หุ้นไทยลุ้นยากทะลุ 1,200 จุด นวค.ชี้ เศรษฐกิจอ่อนแอ ส่งออก-ท่องเที่ยวซบ

21 พ.ค. 2568 - 06:09

  • เศรษฐกิจไทยผ่านจุดพีค (3%) ในไตรมาสแรก เสี่ยงโดนสหรัฐขึ้นภาษีจาก 10% เป็น 36% หากเจรจาสหรัฐฯไม่สำเร็จ

  • นักท่องเที่ยวลดลงครั้งแรกในรอบ 10 ปี โดยเฉพาะจีนที่มองไทยไม่ปลอดภัย

  • ธุรกิจรายใหญ่ยังเติบโตได้ดี แต่ SME เริ่มสะดุด โดยกลุ่มอาหารโตโดดเด่น 96% ขณะที่พลังงาน-อสังหาฯ ติดลบ

วทัญ จิตต์สมนึก ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์กลยุทธ์ บล.พาย เปิดเผยว่า ดัชนีหุ้นไทยในระยะสั้นมีโอกาสขึ้นลงผันผวนได้ แต่โดยภาพรวมแนวโน้มยังเป็นขาลง เนื่องจากเศรษฐกิจไทยเริ่มส่งสัญญาณอ่อนแอชัดเจน

"ผมเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาสหนึ่งน่าจะผ่านจุดที่ดีที่สุดไปแล้ว ที่เราโตได้ประมาณ 3% กว่าๆ นั่นถือว่าพีคแล้ว" วทัญกล่าว

ปัจจัยกดดันเศรษฐกิจไทย

วทัญระบุว่า ภาคส่งออกซึ่งเป็นแรงขับเคลื่อนหลักในไตรมาสแรกที่โตได้ถึง 10 กว่าเปอร์เซ็นต์ มีแนวโน้มชะลอลงอย่างมีนัยสำคัญในไตรมาส 2 เนื่องจากผู้ประกอบการเร่งส่งออกในไตรมาสแรกเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบจากมาตรการภาษีของสหรัฐฯ

ขณะเดียวกัน ความไม่แน่นอนในการเจรจาระหว่างไทยกับสหรัฐฯ เรื่องภาษีนำเข้า ยังคงเป็นความเสี่ยงสำคัญ โดยปัจจุบันไทยถูกเรียกเก็บภาษี 10% แต่หากไม่สามารถเจรจาได้ภายในปลายเดือนมิถุนายน อาจถูกปรับขึ้นเป็น 36% ซึ่งจะส่งผลกระทบรุนแรงต่อภาคส่งออกของไทย

ท่องเที่ยวไทยวิกฤต นักท่องเที่ยวจีนหด

ด้านการท่องเที่ยวซึ่งเป็นอีกเครื่องยนต์สำคัญของเศรษฐกิจไทย ก็กำลังเผชิญกับวิกฤตหนัก โดยพบว่าตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติช่วง 1 มกราคม - 18 พฤษภาคมอยู่ที่ 13 ล้านคน ลดลง 2%

"นี่จะเป็นการติดลบครั้งแรกในรอบ 10 กว่าปี ถ้าไม่นับช่วงโควิด" วทัญกล่าว พร้อมชี้ให้เห็นว่าปัญหาสำคัญคือนักท่องเที่ยวชาวจีนที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ขณะที่นักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางไปประเทศอื่นๆ เช่น ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และเกาหลี กลับเพิ่มขึ้น

จากผลสำรวจพบว่า นักท่องเที่ยวจีนให้ความสำคัญกับความปลอดภัยเป็นอันดับแรก (41%) และมองว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่ไม่ค่อยปลอดภัย ต่างจากฮ่องกง สิงคโปร์ สวิตเซอร์แลนด์ ออสเตรเลีย มัลดีฟส์ และญี่ปุ่น

ภาคธุรกิจรายใหญ่ยังไปได้ แต่รายกลาง-เล็กเริ่มสะดุด

วทัญกล่าวถึงภาพรวมกำไรบริษัทจดทะเบียนไตรมาสแรกว่า โตได้ 6% แต่เมื่อวิเคราะห์ในรายละเอียดพบว่า ธุรกิจรายใหญ่ยังเติบโตได้ดี ขณะที่รายกลางและรายเล็กเริ่มมีปัญหา

"กลุ่มค้าปลีกโตได้ 20% แต่พอไปดูรายละเอียด รายเล็กรายกลางคือตายกันเรียบ" วทัญกล่าว โดยยกตัวอย่างว่า กำไรที่เติบโตส่วนใหญ่มาจากรายใหญ่อย่าง BJC, CRC, CPALL, DOHOME, HMPRO ขณะที่รายเล็กอย่าง BEAUTY, KAMART, RS ประสบปัญหาขาดทุนหรือกำไรไม่เติบโต

กลุ่มที่กำไรดี-แย่ในไตรมาสแรก

Sector ที่มีผลประกอบการดีในไตรมาสแรกประกอบด้วย:

·       กลุ่มอาหาร โตได้ 96% นำโดย CPF, BTG, TFG จากราคาเนื้อสัตว์ที่ปรับขึ้นและต้นทุนที่ลดลง

·       ธนาคารพาณิชย์ โตได้ 5% แต่มาจากการเติบโตจากเงินลงทุนในตราสารหนี้ ไม่ใช่จากสินเชื่อ

·       กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ เช่น DELTA, HANA, CCET

ส่วนกลุ่มที่มีผลประกอบการแย่:

·       กลุ่มพลังงาน ติดลบ 14%

·       กลุ่มอสังหาฯ ยังไม่มีสัญญาณฟื้นตัว และอาจแย่ลงในไตรมาส 2 จากผลกระทบแผ่นดินไหว

แนะกลยุทธ์การลงทุน

วทัญแนะนำให้ ‘Take Profit’ และยังไม่เชียร์หุ้นไทย โดยระบุว่าหุ้นไทยมีข้อดีเพียงข้อเดียวคือปันผลดี ขณะที่เศรษฐกิจและกำไรบริษัทฯ จะเริ่มอ่อนแอลงในไตรมาสต่อๆ ไป โดยเฉพาะไตรมาส 4 ซึ่งอาจขาดแรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล

สำหรับตลาดโลก วทัญมองว่า แม้จะมีการเจรจาระหว่างสหรัฐฯ กับจีน แต่ก็คงเป็นการเจรจาที่ยืดเยื้อไม่จบง่าย ขณะที่ราคาทองคำเริ่มกลับมาปรับตัวขึ้น ซึ่งอาจสะท้อนความกังวลบางอย่างของตลาด

"ผมคิดว่าทองคำเป็นลักษณะไซด์เวย์อัพ แต่จะไม่ได้ขาขึ้นแข็งแรงเหมือนเมื่อก่อน อาจจะไม่ชันเหมือนเดิมแล้ว แต่ยังขึ้นอยู่" วทัญกล่าวทิ้งท้าย

 

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์