เงินดิจิทัล 1 หมื่น ใช้อย่างไร? ไม่ด้อย ‘ค่า’

26 ก.ย. 2566 - 10:00

  • สภา SMEs เสนอ 2 แนวทาง วงเสวนา “เงินดิจิทัล 1 หมื่นบาทกับ 5 คำถามที่ต้องเคลียร์” ชี้ เงินดิจิทัล 1 หมื่น จะไม่ถูกด้อยค่า หาก ซื้อขายแลกเปลี่ยนในระบบปิด

  • ด้านรัฐต้องพร้อมซื้อคืน ด้วยมูลค่าการันตีที่สูงกว่า ชี้ โอกาสสำเร็จดังตั้งใจ ‘มีสูง’

spacebar-sme-digital-money-clear-5-question-SPACEBAR-Hero.jpg

เวที “เงินดิจิทัล 1 หมื่นบาทกับ 5 คำถามที่ต้องเคลียร์” จัดโดย SPACEBAR ร่วมกับ สภาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทย (สภาเอสเอ็มอี) นั้น แม้หลักใหญ่ใจความจะอยู่ในกรอบ 5 คำถาม แต่ก็ถือได้ว่า การพูดคุยในเวทีนี้ ทำให้ ‘ผู้รอใช้เงินดิจิทัล’ ได้เห็นมิติต่างๆ จากผู้เชี่ยวชาญ เพื่อกรุยทางไปสู่การใช้ ในช่วงต้นปี 2567 ช่วยปิดช่องการด้อยค่าเงินดิจิทัล แสวงหาโอกาสการใช้อย่างมีเสถียรภาพ ส่งเสริมทดลองใช้อย่างเป็นรูปธรรม

โดย สุปรีย์ ทองเพชร ประธานสภาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทย ชี้ว่า มีโอกาสเป็นไปได้สูง ชูการใช้เงินดิจิทัลด้วย ‘ระบบปิด’ ยกตัวอย่างการใช้ในกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ที่ในปัจจุบันมีถึงกว่า 9 แสนบริษัท มีจำนวนคนกว่า 14 ล้านคน ถือว่า เป็นหน่วยธุรกิจที่ยิ่งใหญ่หน่วยหนึ่งของประเทศ ถือเป็นองค์กรเดียวที่มีอาณาเขต-ขนาดของผู้ประกอบการ ทั้งฝั่งซื้อ-ฝั่งขาย ฝั่งพนักงาน ใหญ่ที่สุด หากทดลองใช้ด้วยระบบปิดกับคนกลุ่มนี้ จะทำให้เกิดการหมุนเงินในระบบ ทั้งภาคการผลิต ภาคบริการ ด้วยอีโคซิสเต็มของเอสเอ็มอีเอง มาร่วมกันใช้ และผู้บริโภคช่วยเคลื่อนการใช้เงินดิจิทัล เห็นผลชัด หนุนให้เกิดการซื้อขายหลายระดับ เช่น บริษัทกับบริษัท หรือ B2B และหนุนพนักงานมาใช้ ก็มีโอกาสสร้างการเจริญเติบโต เกิดการใช้ที่มากขึ้น ให้ความมั่นใจกับเอสเอ็มอีว่า ถ้าใช้โดยตลอด จะได้ประโยชน์กี่ด้าน จุดนี้จะ “ไม่ทำให้เงินดิจิทัล ‘ไหลออกนอกระบบ’ หรือถูกแปลงเป็นเงินบาท ก่อนถึงเวลาอันสมควรอย่างที่กังวลในปัจจุบัน”

ชู ดัน SMEs เต็มใจใช้ แต่เสนอรัฐ ‘การันตี’ รับซื้อคืน

สุปรีย์ ยังชี้ หากระยะเวลาถูกกำหนดให้ยาวกว่า 6 เดือน กรอบ 1 ปี หรือ 2 ปี หรือเท่าใดก็ตาม จุดสำคัญข้อใหญ่คือ รัฐต้องการันตีการรับซื้อคืน จากผู้ประกอบการที่ลงทะเบียนในจุดเริ่มต้น โดยข้อเสนอนี้ เป็นไปเพื่อจูงใจให้ผู้ประกอบการ ‘เต็มใจใช้ และเต็มใจเก็บเงินดิจิทัลไว้ในมือ’ เพื่อรอเวลาอีก 24 เดือนข้างหน้า จะสามารถขายคืนได้กับรัฐบาลได้อย่างไม่มีข้อกังวล และก่อนจะถึงจุดนั้น มันเกิดรอบการใช้เงินดิจิทัลหลายรอบจนถึงจุดคุ้มค่าแล้ว

