึมเข้าไปเพื่อชิง Hermès ระหว่างปี 2008 - 2013 ซึ่งตอนนั้น Hermès มีเจ้าของคือตระกูลแอร์แมส แต่ อาร์โนลต์ ต้องการแบรนด์นี้มาเป็นเจ้าของ ดังนั้นเขาและนักบริหารคู่ใจจึงเริ่มวางแผนปฏิบัติการยึดครองที่ชื่อ Opération Mercure เป้าหมายก็คือให้ LVMH ค่อยๆ เพิ่มทุนใน Hermès แบบไม่ให้รู้ตัว ทั้งยังคอยสอดแนมคนในตระกูลนี้ เพื่อรอจังหวะที่ตระกูลแอร์แมสอ่อนแอแล้วจะเทคโอเวอร์ 

17. จังหวะมาถึงเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2010 ในชั่วข้ามคืน LVMH ประกาศว่าบริษัทถือหุ้น Hermès 14.2% และสามารถเพิ่มขึ้นเป็น 17.1% ก่อนที่จะถึง 22% เจอเซอร์ไพรส์แบบนี้ คนในตระกูลแอร์แมสและฝ่ายบริหารของกลุ่มบริษัท Hermès ถึงกับทำอะไรไม่ถูก แต่ถึงขนาดี้แล้วแผนการของ อาร์โนลต์ กลับไม่สำเร็จ เพราะสมาชิกของตระกูลแอร์แมสไม่อ่อนแอตามคาด และยังไม่แตกแยกง่ายๆ เมื่อเจอศัตรู-ภายนอกพวกเขาพร้อมใจกันสามัคคีปกป้องบริษัทเอาไว้ได้

18. นี่เป็นแค่ส่วนหนึ่งของความลับความรวยของเขา เบอร์นาร์ด อาร์โนลต์ ครองตำแหน่งคนที่รวยที่สุดในโลกหลายครั้ง เขาขึ้นๆ ลงๆ ระหว่างอันดับที่ 1 และที่ 3 จนกระทั่งในเดือนธันวาคม 2022 เขาโค่น อีลอน มัสก์ ออกจากบัลลังก์ด้วยการกลายเป็นผู้มั่งคั่งที่สุดในโลก (คำนวณพร้อมทรัพย์สินของครอบครัวของเขา) จากประมาณการโดยนิตยสาร Challenges ที่ 1.49 แสนล้านยูโร ในเดือนกุมภาพันธ์ 2023 นิตยสาร Forbes ประเมินมูลค่าทรัพย์สินของเขาไว้ที่ 2.14 แสนล้านดอลลาร์  

19. ในการให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ฝรั่งเศส Le Monde เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2019 เขากล่าวว่า “ไม่ใช่เงินเลยหรอกที่มีอยู่ในบัญชีของผม มันคือมูลค่าหุ้นของกลุ่ม หุ้นขึ้นก็ขึ้น หุ้นลงก็ลง” เห็นได้ชัดว่านี่เป็นคำพูดที่ถ่อมตัว เอาเข้าจริง ไลฟ์สไตล์ที่แสดงถึงความร่ำรวยสุดๆ ของเขา และอิทธิพลอันล้นเหลือของเขาต่อธุรกิจและการเมืองไม่ได้ดูเรียบง่ายขนาดนั้นเลย 

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์