“นักท่องเที่ยวหลักของหาดใหญ่ คือนักท่องเที่ยวชาวมาเลเซีย เขานิยมและมีความเชื่อเรื่องมูเตลูพอสมควร และผลตอบรับจากครั้งที่ผ่านผ่านมา ก็เกินคาด จึงจัดต่อมาเรื่อยๆ” ประธานสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจังหวัดสงขลา กล่าว
ปรากฏการณ์กระแสความศรัทธาเกี่ยวกับเครื่องรางของขลัง ตลอดจนการเสริมเสน่ห์เมตตามหานิยม เช่น ลงนะหน้าทอง กำลังเป็นที่นิยมของประชาชนในทุกกลุ่มอาชีพเพราะเชื่อว่าเมื่อเข้าพิธีต่างๆเหล่านี้จะทำให้ชีวิตดีขึ้น สร้างเม็ดเงินหมุนเวียนอย่างมหาศาลแบบประเมินตัวเลขไม่ได้ เช่นเดียวกับเทศกาล ‘มูเตลูหาดใหญ่’ กำลังจะจัดขึ้นใจกลางเมืองในกลางเดือนพฤศจิกายนนี้ ที่หวังดึงนักท่องเที่ยวสายมูจากมาเลเซียเข้าประเทศ ดันเศรษฐกิจกระเตื้องในไตรมาสสุดท้ายของปี

ประธานสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจังหวัดสงขลา ‘สมพล ชีววัฒนาพงศ์’ กล่าวว่า สำหรับงานเทศกาลหาดใหญ่มูเตลู เบื้องต้นงานวันแรกจะจัดวันที่ 15 พฤศจิกายนซึ่งตรงกับงานเทศกาลลอยกระทงด้วย จึงคาดว่าน่าจะมีตัวเลขนักท่องเที่ยวเข้ามาพอสมควร แต่ไม่ได้ประมาณการเม็ดเงินตัวเลขเศรษฐกิจจากการจัดงานได้เท่าไหร่
“จากที่เคยจัดที่ผ่านมา คาดว่าไม่ต่ำกว่า 50 ล้านบาท และผลตอบรับจากครั้งที่ผ่านผ่านมาก็เกินคาด จึงจัดต่อมาเรื่อยๆ เราพบว่าที่ผ่านมามีประชาชนและนักท่องเที่ยวที่ศรัทธาเรื่องนี้เข้าร่วมกิจกรรมกันพอสมควร เราจึงคิดว่าเป็นหนึ่งที่สามารถสร้างจุดขายให้กับการท่องเที่ยวได้”

ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ยังเสริมอีกว่า ที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวมาเลเซียบางคนที่เคยมาก็กระจายไปตามวัดต่างๆ ยกตัวอย่างเช่นที่วัดโคกสูง ที่นิยมไปรดน้ำมนต์ ตรวจดวงชะตา จากนั้นยังเดินสายไปอีกหลายที่ทั้งในเมืองหาดใหญ่และอำเภอรอบนอก
ด้านนักวิชาการด้านศาสนาคนหนึ่งให้ความเห็นว่า การจัดเทศกาลโมเตลูนั้น ถือเป็นการสร้างสีสันให้กับการท่องเที่ยว เพื่อดึงนักท่องเที่ยวจากมาเลเซียที่นับถือสิ่งเหล่านี้มาก เข้ามาในประเทศไทย ถ้าในมุมของการกระตุ้นเศรษฐกิจ ก็ถือว่ามีแนวทางที่ค่อนข้างดี