“การเริ่มต้นโครงการใดโครงการหนึ่ง หากค่อยๆจับทีละกลุ่ม จะทำให้ลูกบอลหิมะมีขนาดใหญ่ขึ้น เห็นผลได้ การให้เอสเอ็มอี เป็นผู้ใช้อาจเกิดการใช้ซ้ำดังที่คาดหวังได้ แน่นอนอาจจะไม่ใช่ 6 เดือน แต่การทำงานครั้งนี้ อาจจะทำงานร่วมกันในกรอบ 12 เดือน หรือ 24 เดือน ให้เกิดการหมุนเวียนเยอะมากขึ้นไปเรื่อยๆ และให้บริษัท จากขนาดกลาง จนถึงวิสาหกิจชุมชน เข้ามาร่วมใช้ มันทำให้เรา เข้าไปสู่จุดที่มีความใกล้เคียงดิจิทัลวอลเล็ต ที่ไม่ว่าจะเป็น บล็อกเชน หรือไม่ หรือจะเป็นไพรเวทบล็อกเชน ที่ไปแก้ปัญหาทางเทคนิค เดี๋ยวค่อยว่ากัน แต่ผมคิดว่า มันควรทำเฉพาะกลุ่ม”

สุปรีย์ กล่าว

ขณะที่ในด้านค่าเงิน รัฐต้องการันตีมูลค่าการแลกคืน เช่น เงิน 1 ดิจิทัล ถือไว้ 2 ปี จะสามารถแลกคืนได้ 1.10 บาท เป็นต้น ซึ่งสิ่งนี้จะทำให้สังคมการใช้เงินดิจิทัล ยังจะถูกแลกเปลี่ยนหมุนเวียนในตลาด เป็นไปตามแนวทางที่รัฐ อยากให้เป็น พร้อมกับเป็นการสร้างเสถียรภาพเงินดิจิทัลประเทศ ชนิดที่เป็น ‘วอลเล็ต’ นี้ได้ในตัว 

เสนอรัฐ ลดหย่อนภาษีผู้ประกอบการร่วมโครงการใช้เงินดิจิทัล

สุปรีย์ ยังเสนอ อยากให้รัฐบาลมองกลุ่มเอสเอ็มอีที่ใช้เงินดิจิทัลในทุกๆ เดือน อาจจะช่วยนำไปลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล ‘ต่อเดือน’ โดยเชื่อว่า สิ่งนี้จะช่วยจูงใจผู้ประกอบการหันมาใช้เงินดิจิทัลจำนวนมาก หมายความว่า ถ้า 9 แสนบริษัท คน 14 ล้านคน ใช้เงินดิจิทัลขึ้นมาจริงๆ โอกาสสำเร็จของดิจิทัลวอเล็ต มันถึงเกิดขึ้นได้ นอกจากนี้ ยังเชื่อว่า สิ่งนี้จะจูงใจให้เอสเอ็มอีสนใจมาเข้าสู่ระบบภาษีมากขึ้น และทำให้เอสเอ็มอี ได้รับการช่วยเหลือในวงกว้างได้ต่อไป

“เราตั้งใจทำเรื่องนี้ เพราะต้องการสนับสนุนโครงการดิจิทัลวอเล็ตของรัฐบาล เมื่อเกิดการหมุนเวียน และรัฐการันตีรับซื้อคืน โอกาสที่ค่าเงินจะสูงขึ้นก็มีมาก แต่การรับซื้อคืนต้องการันตีว่า ไม่ได้รับซื้อคืน บาทต่อบาทละ แต่จะรับซื้อคืนแบบ 1.10 บาท อะไรก็แล้วแต่ เพื่อการันตีจุดปลายทางว่า เงินดิจิทัลที่เรากำลังใช้อยู่นี้ จะมีมูลค่าสูงขึ้น”

สุปรีย์ กล่าว

ทั้งนี้ กลุ่มเอสเอ็มอี ถือเป็นกลุ่มที่มีโอกาสในการพัฒนาประเทศสูง เมื่อทำทุกอย่างถูกต้อง มีการพัฒนาศักยภาพ สุดท้ายก็จะช่วยส่งเสริม ทั้งการพัฒนาศักยภาพและการพัฒนาตลาดให้กับกลุ่มเอสเอ็มอีเอง และเอสเอ็มอี ยังมีโอกาสที่จะเติบโตสูงขึ้นไปเรื่อยๆ หลายประเทศเอสเอ็มอีมีส่วนช่วยเคลื่อนจีดีพีมากกว่า 70% แต่ประเทศไทยยังน้อย เพียงประมาณ 40% จำนวนนี้มี 30% ที่สามารถโตต่อได้

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์