สี่มุมเมือง ต้นแบบตลาดค้าส่ง ฟันเฟือง ศก.ประเทศ

13 ต.ค. 2566 - 06:08

  • ตลาดสี่มุมเมืองครบรอบ 40 ปี ชูเป็นส่วนสำคัญขับเคลื่อนประเทศ ในฐานะเป็น ‘ศูนย์กลางค้าส่งผักผลไม้ของสดชั้นนำทั้งของไทย และของเอเชีย มาตรฐานระดับโลก

  • เดินหน้าลงทุนครั้งใหม่กว่า 40 ล้าน ควบคู่การดูแลสิ่งแวดล้อม สู่เป้าหมาย ‘ตลาดค้าส่งเพื่อความยั่งยืน’

  • พร้อมเตรียมเปิดตลาดดอกไม้ปลายปี 2566 และโครงการระยะ 3 ในปี 2568

simummuang-40th-anniversary-economy-farmer-central-market-SPACEBAR-Hero.jpg

ตลาดสี่มุมเมือง ซึ่งเปิดดำเนินการเมื่อ 1 กรกฏาคม 2526 ถึงวันนี้นับว่า มีอายุครบ 40 ปีแล้ว โดยไม่เพียงการเคียงข้างเกษตรกรไทย แต่ยังเป็นตลาดที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เป็นต้นแบบตลาดกลางค้าส่งระดับโลก ที่บริหารจัดการครบวงจร โดยมีการจัดประเภทสินค้า ให้บริการอย่างเป็นระบบ มีเทคโนโลยีที่ทันสมัย มีการจัดระบบแรงงาน รวมถึงช่วยให้การเก็บข้อมูลราคาสินค้า ขององค์กรและเกษตรกรนำไปใช้อ้างอิงเป็นราคากลางของประเทศได้ สิ่งนี้จึงถือได้ว่า ตลาดสี่มุมเมืองแห่งนี้ จึงเป็นตลาดที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้อย่างแท้จริง เป็นตลาดแห่งโอกาสและการสร้างสร้างอาชีพที่มั่นคงยั่งยืน เป็น Sustainable Ecosystem เชื่อมโยงกันเป็นฟันเฟือง ทั้งผู้ซื้อ ผู้ขาย แรงงาน และชุมชน รวมกว่า 70,000 คน 

ตลาดสี่มุมเมือง ‘40 ปีที่ยิ่งใหญ่’

ชื่อเสียงของ ตลาดสี่มุมเมือง น้อยคนไม่รู้จัก โดยเฉพาะเกษตรกรที่นำผลผลิตมาขาย โดยที่นี่มีศักยภาพหลายสิ่งอย่าง ทั้งทำเลที่ตั้ง อยู่บนถนนพหลโยธิน กิโลเมตรที่ 29 ตำบลคูคต อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี เนื้อที่กว่า 400 ไร่ ถือเป็นตลาดทำเลดีเลิศ ช่วยให้การขนส่งสินค้าจากจังหวัดต่างๆ ในภูมิภาคทั่วประเทศ สะดวก ต่อการนำผลผลิตมาจำหน่าย รวมถึงผู้ซื้อที่จะสามารถเข้า ไปหาซื้อสินค้าทุกชนิดได้ตลอด 24 ชั่วโมง

ทั้งยังเป็นตลาดกระจายวัตถุดิบอาหารไปทั่วประเทศด้วยสินค้ากว่า 8,000 ตันต่อวัน ยืนหยัดเคียงคู่เกษตรกร พ่อค้าแม่ค้า แรงงาน ชุมชน ตลาดสด ร้านอาหาร โรงแรม องค์กร และผู้บริโภค

simummuang-40th-anniversary-economy-farmer-central-market-SPACEBAR-Photo06.jpg

ปัจจัยส่งตลาดสี่มุมเมือง เป็น ‘ต้นแบบตลาดกลางค้าส่งระดับโลก’

สี่มุมเมืองเป็นตลาดตลาดไม่เคยหลับ การค้าส่งผลผลิตทางการเกษตรทั้งผัก ผลไม้ ดอกไม้ ฯลฯ ที่มีการบริหารจัดการทันสมัยครบทุกมิติ โดยตลอด 40 ปี ตลาดสี่มุมเมืองไม่เคยหยุดพัฒนา มีการนำเทคโนโลยีผสมผสานกับระบบการจัดการที่เข้าใจง่ายและมีประสิทธิภาพสูงสุด ทำให้สี่มุมเมือง มีจุดแข็งด้านมาตรฐานที่ทั่วโลกยอมรับ รวมถึง กลายเป็นตลาดแรกๆ ของระบบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างครบถ้วน อาทิ

simummuang-40th-anniversary-economy-farmer-central-market-SPACEBAR-Photo01.jpg

- ตลาดแรก ที่มีการวางระบบแบบแยกประเภทสินค้าเป็นหมวดหมู่ โซนตลาดอย่างชัดเจน (โซนผัก ของสด เครื่องปรุง 12 อาคารตลาด, โซนผลไม้ 7 อาคารตลาด, ตลาดดอกไม้และสังฆภัณฑ์, ลานคอนเทนเนอร์ และโซนอาคารห้องเย็น) ทั้งหมดตั้งอยู่บนพื้นที่ 350 ไร่