“ส่วนในเรื่องความเชื่อของพุทธศาสนา ต้องแยกให้ออกว่าระหว่างความเชื่อเรื่องมูเตลูกับพุทธ ซึ่งมูเตลูคือความเชื่อความศรัทธา ที่บางครั้งปราศจากหลักการและเหตุผล และเป็นความเชื่อส่วนบุคคล ที่หวังว่าเมื่อทำสิ่งนี้แล้วชีวิตจะดีขึ้น จะรวยขึ้น สุขภาพจะดีขึ้น ความรักจะดีขึ้น”
“แต่หลักการพุทธศาสนา คือผู้ตื่นผู้เบิกบานผู้รับรู้ความจริงของโลก ยกตัวอย่างหากเราขายของก็ไม่มีวันที่เราจะขายดีทุกวัน และเรื่องความรักก็เช่นกัน ไม่มีใครที่จะรักเราทุกวันตลอดไป และไม่มีคนด่าก็เป็นไปไม่ได้ แต่หากถามว่าไม่มีความหวังได้ไหม เพื่อเป็นกำลังใจให้กับตัวเอง”
“การนำพุทธศาสนามารวมกับโมเตลูในการจัดงาน มองว่า อาจจะทำให้คนเกิดความสับสนและตีความพุทธศาสนาเป็นโมเตลูและเข้าใจผิด มีการชี้นำไปในเชิงไสยศาสตร์หรือไสยเวทซึ่งเป็นของฮินดู แต่เมื่อมาอยู่ในงานเทศกาล ก็ถือว่าเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ดี เป็นการทำการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ แต่ผู้จัดงาน ต้องระมัดระวังในการนำเอาศาสนาและความเชื่อมาเป็นจุดขายโดยเฉพาะเรื่องของพระธรรมคำสอน ที่อาจจะทำให้เกิดความเข้าใจผิดได้”
ทีมข่าวได้พบกับนักท่องเที่ยวชาวมาเลเซีย ‘ชวน มณีรัตน์’ เล่าให้ฟังว่า พื้นเพเป็นคนไทยอยู่ในรัฐเคดาห์ของมาเลเซีย นับถือพุทธศาสนา แต่เป็นคนชอบพระเครื่องและเครื่องรางของขลัง ปกติจะเดินทางข้ามแดนมาไทยบ่อย

“จะชอบข้ามมา เวลามีงานประกวดพระเครื่อง พอมีงานเทศกาลมูเตลูหาดใหญ่ก็มาด้วย มองว่าดีตรงที่จัดรวมทุกอย่างไว้ จึงสะดวกกับนักท่องเที่ยว แต่พิธีกรรมที่จัดอยู่ในงาน ก็ไม่แน่ใจว่าดีหรือไม่ เพราะเป็นเรื่องที่มองไม่เห็น ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของแต่ละคน แต่หากจะให้จ่ายเงินเพื่อซื้อเครื่องรางของขลังก็แล้วแต่เลือกตามเหมาะสมและความชอบ แต่สุดท้ายก็เชื่อในเรื่องคำสอนของพุทธศาสนามากกว่า ว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว”
อย่างไรก็ตาม การท่องเที่ยว ‘เชิงศรัทธา’ กำลังได้รับความนิยมอย่างมาก ไม่เพียงแต่นักท่องเที่ยวชาวไทยเท่านั้น ยังมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ โดยเฉพาะชาวเอเชียที่นิยมมาท่องเที่ยวเพื่อสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในประเทศไทย เนื่องจากมีรากฐานทางวัฒนธรรมและความเชื่อที่คล้ายคลึงกัน

ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่า ธุรกิจความเชื่อความศรัทธา(ศาสตร์มูเตลู) ได้รับความนิยมจากทุกกลุ่มอายุ โดยแต่ละกลุ่มอายุจะมีวิธีการมูเตลูที่แตกต่างกัน แต่กลุ่มที่มีความเชื่อค่อนข้างสูงได้แก่ กลุ่ม Gen Z โดยการเข้าถึงข้อมูลส่วนใหญ่จะมาจากสื่อโซเชียลมีเดีย ซึ่งสอดคล้องกับพฤติกรรมของกลุ่ม Gen Z ที่มีการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตสูงสุดกว่าทุกช่วงกลุ่มวัย
จากการสำรวจ 5 อันดับความเชื่อด้านโชคลางของไทย ที่มักเชื่อมโยงกับ Muketing คือ
1. การพยากรณ์
2. พระเครื่องวัตถุมงคล
3. สีมงคล, อาหารเสริมดวง
4. ตัวเลขมงคล
5. เรื่องเหนือธรรมชาติ
และกระแสมูเตลู คาดว่า จะอยู่ไปอีกนาน เพราะคนส่วนใหญ่ต้องการหาที่พึ่งทางใจนั่นเอง