ถือได้ว่า เป็นจุดเริ่มต้นอย่างหนึ่ง สำหรับ Soft Power Thailand เมื่อ สกสว. หรือคือหน่วยงานรัฐที่ชื่อ “สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม” จัดระดมสมอง ยกระดับเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หนุนใช้องค์ความรู้ ววน. ขับเคลื่อนประเทศ เพิ่มรายได้ประชาชน
ซึ่ง ‘หมอเลี้ยบ’ นายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี กรรมการและเลขานุการ คณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ กล่าวในวงปาฐกถาพิเศษ ด้านยุทธศาสตร์และการขับเคลื่อน ซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศไทย และความคาดหวังต่อการสนับสนุนจากระบบวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม โดยชี้ Soft Power ไทยมีหลายเรื่องที่น่าจะ ‘ลุยสู่ตลาดโลก’ ได้ ไม่ว่าจะเป็น “อาหารไทย มวยไทย ภาพยนตร์ไทย ดนตรี ศิลปะ แฟชัน” เป็นต้น เป็นการนำวัฒนธรรมอันดีงามที่มีอยู่ทุกๆ ด้าน มาขยายต่อยอด สร้างมูลค่าเพิ่ม ให้องค์ความรู้ ต่อยอดโชว์เคสสู่ต่างประเทศ พร้อมจะทำให้ขนบธรรมเนียมประเพณี อย่าง “สงกรานต์ และลอยกระทง” เป็นเทศกาลท่องเที่ยว ที่ “ครั้งหนึ่งในชีวิต คนทั่วโลก ต้องมา”

เป้าหมาย Soft Power Thailand
นายแพทย์สุรพงษ์ ยังเผยถึงเป้าหมย Soft Power Thailand ด้วยว่า เราตั้งเป้าว่า ร้านอาหารไทย จะให้ได้มีไปถึงระดับแสนร้าน จากที่ปัจจุบันนี้มีอยู่สัก 2 หมื่นราย, มวยไทย ซึ่งมียิม มีค่ายมวย อยู่ประมาณ 4 หมื่นแห่งทั่วโลก เราอยากให้มีค่ายมวยที่สามารถจะสอนมวยไทยได้อย่างเอาจริงเอาจัง มีแม่ไม้มวยไทยครบเครื่อง ดันมวยไทย เป็นหนึ่งในกีฬาโอลิมปิก, ภาพยนตร์ไทย ซึ่ง ณ วันนี้ ก็อาจจะมีโอกาสน้อยลงในช่วงที่ผ่านมา แต่ส่วนตัวเชื่อว่า ไทยเรามีคนที่มีความสามารถ มีคนเก่งในทุกๆ เรื่อง จะมีการพัฒนาต่อยอดกันขึ้น
ขณะที่ด้าน ดนตรี เตรียมส่งเสริมให้มีดนตรีของคนไทย ออกไปเล่นในเทศกาลภาพยนตร์ทั่วโลก หรือแม้แต่จะจัดเทศกาลดนตรีขนาดใหญ่เกิดขึ้นในประเทศไทย
“เรื่องเกี่ยวกับศิลปะ เราต้องการที่จะทำให้ ศิลปะของไทย ของศิลปินไทย ได้มีโอกาสที่จะผงาดขึ้นมาระดับโลกได้ จะให้หอศิลป์แห่งชาติแห่งใหม่ ซึ่งอยู่ที่ถนนรัชดาภิเษก ได้มีโอกาสเปิดอย่างจริงจัง และเป็นแหล่งรวบรวมศิลปะจากเหล่าศิลปินทั้งประเทศไทยและทั้งโลกด้วย เรื่องอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง แฟชัน เรามีคนที่เป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องแฟชัน มากมาย จะต้องผลักดัน โดยใช้กระบวนการทางด้านการทูต เพื่อส่งเสริมให้คนที่เป็น Talent ในวงการแฟชัน สามารถที่จะเข้าไปร่วมงานในระดับโลก ไม่ว่าจะเป็นที่ฝรั่งเศส หรือที่อิตาลีก็ตาม”
นพ.สุรพงษ์ กล่าว

ดังนั้น จึงเชิญชวน คนไทยทุกครอบครัว ‘คุยกัน’ อยากให้ใครในครอบครัว เป็นตัวแทน Soft Power ในการที่จะลงทะเบียนเข้ารับการฝึกอบรม เช่น มีฝันจะเป็น “คนเขียนเกม อยากเป็นนักมวย เป็นเชฟทำอาหาร” ก็เสนอตัวได้ ซึ่งถ้าหากมีพรสวรรค์จนสามารถยกระดับตัวเอง กลายเป็น expert ในสาขาที่ฝึกฝนจนสามารถจะไปอยู่ทั่วโลกได้ ก็จะเป็นชื่อเสียง Soft Power Thailand ได้ต่อไปในอนาคต
สำหรับงานนี้ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) จัดขึ้นเพื่อระดมความเห็นการพัฒนาและขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศไทย ภายใต้การสนับสนุนของกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุน ววน.) เพื่อกำหนดทิศทางและจุดมุ่งเน้นที่สำคัญของ Creative economy และ soft power ที่ประเทศไทยมีโอกาสและมีศักยภาพ
โดย สุชาดา แทนทรัพย์ เลขานุการรัฐมนตรี ผู้แทน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กระทรวง อว.) ประธานงานนี้ เผย soft power ประเทศไทยมีโอกาสและมีศักยภาพมาก อว.หนุนใช้องค์ความรู้ ความคิดสร้างสรรค์ ทรัพย์สินทางปัญญาที่เชื่อมโยงกับพื้นฐานทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม เทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่ในการผลิตสินค้าและบริการในรูปแบบใหม่ ที่สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจหรือคุณค่าทางสังคม

