สภาพัฒน์ เตือนแรง แต่นายกฯ ไม่ได้ยิน

21 พ.ย. 2566 - 07:40

    settha-digital-money-gift-policy-space-economy-SPACEBAR-Hero.jpg

    ในการแถลงข่าวเปิดเผยถึงตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติในประเทศ หรือ GDP ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ฯ เมื่อวานนี้ (20 พ.ย.2566) นอกเหนือจาก เปิดเผยตัวเลข GDP ในไตรมาส 3 มีอัตราเติบโตเพียง 1.5 % ที่กลายเป็นเรื่องน่าตกอกตกใจสำหรับ นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ที่แสดงความเป็นห่วงอย่างมาก และกลายเป็นเหตุผลสำคัญที่ยืนยันว่าสิ่งที่รัฐบาลคิดนั้นเป็นจริง คือเศรษฐกิจไทยกำลังอยู่ในภาวะวิกฤติ และจำเป็นต้องมีการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยการออก พรบ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อแจกเงินดิจิตอลหมื่นบาทให้กับคนไทย 50 ล้านคน 

    คงเป็นเรื่องน่าเศร้า หากสิ่งที่เลขาธิการสภาพัฒน์ฯ ดนุชา พิชยนันท์ แถลงนั้น มีเพียงบางส่วนเป็นสิ่งที่ นายกฯเศรษฐาอยากได้ยิน แต่ส่วนที่เหลือกลับไม่สนใจ เพราะหากฟังรายละเอียดทั้งหมดของถ้อยแถลงแล้ว จะพบความจริงเชิงประจักษ์ว่า สถานการณ์เศรษฐกิจไทยในเวลานี้มีอัตราการเติบโตต่ำ เนื่องมาจากหลายๆ สาเหตุ แต่ก็อยู่ในทิศทางของการฟื้นตัวต่อเนื่องจากสถานการณ์โควิด -19

    ทั้งนี้เศรษฐกิจไตรมาสที่ 3 ปี 2566 ขยายตัวได้ 1.5% แต่ในไตรมาสที่ 4 คาดว่าจะอยู่ในทิศทางที่ขยายตัวได้ดีขึ้น จากการส่งออกที่ปรับตัวดีขึ้น และจะส่งผลไปถึงภาคผลิตอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้นตามมา ทำให้คาดว่าทั้งปีเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 2.5% ส่วนในปี 2567 คาดว่าจะขยายตัวต่อเนื่องในระดับ 3.2% โดยตัวเลขนี้ยังไม่ได้รวมนโยบายเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาล

    หากดูไส้ในของตัวเลขเศรษฐกิจแล้วจะพบว่า การบริโภคภาคเอกชนยังคงขยายตัวได้ดีถึงราว 8.1% การลงทุนรวมขยายตัวราว 1.5% ส่วนการขยายตัวของที่พัก และบริการด้านอาหารขยายตัวได้ถึง 14.9% จากการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว 

    แต่ปัญหาก็คือ เครื่องยนต์เศรษฐกิจตัวอื่นๆ มีปัญหา ไม่ว่าจะเป็นการส่งออกที่หดตัวลง 2% การใช้จ่ายภาครัฐหดตัวลง 2.6% จากการเบิกจ่ายงบประมาณฉุดให้การอุปโภคของรัฐหดตัว 4.9%

    เมื่อถามว่าในแง่ของการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยโครงการดิจิทัลวอลเล็ตนั้นจะมีผลต่อเศรษฐกิจมากน้อยอย่างไร เลขาธิการสภาพัฒน์ฯกล่าวว่าขึ้นอยู่กับการออกแบบโครงการที่จะออกมาด้วย แต่จากข้อมูลย้อนหลังพบว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการแจกเงินนั้นเหมาะสมสำหรับการพยุงเศรษฐกิจ และแก้ปัญหาในช่วงที่การอุปโภคบริโภคของประชาชนลดลงอย่างรุนแรงเท่านั้น โดยในช่วงที่ผ่านมาในช่วงโควิด-19 รัฐบาลในขณะนั้นได้ทำโครงการคนละครึ่งซึ่งมีผลต่อจีดีพีเพียง 0.4% และผลต่อเศรษฐกิจในระยะต่อๆมาก็จะลดน้อยลง

