ต้องบอกว่า ทุกหน่วยที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นรัฐ-เอกชน ที่มีส่วนช่วยเหลือสนับสนุน ‘กลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม’ (SMEs) ล้วนทำหน้าที่สร้างกล้ามเนื้อ ต่อปีก ต่อหาง ขับเคลื่อน SMEs ไทย ให้มีก้าวย่างที่ดี โบยบินได้ไกลสุดตา แต่ใช่ว่า ทุกคน-ทุกเจ้าจะทำได้เหมือนกัน โดย SMEs ที่มีสภาพคล่องดี มีเทคโนโลยีใช้ ย่อมไปได้ไกลกว่า ดังนั้น เมื่อผู้ใหญ่ในวงการ ซึ่งรับทราบช่องโหว่และปัญหาต่างๆ ของ SMEs จึงพยายามปิดจุดอ่อน และเข้าช่วยเหลือ ‘ตรงจุด’ ยิ่งขึ้น นั่นจึงเป็นที่มาให้ เกิด MOU ของ 3 องค์กร ในการพัฒนายกระดับศักยภาพ SMEs ไทย ให้เข้าถึงเทคโนโลยีแห่งอนาคต ด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่

สุปรีย์ ทองเพชร ประธานสภาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทย (สภาเอสเอ็มอี) เผย MOU ที่ว่า เป็นความร่วมมือระหว่าง สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ISMED) สมาคมไทยไอโอที (TIoT) และสมาคมสถาบันทิวา (TVA) ด้วยวัตถุประสงค์ในการร่วมกันพัฒนายกระดับศักยภาพของ SMEs ในด้านต่างๆ ที่เป็น Pain Point ของ SMEs ซึ่งกล่าวได้ว่า ที่ผ่านมา SMEs มีหลายปัญหาที่ต้องช่วยเหลือ แต่ในด้านการพัฒนาศักยภาพ ก็เป็นเรื่องที่ต้องทำต่อเนื่อง ตามเทรนด์ของโลกธุรกิจ
ซึ่งลักษณะของ MOU ครั้งนี้ มีการลงนามเป็นคู่ ในเนื้อหาความร่วมมือแตกต่างกันออกไปตามความถนัดขององค์กร เช่น สมาคมไทยไอโอที ผู้มีความชำนาญพิเศษ ด้านการนำ Internet of Think มาประยุกต์ใช้กับองค์กร SMEs เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินกิจการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะที่ ISMED ก็เป็นสถาบันในกำกับของรัฐ มีบุคลากรและโครงสร้างที่จะเข้ามาช่วยสนับสนุนด้านการพัฒนายกระดับศักยภาพของ SMEs ได้อย่างครอบคลุมในทุกมิติที่เป็น Pain Point ของ SMEs ไม่ว่าจะเป็นด้านการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ด้านการตลาด ด้านการพัฒนาองค์ความรู้และนวัตกรรม รวมถึงให้คำปรึกษาเชิงลึกในทุกๆ ด้านของการดำเนินธุรกิจ
“MOU ครั้งนี้ เป็นการช่วยเหลือที่เอกชน สามารถทำได้เอง ข้อสำคัญคือ เราเป็นเอกชนที่ทำได้เอง คือการรวมกลุ่มของภาคเอกชน มีสภาเอสเอ็มอี มีสมาคมที่เป็นภาคเอกชน เช่น สมาคมไทยไอโอที และสถาบันทิวา... จะมีภาครัฐที่มาทำงานร่วมด้วย คือ ISMED ซึ่งเข้ามาช่วย SMEs อย่างต่อเนื่อง จะเห็นได้ว่า การผนึกกำลังทำ MOU ร่วมกันคราวนี้ เป็น MOU ที่เกิดความร่วมมือและความต้องการในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานอย่างแท้จริง เพื่อแก้ไขปัญหาที่พื้นฐานของพวกบรรดา SMEs ไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะจุด เช่น แหล่งเงินทุน หรือองค์ความรู้ เราไม่ทำอย่างงั้น แต่เราจะพยายามวาง Infrastructure นี้ ให้สำเร็จให้ได้”
สุปรีย์ กล่าว

พิตรพิบูล ธีร์จันทึก ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ISMED) เผย ตลาด SMEs ต้องทันเกมการแข่งขัน การพัฒนาคู่กับการแก้ปัญหาที่มี จะช่วยยกระดับศักยภาพการแข่งขันให้สูงขึ้น พาเติบโตได้อย่างยั่งยืน ในตลาดที่มีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดย Pain Points หลักๆ ที่ SMEs กำลังเผชิญ ประกอบด้วย การเข้าถึงแหล่งเงินทุน, การจัดการและการบริหารธุรกิจ, การตลาดและการขาย, นวัตกรรมและเทคโนโลยี, การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (ขาดแคลนบุคลากรที่มีทักษะและความรู้ที่เหมาะสมกับธุรกิจ), การบริหารจัดการซัพพลายเชน, การเข้าถึงตลาดต่างประเทศ และการสร้างความร่วมมือและเครือข่ายธุรกิจ
“การพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ ต้องเริ่มจาก mind set : ผู้ประกอบการต้องปรับมายด์เซ็ตตัวเองว่า อาจต้องเจอวิกฤต ไม่ใช่ว่าการทำธุรกิจมันจะสวยหรู วันแรกที่เราไปทำธุรกิจ ต้องคิดเสมอว่า เราจะไปแก้ปัญหามันยังไง เพราะปัญหาในแต่ละเนื้องานของ SMEs มันมีตั้งแต่วันแรกที่ผลิต จนถึงวันสุดท้ายที่ทำเงิน ดังนั้น ในทุกๆ ขั้นตอนมันมีปัญหาหมด แต่จะทำปัญหาอย่างไรให้สมารถทำงานปัญหาอยู่กับมันได้ และทำงานได้อย่างคล่องตัว ทำงานได้อย่างระยะสั้น แก้ปัญหาระยะสั้น”
พิตรพิบูล กล่าว

