เงินดิจิทัล 1 หมื่น ขอเคาะเร็ว ชู ยิ่งช้า ยิ่งฉุดเชื่อมั่น

27 ก.ย. 2566 - 02:30

  • นักเศรษฐศาสตร์การเงิน ขอรัฐบาลเร่งเคาะความชัดเจน ‘แจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท’

  • หวั่น ยิ่งช้า ยิ่งฉุดความเชื่อมั่นตลาดเงิน-ตลาดทุน

spacebar-money-forum-digital-money-innovest-x-securities-SPACEBAR-Hero.jpg

นักเศรษฐศาสตร์ เตือนรัฐบาลตั้งรับเงินเฟ้อ ค่าเงินผันผวน ดอกเบี้ยขยับ หลังเงินลงถึงมือประชาชน 56 ล้านคนทั่วไทยไตรมาสแรกปีหน้า แต่ยังชี้ จะเกิดผลดีตามมาในแง่กระตุ้นให้เกิดการลงทุนเพิ่ม ย้ำถ้านโยบายนี้ทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ จะเป็นแรงส่งประเทศไทยเสริมแนวต้านแนวโน้มเศรษฐกิจโลกขาลงปี 67

ปิยศักดิ์ มานะสันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิจัยและการลงทุน สายวิจัย บล.อินโนเวสท์เอกซ์ กล่าวในเวทีเสวนา SPACEBAR Money Forum เงินดิจิทัล 10,000 บาท กับ 5 คำถามที่ต้องเคลียร์?! ว่า ภาคเศรษฐศาสตร์การเงิน อยากให้รัฐบาลสรุปความชัดเจนของนโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาทโดยเร็ว รวมถึงคาดการณ์ที่ว่าเงินจำนวน 5.6 แสนล้านบาท ที่จะกระจายลงไปตามนโยบายนี้จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทย ในปี 2567 ขยายตัวได้ถึง 5-7% จะเป็นการเติบโตในส่วนใดเป็นพิเศษ เนื่องจากปัจจุบันภาคเศรษฐกิจการเงินและตลาดทุน เริ่มได้รับผลกระทบด้านความเชื่อมั่น

ทั้งนี้ รัฐบาลจำเป็นต้องมีแผนงานที่ชัดเจนรองรับนโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาท ทั้งในด้านแหล่งที่มาและวิธีการจัดหาเงินมาใช้จ่าย รูปแบบเงินดิจิทัลและเทคโนโลยีที่จะใช้ เงื่อนไขในการใช้จ่าย เป็นต้น เพื่อไม่ส่งผลกระทบสร้างความสั่นคลอนต่อระบบการเงิน และลดทอนประสิทธิภาพในการดึงความเชื่อมั่นในการลงทุน ตลอดจนกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายสร้างเงินหมุนเวียนในระบบธุรกิจโดยเร็ว นำไปสู่เป้าหมายของโจทย์ตามนโยบายนี้คือ กระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ

“ในมุมมองนักเศรษฐศาสตร์การเงิน ความน่าเชื่อถือ จะมีได้ก็ต้องมีแผนที่ชัดเจน ซึ่งเป็นประเด็นที่ตลาดเงินตลาดทุนกังวลอยู่ เช่น คาดการณ์ที่บอกว่าเงินที่กระจายลงไปตามนโยบายนี้ จะหนุนการเติบโตของเศรษฐกิจ 5% ตัวไหนจะโตบ้าง เป็นต้น อีกทั้งต้องไม่กระทบปัญหาวินัยทางการเงินของสถาบันการเงิน การใช้มาตรการนี้แล้วไปใช้เงินจากธนาคารเฉพาะกิจก่อนจะไม่ทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มสูงขึ้น แต่รัฐบาลต้องให้ความชัดเจนด้วย”

