ตลท.-กลุ่มตลาดทุน เอาจริง ‘จับปลอมหลอกลงทุน’

25 ก.ค. 2566 - 04:38

  • กลุ่มตลาดทุน ผนึกกำลังแข็งขัน ปราบปรามปัญหาหลอกลวงออนไลน์ หลังทวีรุนแรงขึ้น เสียหายทั้งองค์กรตลาดทุนและประชาชน

  • แนะผู้คิดลงทุน ใช้สติไตร่ตรองรอบคอบ พบเห็นชวนลงทุน ‘ผลตอบแทนสูงเกินจริง’ ต้อง เช็ก-ชี้-แฉ

set-campaign-against-investment-scam-SPACEBAR-Hero
ปัญหาการหลอกลวง ที่อ้างถึงกลุ่มบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ มีการใช้ภาพผู้บริหาร แอบอ้างชื่อองค์กร รวมถึงกลุ่มผู้มีชื่อเสียงในแวดวงการลงทุน สร้างความน่าเชื่อถือ ชักชวนลงทุนผ่านโซเชียลมีเดีย ส่งผลเสียหายกับเศรษฐกิจและสังคมในวงกว้าง มีประชาชนถูกหลอกแล้วจำนวนมากนั้น  

‘ภากร ปีตธวัชชัย’ กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เผย ถือเป็นขบวนการต้องเร่งปราบปรามโดยด่วน โดยขณะนี้ตลาดหลักทรัพย์ฯ ในฐานะแพลตฟอร์มการลงทุนของประเทศ ได้ร่วมกับหน่วยงานภาคตลาดทุน ริเริ่มโครงการ  ‘ร่วมมือ-จับปลอมหลอกลงทุน’ แล้ว 

ในเฟสแรก จะร่วมกันสื่อสารโดยตีแผ่ข้อเท็จจริง ชี้เป้าข่าวเท็จ ควบคู่ไปกับการให้ความรู้สร้างภูมิคุ้มกันให้ผู้ลงทุนและประชาชนไม่ให้เป็นเหยื่อมิจฉาชีพ ผ่านช่องทางของพันธมิตร และสื่อในหลากหลายรูปแบบที่เข้าถึงประชาชนในวงกว้าง  

เฟสถัดไปจะมีการบูรณาการการทำงานร่วมกันทั้งภาคตลาดทุนและหน่วยงานภาครัฐ เพื่อพัฒนากระบวนการในการจับปลอมหลอกลงทุนได้อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น 

ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่า ตลาดหุ้นฯ และบริษัทชื่อดัง เช่น ‘กลุ่มอมตะ’ จะถูกนำมาใช้แอบอ้าง ด้วยข้อความชักชวนลงทุน ‘ผลตอบแทนสูงในระยะเวลาสั้นๆ’ เป็นต้น มีผู้เสียหายหลงเชื่อเกือบ 200 ราย เสียหายกว่า 25 ล้านบาท 

‘ธวัชชัย พิทยโสภณ’ รองเลขาธิการ รักษาการแทนเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า กลโกงหลอกให้ลงทุนทางออนไลน์เป็นหนึ่งในภัยคุกคามซึ่งสร้างความเสียหายต่อประชาชนจำนวนมาก โดยมักแอบอ้างชื่อหรือโลโก้ของ ก.ล.ต. หน่วยงาน บริษัท รวมถึงบุคคลที่เกี่ยวข้องในภาคตลาดทุน ผ่านโซเชียลมีเดียต่างๆ  

ทั้งนี้ ก.ล.ต. ตระหนักถึงปัญหาของภัยหลอกลวงที่ขยายวงกว้างมากขึ้นในปัจจุบันและที่ผ่านมาได้ดำเนินการในหลายมิติเพื่อคุ้มครองผู้ลงทุนและประชาชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ได้รับข้อมูลที่เพียงพอและสามารถปกป้องตนเองจากภัยดังกล่าว โดย ก.ล.ต. มีความยินดีอย่างยิ่งกับการริเริ่มโครงการ ‘ร่วมมือ-จับปลอมหลอกลงทุน’ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเอาจริงเอาจังของทุกภาคส่วนที่จะช่วยกันป้องปรามการหลอกลงทุน 