สุทัด ครองชนม์ นายกสมาคมไทยไอโอที ระบุ MOU วันนี้ เป็นความต้องการนำเทคโนโลยี ไปให้ผู้ประกอบการ อันจะทำให้ผู้ประกอบการสามารถปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิต ในกรณีที่จะเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุน ลดของเสีย หรือ รวมทั้งมีการคาดการณ์ในเรื่องของการซ่อมบำรุง โดยที่เรามองว่า ความร่วมมือกับสภาเอสเอ็มอี และ ISMED ซึ่งจัดเป็น 2 หน่วยงานใกล้ชิดผู้ประกอบการ จะทราบ และช่วยผู้ประกอบการใช้ได้อย่างเหมาะสม และก็จะทำให้สมาคมไทยไอโอที หน่วยเทคโนโลยีสำคัญ สามารถนำเทคโนโลยีไปนำเสนอให้ผู้ประกอบการได้ในวงกว้าง และรวดเร็วขึ้น
กล่าวได้ว่า เทคโนโลยีไอโอที หรือ (Internet of think) คือเทคโนโลยีที่ใช้การเชื่อมต่อ ทุกสรรพสิ่งมาเชื่อมต่อกัน ดังนั้น เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับไอโอที จะมีจำนวนมาก ตั้งแต่ AI เพราะไอโอที เป็นคนทำดาต้าจากอุปกรณ์ต่างๆ มา เพื่อให้ AI นำมาวิเคราะห์ และดูภาพสิ่งที่ต้องการ
“ตัวอย่างใกล้ตัว เช่น เราใช้เทคโนโลยีนำทาง Google map ซึ่งก็จัดเป็นเทคโนโลยีที่ใช้ IOT กับ AI ทำงานร่วมกัน... เพราะเวลาใช้งาน ‘รถทุกคัน’ ต้องเชื่อมต่อกับโลกอินเตอร์เน็ต เพื่อจะบอกโพสิชันตัวเอง ว่า อยู่ตรงไหน ขณะที่ Google map จะรู้ว่า ณ วินาทีนี้ ถนนเส้นนี้ มีปริมาณรถกี่คัน แต่ว่า Google map จะแนะนำว่า ผู้ใช้เทคโนโลยีนำทางขณะนั้น ควรใช้เส้นทางไหน ตรงนี้เทคโนโลยี AI จะเข้ามาทำหน้าที่วิเคราะห์ประมวลผล และให้คำแนะนำ ดังนั้น ถ้าวันนี้เราบอกว่า ไม่มี IOT กูเกิล แม็ป ก็จะไม่รู้ว่า ถนนเส้นนั้น ณ เวลานั้น มีปริมาณรถมากน้อยแค่ไหน ถือเป็นการใช้ข้อมูลเรียลไทม์ ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ บนโลกอินเตอร์เน็ตเท่านั้น ธุรกิจก็เช่นกัน”
นายกสมาคมไทยไอโอที กล่าว

ขณะที่ ชยดิฐ หุตานุวัชร นายกสมาคมสถาบันทิวา ระบุ ความร่วมมือครั้งนี้ สถาบันทิวาจะให้การส่งเสริมความร่วมมือด้านการพัฒนา ฝึกอบรม การดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงการดูแลสิ่งแวดล้อม รับผิดชอบต่อสังคม และการบริหารจัดการให้เป็นเลิศ เพื่อมุ่งสู่ความยั่งยืนในระยะยาว ตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อสังคมตามหลักวิชาการ
“เราเชื่อว่า เอสเอ็มอี เป็นฐานสำคัญของประเทศ มีจำนวนอยู่เยอะมาก แต่ยังไม่แข็งแรง และต้องการการซัพพอร์ตในหลายเรื่อง ซึ่งคิดว่า 3 หน่วย คือ สภาเอสเอ็มอี อีสเมด และสมาคมไทยไอโอทีก็ทำหน้าที่ในการซัพพอร์ตอยู่แล้ว ส่วนสถาบันทิวา ก็เข้ามามีส่วนช่วยทำให้การขับเคลื่อนมันแข็งแรงขึ้น ช่วยให้ SMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น อีกอันนึง กล่าวได้ว่า SMEs เป็นนักธุรกิจที่อยู่ในกระบวนทัศน์ใหม่ ที่ไม่ได้คิดถึงแต่ ROI (Return on Investment) แต่คิดถึง ROV (Return on Value) ด้วย แทนที่จะสร้างแต่มูลค่าของบริษัท ควรไปคิดถึงคุณค่าของบริษัทที่มีต่อสังคม ต่อสิ่งแวดล้อม ควบคู่กับการทำกำไร เพื่อเป็น backbone (กระดูกสันหลัง) ของเศรษฐกิจไทยต่อไป”
นายกสมาคมสถาบันทิวา กล่าว