- ตลาดแรก ที่กำหนดมาตรฐานสินค้าเป็นคำเรียกเฉพาะ อาทิ LA (ใหญ่ สวย), MA (กลาง สวย), SA (เล็ก สวย) เพื่อสร้างความเข้าใจตรงกันระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย 

- ศูนย์กลางของข้อมูลราคาสินค้า ผัก ผลไม้ วัตถุดิบอาหาร ดอกไม้ ที่องค์กรรัฐและเอกชน เกษตรกร ผู้ประกอบการและสื่อมวลชนใช้อ้างอิงเป็นราคากลางของประเทศไทย

- มีฝ่ายตรวจสอบสารพิษภายใต้มาตรฐานกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สุ่มตรวจสินค้าที่จำหน่ายในตลาดทุกวัน และยังเปิดให้ผู้ที่สนใจที่ต้องการใบรับรองเพื่อส่งออกเข้ามาใช้บริการได้

- เพิ่มความสะดวกสบายให้กับผู้ซื้อ มากขึ้นด้วย Simummuang Online (สี่มุมเมือง ออนไลน์) มาร์เก็ตเพลสที่ผู้ซื้อสามารถสั่งสินค้าผ่านทางออนไลน์ ทำให้เข้าถึงสินค้าได้โดยตรงกับแผงค้าในตลาดฯ และได้ราคาส่ง โดยไม่จำเป็นต้องเข้ามาซื้อสินค้าด้วยตัวเอง รวมถึงอำนวยความสะดวกให้กับเกษตรกรและผู้ค้าส่งในตลาดฯ สามารถเข้าถึงผู้ซื้อได้ง่ายขึ้น

สี่มุมเมือง คือ ‘เมืองแห่งโอกาส’

ตลาดสี่มุมเมืองเป็นมากกว่าตลาดค้าส่ง แต่เป็นเมืองแห่งโอกาสและแหล่งสร้างอาชีพเป็น Sustainable Ecosystem ที่เชื่อมโยงกันเป็นฟันเฟือง ทั้งผู้ซื้อ ผู้ขาย แรงงาน ชุมชน โรงเรียน และเครือข่ายรถเร่สี่มุมเมืองที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ รวมกว่า 70,000 คน 24 ชั่วโมง ตลอด 40 ปี ที่ไม่เคยหยุด ทำให้หลายครอบครัวมีรายได้ มีชีวิตที่ดีขึ้น ส่งลูกเรียนจบ ปลดหนี้สิน ตลาดสี่มุมเมืองกลายเป็นพื้นที่แห่งความผูกพันจากรุ่นสู่รุ่น การซื้อขายอย่างซื่อสัตย์ บริการอย่างคนรู้ใจ เพื่อมอบสิ่งที่ดีที่สุด คุณค่าที่ส่งต่อจนถึงผู้บริโภค ทั้งหมด คือ รากฐานสำคัญที่ทำให้ตลาดสี่มุมเมืองแข็งแกร่งและมั่นคง

simummuang-40th-anniversary-economy-farmer-central-market-SPACEBAR-Photo02.jpg

‘ครอบครัวสี่มุมเมือง’ หลังคาทุกอาคารตลาดของสี่มุมเมืองมาจากโลโก้ของตลาด ซึ่งสื่อถึงหลังคาบ้านที่พร้อมจะปกป้องและเป็นที่พึ่งให้กับทุกคนในตลาดแห่งนี้ นอกจากนี้ยังมาจากอักษรจีน 人 อ่านว่า เหริน แปลว่า ‘ผู้คน’ ที่นี่เปรียบเสมือนบ้านหลังใหญ่ของทุกคน

นอกจากนี้ ตลาดสี่มุมเมือง ยังมี ‘บทบาทในการดูแลหมู่บ้านภายในโครงการกว่า 10,000 หลังคาเรือน’ รวมถึงก่อตั้งโรงเรียนพัฒนาวิทยา เพื่อดูแลด้านการศึกษาให้กับบุตรหลานของคนในชุมชน พ่อค้าแม่ค้า และพนักงานอีกด้วย