‘กอบศักดิ์ ภูตระกูล’ ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย กล่าวว่า ปัญหามิจฉาชีพหลอกลงทุนเริ่มมีมากขึ้นเรื่อยๆ  การแก้ไขปัญหาและการป้องกันไม่สามารถจัดการได้โดยบุคคลหรือองค์กรที่ถูกแอบอ้างโดยลำพัง หรือเป็นปัญหาขององค์กรใดองค์กรหนึ่งเท่านั้น แต่ต้องทำทั้งกระบวนการตั้งแต่การป้องปรามและปราบปรามไปพร้อมกัน การที่องค์กรต่าง ๆ ในตลาดทุนและภาครัฐ ร่วมกันขับเคลื่อนโครงการ ‘ร่วมมือ-จับปลอมหลอกลงทุน’ นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการช่วยกันแก้ไขปัญหา ลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ ไม่ให้ประชาชนตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ 

‘ผยง ศรีวณิช’ ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า สมาคมธนาคารไทยและธนาคารสมาชิก ตระหนักถึงผลกระทบจากภัยทางการเงิน และการหลอกลงทุน โดยเฉพาะ ‘แชร์ลูกโซ่’ ที่แฝงมาในชื่อ ‘การออม’ หรือ ‘การลงทุน’ สร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจร้ายแรง จึงได้ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ออกมาตรการป้องกันภัยทางการเงินอย่างต่อเนื่อง ทั้งมาตรการป้องกัน เช่น ยกเลิกส่ง SMS อีเมลล์ แนบลิงก์ แจ้งเตือนผู้ใช้บริการ Mobile Banking ก่อนทำธุรกรรมทุกครั้ง สแกนใบหน้ายืนยันตัวตนก่อนโอนเงินเกิน 5 หมื่นบาทขึ้นไปต่อครั้ง หรือ ยอดโอนสะสมครบทุก 2 แสนบาทต่อวันต่อบัญชี หรือ ปรับเพิ่มวงเงินโอนตั้งแต่ 5 หมื่นบาทขึ้นไป   

มาตรการตรวจจับและติดตาม พัฒนาระบบแลกเปลี่ยนข้อมูลทุจริตในภาคธนาคาร (Central Fraud Registry) เพื่อตรวจสอบธุรกรรมต้องสงสัยและบัญชีม้า ช่วยป้องกันและจำกัดความเสียหายได้เร็วขึ้น  และมาตรการตอบสนองและรับมือ โดยจัดให้มีช่องทางติดต่อเร่งด่วน (Hotline) 24 ชั่วโมง ตลอด 7 วัน เพื่อจัดการปัญหาให้ผู้เสียหายได้เร็วขึ้น   

นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับการสร้างเกราะป้องกันภัย ด้วย ‘การให้ความรู้ทางการเงิน’ กับประชาชนทุกกลุ่ม อย่างไรก็ตาม การป้องกันภัยต้อง ‘เริ่มต้นที่ตัวเรา’ ประชาชนต้องหมั่นเช็กข้อมูลธุรกรรมการเงินของตัวเองสม่ำเสมอ วิเคราะห์และตรวจสอบข้อมูลให้รอบด้านทุกครั้งก่อนลงทุน ติดตามข่าวสารภัยทางการเงินอย่างต่อเนื่อง เพื่อรู้เท่าทันกลโกง ไม่ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ 

ขณะที่ความร่วมมือ ‘จับปลอมหลอกลงทุน’ นี้ ประชาชนสามารถช่วยกันตรวจสอบ หากพบเห็นการเชิญชวนลงทุนโดยให้ผลตอบแทนสูงเกินจริงภายในระยะเวลาสั้นๆ หรือแอบอ้างองค์กรและบุคคลที่มีชื่อเสียง อย่าเพิ่งหลงเชื่อร่วมลงทุน แต่จงตรวจสอบข้อมูลอย่างรอบคอบ โดยสามารถสอบถามไปยังองค์กรที่ถูกอ้างถึงโดยตรง หรือตรวจสอบรายชื่อบุคคล ผู้ประกอบธุรกิจหรือบริการทางการเงิน ซึ่งต้องได้รับอนุญาตจากหน่วยงานกำกับดูแลเท่านั้น  
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/5B3WItZbC8yoGnkNxQQpvQ/494d246fb49a0375efca385b212af143/set-campaign-against-investment-scam-SPACEBAR-Photo01

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์