ปิยศักดิ์ กล่าว

สำหรับผลกระทบที่เริ่มเห็นแล้ว และมีแนวโน้มอาจสูงขึ้นอีกถ้ายังไม่มีความชัดเจนในเรื่องนี้ออกมา ได้แก่

Bond Yield (อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล) ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้นักลงทุนเกิดความกังวลของนักลงทุน และความเสี่ยงเรื่องค่าเงิน เหล่านี้จะทำให้เกิดความเสี่ยงต้นทุนทางการเงินของภาคธุรกิจเพิ่มขึ้น และจะไปลดทอนประสิทธิภาพของจุดประสงค์ที่รัฐบาลต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ การที่ภาครัฐทำนโยบายขาดดุล หรือมาตรการในลักษณะที่ดึงเงินเข้ามาจากระบบ (Crowding Out) เพื่อใช้ในการอัดฉีดเพิ่มการบริโภค ในทางปฏิบัติจะเป็นการดึงดอกเบี้ยให้สูงขึ้น ดังนั้น ถ้ายิ่งเกิดความไม่เชื่อมั่น ก็จะยิ่งกระทบให้อัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นไปอีก ผลก็คือ ภาคธุรกิจจะไม่อยากกู้ยืมเงินมาเพื่อใช้ในการลงทุน เพราะในหลักการแล้วการทำ Crowding Out คือ การที่ภาครัฐดึงทรัพยากร (Resources) จากภาคเอกชนไป ดังนั้น ภาครัฐก็ต้องชัดเจนว่าเงินที่ดึงออกไปนี้ จะไปช่วยหมุนเศรษฐกิจ และช่วยด้านการเงิน (Finance) ได้ในระดับหนึ่ง เพื่อให้เกิดความมั่นใจในการใช้จ่ายเพื่อการลงทุน

ปิยศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับช่วงเวลาแจกเงินดิจิทัลตามนโยบายนี้ ที่คาดว่าจะเป็นเดือนกุมภาพันธ์ 2567 หากทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็จะช่วยสร้างโมเมนตัมที่ดีขึ้นท่ามกลางคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจโลกปีหน้า ที่จะชะลอตัวลงทั้งฝั่งอเมริกา ยุโรป และจีน ซึ่งจะกระทบต่อภาคการส่งออกที่เคยเป็นความคาดหวังของไทย

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเงินที่จะกระจายเข้าไปสู่ภาคการบริโภคพร้อมกันเป็นจำนวนมหาศาลถึง 5.6 แสนล้านบาท ดังนั้น อีกประเด็นความเสี่ยงในเชิงปฏิบัติคือ เงินเฟ้อจะพุ่งขึ้น โดยเฉพาะช่วงแรกของการทำนโยบาย เพราะจะทำให้มีความต้องการซื้อสินค้าจำนวนมาก แต่เนื่องจากจนถึงปัจจุบันยังไม่มีความชัดเจนต่างๆ ของแผนงานจากฝั่งรัฐบาล ดังนั้น inventory ยังน้อย เมื่อความต้องการเพิ่มขึ้นทันทีเมื่อเงินลงถึงมือประชาชน ก็จะเพิ่มกำลังการผลิตไม่ทัน และนำมาสู่ราคาที่เพิ่มขึ้น เกิดปัญหาเงินเฟ้อ รวมถึงความต้องการนำเข้าเพิ่มขึ้น ขณะที่การส่งออกไม่ขยายตัว นำมาสู่การขาดดุลการค้า และดุลบัญชีเดินสะพัด ค่าเงินผันผวน

ขณะเดียวกัน ความต้องการสินค้าที่เพิ่มขึ้น ก็จะทำให้มีการเพิ่มการลงทุนตามมา อีกทั้งถ้ามีการกระตุ้นการหมุนของรอบเงินอย่างมีประสิทธิภาพ ขยายกรอบเวลาการใช้จ่ายเงินดิจิทัล 10,000 บาทนี้ออกไปจาก 6 เดือน จะเพิ่มการหมุนทางเศรษฐกิจได้

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์