นอกจากนี้ ยังได้มีการผลักดันเศรษฐกิจสร้างสรรค์ผ่าน Soft Power เดินหน้า นโยบาย 1 ครอบครัว 1 Soft Power หรือ OFOS และมีการจัดตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ เพื่อกำหนดเป้าหมายการขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาล บูรณาการการดำเนินงานของส่วนราชการและภาคเอกชนให้มีประสิทธิภาพและมีความสอดคล้องกับการพัฒนาศักยภาพของประเทศไทยไปสู่นานาประเทศ
ชู งานวิจัย ตอบโจทย์ Soft Power Thailand
กระทรวง อว. ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาและการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศ โดยมีนโยบายมุ่งเน้นในด้านการวิจัยและนวัตกรรม คือ “วิจัย-นวัตกรรมดี ตอบโจทย์ ตรงความต้องการ” ทำให้กระทรวง อว. เป็นกระทรวงเศรษฐกิจที่สามารถสร้างรายได้ให้กับประชาชนและกับประเทศโดยใช้องค์ความรู้และนวัตกรรม ตามนโยบายของ กระทรวง อว. มุ่งเน้นในการเป็นหน่วยงานหลักในการสร้างคน สร้างความรู้ สร้างนวัตกรรมและพัฒนาประเทศ เน้นประเด็นสำคัญของประเทศ
ซึ่ง “อุตสาหกรรมเศรษฐกิจสร้างสรรค์” เป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญที่ อว. ต้องการพัฒนาและขับเคลื่อนเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ด้วยการนำนวัตกรรม เครื่องมือและองค์ความรู้ที่ทันสมัยมาใช้เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสรรค์ให้เกิดมูลค่าเพิ่ม เป็นการสร้างความยั่งยืนให้กับประเทศไทยทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม
โดย อว. จะสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการแก้ไขปัญหาสำคัญของประเทศ โดยมีหลักการสำคัญ คือ “เอกชนนำ รัฐสนับสนุน” ให้เอกชนผู้ที่จะใช้ประโยชน์เป็นผู้กำหนดทิศทางว่าควรจะทำเรื่องอะไร อย่างไร แล้วสถาบันวิจัยและมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ของ อว. จะเข้าไปดำเนินการและสนับสนุนอย่างเต็มกำลัง พร้อมปลดล็อกระเบียบ ข้อจำกัดต่าง ๆ
นอกจากนี้ อว. จะมุ่งส่งเสริมการสร้างและสนับสนุนผู้ประกอบการนวัตกรรม เพิ่มจำนวนผู้ประกอบการนวัตกรรมทุกระดับ ตั้งแต่ระดับเยาวชน สตาร์ตอัพ SMEs และบริษัทเอกชนขนาดใหญ่

รัฐ ตั้งคณะ กก.ยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ
ด้าน รองศาสตราจารย์ ดร.พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ รองผู้อำนวยการ สกสว. ชี้ถึงความคืบหน้า ดำเนินการนโยบาย Soft Power ว่า เมื่อ 13 กันยายน 66 มีการแต่งตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติขึ้น เพื่อทำหน้าที่กำหนดยุทธศาสตร์ จัดทำนโยบายและแผนระดับชาติ ว่าด้วยซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศ รวมถึงจัดให้มีกลไก มาตรการต่าง ๆ เสริมสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ทั้งในและต่างประเทศในการส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์
สกสว. ในฐานะหน่วยนโยบายด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จึงได้มีการจัดทำแผนงานการพัฒนาและยกระดับเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่เน้นคุณค่า สร้างความยั่งยืนและเพิ่มรายได้ของประเทศขึ้น เพื่อให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่จะสร้างมูลค่าจากการขายสินค้าและบริการจากเศรษฐกิจสร้างสรรค์ จึงได้จัดการประชุมระดมความเห็นการพัฒนาและขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศไทย ในครั้งนี้ เพื่อกำหนดทิศทางและจุดมุ่งเน้นที่สำคัญ ในการเพิ่มคุณค่าให้กับสินค้าและบริการเดิมที่มีอยู่นำไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ
“สกสว. เป็นหน่วยงานกลางในการบริหารจัดการกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุน ววน.) มีหน้าที่ในการส่งเสริม สนับสนุน และขับเคลื่อนระบบวิจัยและนวัตกรรมของประเทศในทุกด้าน เพื่อให้เกิดการพัฒนาประเทศอย่างสมดุลและยั่งยืน”
รศ.ดร.พงศ์พันธ์ กล่าว