ตลาดสี่มุมเมือง ตัวอย่างตลาดค้าส่ง ‘ยั่งยืน’ Circular Economy

ตลาดสี่มุมเมืองดำเนินธุรกิจ โดยยึดหลักความสมดุลทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม สู่ความยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม ภายใต้แนวคิด Circular Economy โดยให้ความสำคัญเรื่องขยะ ลดการใช้พลังงานไฟฟ้า และคืนน้ำดีให้กับชุมชน ทั้ง 3 สิ่งล้วนมีผลงานเชิงประจักษ์

simummuang-40th-anniversary-economy-farmer-central-market-SPACEBAR-Photo03.jpg

- ด้านบริหารจัดการขยะ ตลาดสี่มุมเมืองได้รับรางวัลชนะเลิศ ผลงานประเภทการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ (Resource Efficiency) จาก TGDA 2021 เป็นต้นแบบของตลาดที่มีระบบการจัดการขยะ เป็นรูปธรรมและมีความยั่งยืน สามารถ Recycle และ Upcycle 40% จากขยะทั้งหมด 230 ตัน ต่อ วัน ทำให้ลดการฝั่งกลบและสร้างรายได้เพิ่มอีกด้วย

- การจัดการขยะอินทรีย์ นำเศษผักกว่า 190 ตันต่อวัน สามารถเปลี่ยนเป็นอาหารปลาได้ถึงวันละ 50 ตันต่อวัน และสามารถนำไปแปรรูปเป็นอาหารโคได้ 20 ตันต่อวัน 

- การจัดการขยะอนินทรีย์ นำขวดแก้ว กล่องโฟม กระดาษ พลาสติก แก้ว โลหะจากทั้งในตลาดและหมู่บ้านไปจำหน่ายต่อให้กับโรงงานและบริษัทที่รับซื้อเพื่อไปรีไซเคิลต่อไป และมีรถบริการรับซื้อขยะถึงที่

- ลดการใช้ไฟฟ้าด้วยการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ ทั้งบนหลังคาของโซนห้องเย็น และหลังคาอาคารตลาดต่าง ๆ กว่า 4,000 ตารางเมตร (1,271 แผ่น) สามารถลดการใช้ไฟฟ้าได้มากถึง 12% ต่อเดือน

- คืนน้ำดีให้กับชุมชน ตลาดฯ ลงทุน 40 ล้านบาท นำเทคโนโลยี Activated Sludge มาใช้บำบัดน้ำเสีย ทั้งจากตลาดและหมู่บ้าน ได้มากถึง 6,500ลูกบาศก์เมตรต่อวัน และผ่านการรับรองจากสำนักสิ่งแวดล้อม จังหวัดปทุมธานี น้ำที่ได้จากการบำบัดถูกนำไปใช้ประโยชน์รอบตลาด เช่น ล้างพื้นตลาด รดน้ำต้นไม้ รวมทั้งปล่อยน้ำดีคืนให้กับแหล่งน้ำของชุมชนต่อไป

simummuang-40th-anniversary-economy-farmer-central-market-SPACEBAR-Photo07.jpg

กล่าวได้ว่า ทุกโครงการ ได้รับความร่วมมือจากผู้ค้า แรงงาน พนักงานทุกคน และชุมชนรอบตลาดฯ ที่ร่วมผนึกกำลังขับเคลื่อนการดำเนินงานประสบความสำเร็จและอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน

สี่มุมเมือง ผุด ‘ตลาดดอกไม้’ปลายปี 2566 และโครงการระยะ 3 ในปี 2568

ตลาดสี่มุมเมืองยังพัฒนาต่อยอดธุรกิจภายใต้วิสัยทัศน์ Customer Centricity คือ การยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลางด้วยการเพิ่มโซนสินค้าเพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภค

- พฤษภาคม 2566 เปิดบริการตลาดปลา-อาหารทะเล บนพื้นที่ 6,700 ตร.ม. ประกอบไปด้วย 2 โซน คือ โซนสินค้าปลาน้ำจืด ขายส่งกลุ่มปลาเศรษฐกิจ และโซนสินค้าอาหารทะเล ขายส่งอาหารทะเล

- พฤศจิกายน 2566 เปิดบริการตลาดดอกไม้ยุคใหม่ ขยายจากตลาดดอกไม้เดิมขึ้น 150% บนพื้นที่ 5,200 ตร.ม. ประกอบไปด้วย 4 โซน คือ โซนดอกไม้ไหว้พระ โซนดอกไม้ประดับ โซนสังฆภัณฑ์และอุปกรณ์ตกแต่ง และโซนจัดแต่งดอกไม้ 

- ปี 2568 เตรียมเผยโปรเจกต์ใหญ่ โครงการระยะที่ 3 ซึ่งเป็นธุรกิจใหม่ที่ตลาดยังไม่เคยทำมาก่อน เพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคที่ปรับเปลี่ยนตลอดเวลา

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์