นายกฯ เศรษฐาจำนน ยอมรับเศรษฐกิจไทยไม่วิกฤต

25 พ.ย. 2566 - 02:00

  • ชัดแล้ว นายกฯเศรษฐายอมรับ เศรษฐกิจไทยไม่ดี แต่ ‘ไม่วิกฤต’

  • หลังบิ๊กทรี คลัง-แบงค์ชาติ-สภาพัฒน์ ประสานเสียงสวน

  • แต่ยังคงยืนยันจะกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยการกู้เงิน 5 แสนล้านบาท

settha-the-standard-economic-forum-digital-wallet-SPACEBAR-Hero.jpg

คงอาจเป็นเพราะ นายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน จะเริ่ม ‘ฟัง’ เสียงที่ตัวเองไม่อยากได้ยินมากขึ้น มุมมองเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทย จึงเริ่มปรับเปลี่ยนไปจากโหมดเดิมที่ย้ำแล้วย้ำอีกว่า เศรษฐกิจไทยวิกฤต และจำเป็นต้องออก พรบ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อแจกเงินดิจิทัลให้คนไทย 50 ล้านคน ช่วยกันไปใช้คนละหมื่นบาท

ล่าสุด เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมาในงาน The Standard Economic Forum ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ที่นายกฯเศรษฐา ไปปาฐกถาพิเศษ เขาเริ่มใช้คำใหม่ว่า ‘เศรษฐกิจไม่ดี’

อย่างไรก็ตาม ยังคงย้ำว่าจำเป็นต้องมีการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ โดยการออก พ.ร.บ.กู้เงินดังกล่าว โดยคาดหวังว่าไทม์ไลน์ในการดำเนินการน่าจะยังคงไม่เกินเดือนพฤษภาคมปีหน้า

คำถามที่น่าสนใจคือ อะไรทำให้ นายกฯ เศรษฐา เริ่มปรับคำพูดและท่าทีจากเดิม เหตุผลสำคัญน่าจะมาจาก เวลานี้หลักฐานเชิงประจักษ์ โดยเฉพาะตัวเลขดัชนีทางเศรษฐกิจหลายๆอย่างสะท้อนภาพชัดเจนว่า เศรษฐกิจไทยยังไม่ได้อยู่ในภาวะวิกฤตอย่างที่นายกฯและพรรคเพื่อไทยรู้สึก

หากเราติดตามข้อมูลทางเศรษฐกิจที่มีการเปิดเผยออกมาตลอดช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา จากหน่วยงานที่ดูแลด้านเศรษฐกิจ นอกจากจะยืนยันข้อมูลและมุมมองด้านเศรษฐกิจของ ธนาคารแห่งประเทศไทยแล้ว ทั้งสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่ เลขาสภาพัฒน์ฯ ดนุชา พิชยนันท์ แถลงเปิดเผยตัวเลข GDP ในไตรมาสที่ 3 

ที่สำคัญล่าสุด ข้อมูลจากปากของ ปลัดกระทรวงการคลัง ลวรณ แสงสนิท ที่มี นายกฯ เศรษฐา เป็นเจ้ากระทรวง ที่เพิ่งไปพูดในงานเปิดหลักสูตร Wealth Wisdom ของกลุ่มเดอะเนชั่น ก็สะท้อนชัดเจนว่า เสถียรภาพเศรษฐกิจไทยยังคงแข็งแกร่ง แต่เรามีอาการ  ‘ติดหล่ม’ มีอัตราการเติบโตต่ำต่อเนื่องมาหลายปี และจำเป็นต้องเร่งเครื่องในเรื่องของการลงทุนเพื่อปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้มีความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น เพื่อเผชิญกับความท้าทายในอนาคตหลายๆ ด้าน

ความท้าทายดังกล่าว ได้แก่ ความท้าทายด้านภูมิรัฐศาสตร์ เนื่องจากโลกมีความขัดแย้ง มีปัญหาหลายจุด  เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลงและส่งผลให้เศรษฐกิจไทยที่พึ่งพาตลาดโลกชะลอตัวตามการลงทุนภาครัฐและเอกชนนับตั้งแต่วิกฤตต้มยำกุ้ง 2540-2541 ต่ำกว่า 25% ของ GDP มายาวนานถึง 25 ปี ปัจจุบันปี 2565 มูลค่าการลงทุนที่ขจัดผลของเงินเฟ้ออยู่ที่ 2.6 ล้านล้านบาท เพิ่งกลับมา ใกล้เคียงระดับเดิมเมื่อ 25 ปีที่แล้วที่ 2.7 ล้านล้านบาท

settha-the-standard-economic-forum-digital-wallet-SPACEBAR-Photo01.jpg

ขณะเดียวกัน เมื่อหันมามองโครงสร้างประชากร ก็ไม่เอื้อต่อการเติบโตแบบก้าวกระโดด เนื่องจากเรากำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างสมบูรณ์  โดยจำนวนคนสูงอายุ 12.8 ล้านคน หรือ 19.4% ของประชากร  สวนทางกับเด็กเกิดใหม่เหลือเพียงปีละ 5 แสนคน ทำให้อนาคตอาจจะขาดแคลนแรงงาน ส่งผลต่อปัจจัยการผลิต โดยเฉพาะในภาคการเกษตร และบริการ และฐานภาษีในเชิงจำนวนคนลดลงเพราะมีคนทำงานน้อยลง