    เลขาธิการสภาพัฒน์ฯ ชี้ให้เห็นว่าในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว สิ่งที่จะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ดี และขยายตัวต่อเนื่องในระยะยาวคือ การปรับโครงสร้างการผลิตภาคอุตสาหกรรมและภาคการเกษตร รวมทั้งการเร่งผลักดันการท่องเที่ยว การผลักดันการส่งออก ผ่านการขยายการเจรจาการค้าภายใต้กรอบเอฟทีเอมากขึ้น เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และสนับสนุนภาคการส่งออกให้ปรับตัวดีขึ้น ถือเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด

    ตามมุมองของสภาพัฒน์ฯ การบริหารเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือ และปี 2567 ควรให้ความสำคัญกับการรักษา Policy Space หรือช่องว่างในด้านการเงินการคลังที่ต้องมีเพียงพอเพื่อรองรับความเสี่ยง หรือปัจจัยลบทางเศรษฐกิจที่อาจคาดไม่ถึง

    มีการประเมินว่าหากรัฐบาลตัดสินใจกู้เงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อมาทำโครงการแจกเงินดิจิทัล จะทำให้ระดับหนี้สาธารณะของไทยขึ้นไปอยู่ที่ 64% ต่อ GDP ซึ่งอาจทำให้เหลือช่องว่างทางการคลัง ไม่เพียงพอที่จะรองรับวิกฤติขนาดใหญ่ เช่น ปัญหาความขัดแย้งทางภูมิศาสตร์ ที่อาจจะขยายวงจากสถานการณ์ในอิสราเอล ที่จะนำไปสู่วิกฤติพลังงาน และอาหาร

    ก่อนเกิดวิกฤติโควิด ระดับหนี้สาธารณะของไทยอยู่ที่ระดับ 44%  ต่อ GDP ยังมีพื้นที่การคลังที่จะรองรับวิกฤติถึง 16% จากเพดานหนี้สาธารณะที่กำหนดไว้ 60% และหลังจากที่ต้องมีการออก พรก.กู้เงินราว 1.5 ล้านล้านบาท เพื่อแก้ไขวิกฤติเศรษฐกิจในช่วงโควิด ก็มีการขยับเพดานนี้สาธารณะขึ้นไปที่ 70% ต่อ GDP

    หากมีการออก พรบ.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท จะทำให้เหลือพื้นที่ว่างทางการคลังเพียงราว 6% ซึ่งหากเกิดวิกฤติจะไม่เพียงพอ

    คงต้องยอมรับว่า ในฐานะ Think Tank ของรัฐบาล เลขาสภาพัฒน์ฯ ได้แสดงความเห็นในทางวิชาการ ด้านเศรษฐศาสตร์ไว้อย่างชัดเจนแล้ว ที่มีจุดยืนไม่เห็นด้วยกับการออก พรบ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล เนื่องจากเป็นห่วงเรื่องของ Policy Space ด่านการคลัง ที่ควรจะเก็บกระสุนเอาไว้ในยามจำเป็น ขณะเดียวกันก็มองว่า การกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยการแจกเงินอาจจะไม่ใช้มาตรการที่เหมาะสมในเวลานี้ เพราะปัญหาที่แท้จริงของเศรษฐกิจไทย คือปัญหาด้านโครงสร้างเศรษฐกิจ ที่มีศักยภาพในการเติบโตต่ำ จำเป็นต้องเน้นในเรื่องของการลงทุนสำหรับอนาคตมากกว่า

    แต่สุดท้าย คงต้องยอมรับว่า เสียงที่เลขาฯดนุชา อยากให้รัฐบาลได้ยิน อาจจะไม่ใช่เสียงที่นายกฯเศรษฐาต้องการจะฟังในเวลานี้

    เรื่องเด่นประจำสัปดาห์