นอกจากนี้เรายังมีปัญหาหนี้ครัวเรือนสูงเรื้อรังฉุดรั้งการบริโภค โดยหนี้ครัวเรือนปัจจุบันอยู่ที่ 90.7% ต่อ GDP สูงทะลุ 80% ต่อ GDP มาแล้ว 10 ปี 

อย่างไรก็ตาม ปลัดกระทรวงการคลัง ระบุว่า เศรษฐกิจไทยยังคงมีเสถียรภาพในเกณฑ์ดี ซึ่งเป็นเรื่องที่ต่างชาติให้ความสำคัญ คือ ปัจจุบันประเทศไทยมีเงินทุนสำรองสูงถึงกว่า 2.1 แสนล้านดอลลาร์ สหรัฐฯ หากเทียบมูลค่านำเข้าจากต่างประเทศ สามารถรองรับได้ถึง 7 เดือน ขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดยังเกินดุลกว่า 2,800 ล้านดอลลาร์ สหรัฐฯ ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อเพียง 1.6% ยังอยู่ในกรอบที่ไม่เกิน 2% หากเทียบกับอีกหลายๆประเทศ เช่น ในยุโรปที่มีสัดส่วนเงินเฟ้อสูงกว่าไทย

นอกจากนี้ ฐานะการคลังยังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยปีงบประมาณ 2566 กระทรวงการคลังสามารถจัดเก็บรายได้สูงถึง 2.6 ล้านล้านบาท สูงกว่าปีก่อน 1.1 แสนล้านบาท ส่งผลให้มีเงินคงคลังสูงถึง  5.39 แสนล้านบาท

ด้านสัดส่วนหนี้สาธารณะ ต่อ GDP ก็ยังอยู่ที่ 62% ไม่เกินกรอบที่กำหนดไว้ 70% และประเทศไทยยังมีความสามารถในการแข่งขัน และความเชื่อมั่นจากผู้บริโภคอยู่ที่ 60.2 สูงสุดในรอบ 44 เดือน 

ปลัดกระทรวงการคลัง ยังบอกอีกว่า หากถามว่าประเทศไทยจะก้าวต่อไปอย่างไร เพื่อทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวต่อเนื่องและมีเสถียรภาพ เขามองว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการบริโภค อาจเป็นส่วนหนึ่ง แต่จากข้อมูลของภาครัฐไม่ได้มองการบริโภคเท่านั้น แต่ควรให้ความสำคัญกับ เครื่องยนต์ใหม่ คือ การลงทุนในอนาคต เช่นการ การใช้เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งขณะนี้รัฐบาลก็มีนโยบายชัดเจน และต้องการให้อีอีซีเป็นเครื่องยนต์ใหม่ 

Eastern Seaboard เป็นการลงทุนใหญ่ ทำให้เศรษฐกิจไทยโตได้ 2 หลัก และรัฐบาลนี้ก็คาดหวังว่าจะมีการทำให้เกิดขึ้นของอีอีซี การลงทุนในอุตสาหกรรมคุณภาพสูง กลุ่มไฮเทค สินค้าไฮเอ็น ซึ่งรัฐบาลมีนโยบายที่จะขับเคลื่อนเต็มที่ และเราจะส่งเสริมการลงทุนแบบโฟกัสมากขึ้น เช่น ที่ผ่านมามีการดึงดูดนักลงทุนด้วยการสร้างแรงจูงในผ่านการส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า และจะมีการเดินหน้าแลนด์บริดจ์ รวมทั้งจะดึงดูดนักท่องเที่ยวด้วย

ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวในตอนท้าย โดยยอมรับว่าผลของการกระตุ้นบริโภค อาจจะเห็นผลลัพธ์เร็ว แต่การลงทุนก็เป็นความยั่งยืน และหากจะก้าวไปสู่อนาคตสิ่งที่จะต้องให้ความสำคัญอีกอย่าง คือ เรื่อง ESG ซึ่งมีผลต่อการดำเนินธุรกิจ เศรษฐกิจดิจิทัล ที่จะต้องมีการปรับเปลี่ยน ทรานฟอร์มและปรับปรุงตามโลก  และท้ายที่สุด คือ เรื่องภาษี ซึ่งหากเป็นผู้เสียภาษีถูกต้องจะทำให้ธุรกิจมีความยั่งยืน

settha-the-standard-economic-forum-digital-wallet-SPACEBAR-Photo04.jpg

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์