เพราะยังมี ‘คนไทยอีกจำนวนมาก ที่ขาดโอกาสด้านการศึกษา’ กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา จึงเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2538 รัฐบาลจัดสรรงบประมาณแผ่นดิน เป็นทุนประเดิมจำนวน 3 พันล้านบาท เพื่อให้โอกาสกับเด็กที่ไม่มีเงินจ่ายค่าเล่าเรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ระดับอาชีวศึกษา และระดับปริญญาตรี และดำเนินการต่อเนื่องมา จนถึงปัจจุบัน
แต่แล้ว! เมื่อเกิดกระแสจากสื่อโซเชียล ที่ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์อ้างตัวว่า เป็นผู้กู้ยืมเงิน กยศ. ได้โพสต์รีวิว การบิดหนี้ กยศ. พร้อมชักชวน ‘ผู้กู้ยืมรายอื่น’ ให้ไม่ชำระหนี้คืน!!! จึงกลายเป็นเรื่องที่ผู้เกี่ยวข้อง ต้องทำความเข้าใจ ซึ่งล่าสุด ฝ่ายรัฐบาล โดย ‘คารม พลพรกลาง’ ในฐานะโฆษกรัฐ ออกมาย้ำเตือนผู้กระทำการดังกล่าวว่า การชักชวนหรือสนับสนุนให้ผู้อื่นหลีกเลี่ยงการชำระหนี้หรือโอนทรัพย์สินเพื่อหลีกเลี่ยงการบังคับชำระหนี้ ถือเป็นการกระทำที่ขาดความรับผิดชอบและผิดกฎหมาย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อนักเรียน นักศึกษารุ่นน้องที่ต้องการความช่วยเหลือจาก กยศ. ได้ในอนาคต
ทั้งนี้ กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือ กยศ. เป็นหน่วยงานของรัฐ มีวัตถุประสงค์ให้กู้ยืมเงินเพื่อการศึกษา เพื่อเพิ่มโอกาสทางการศึกษาและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศ โดยใช้เงินจากงบประมาณแผ่นดินและเงินที่ได้รับชำระหนี้ของผู้กู้ยืมรุ่นพี่กลับมาเป็นทุนหมุนเวียนเพื่อนำไปสร้างโอกาสทางการศึกษาให้แก่ผู้กู้ยืมรุ่นน้อง
โดย กยศ. มุ่งหวังที่จะช่วยเหลือผู้ที่ต้องการศึกษาต่อสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่มีดอกเบี้ยต่ำ เพียงร้อยละ 1 ต่อปี มีระยะเวลาผ่อนชำระนานถึง 15 ปี และมีเงื่อนไขการผ่อนชำระหนี้ที่ยืดหยุ่น ดังนั้น การชำระหนี้จึงเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบที่ผู้กู้ยืมทุกคนควรปฏิบัติเพื่อส่งต่อโอกาสทางการศึกษาให้แก่รุ่นน้องต่อไป
“หากผู้กู้ยืมไม่ชำระเงินคืนตามกำหนดจะทำให้เกิดภาระดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นและเกิดเบี้ยปรับจากการผิดนัดชำระหนี้ รวมถึงอาจถูกฟ้องร้องบังคับคดีตามกฎหมายอีกด้วย ทั้งนี้ ผู้กู้ยืมคนใดประสบปัญหาทางการเงินและไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด ก็สามารถติดต่อกับ กยศ. เพื่อขอปรับโครงสร้างหนี้เพื่อขยายระยะเวลาการชำระหนี้ได้” นายคารม กล่าว
กยศ.ย้ำ ผิดนัดชำระหนี้ เจอแน่! ภาระดอกเบี้ย-เสียเบี้ยปรับ-ถูกฟ้องบังคับคดี
กล่าวได้ว่า กยศ มีรอบบัญชีของการจ่ายเงิน โดยครบกำหนดชำระวันสุดท้ายของทุกปี คือวันที่ 5 กรกฎาคม ซึ่ง ‘ลูกหนี้ กยศ.’ จะต้องจ่ายคืนตามยอดเงินของแต่ละคน แต่ก็พบว่า ตลอดระยะเวลาเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา มีหลายกรณีที่ลูกหนี้ไม่ชำระหนี้คืนตามกำหนด ซึ่งไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใดก็ตาม การไม่ชำระหนี้คืนย่อมส่งผลกระทบต่อ ‘ผู้กู้ยืม’ หลายด้านอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยสิ่งที่เกิดแน่นอนคือ ภาระดอกเบี้ย ตามมาด้วย ‘เบี้ยปรับ’ และยังจะถูกฟ้องร้องบังคับคดีตามกฎหมาย ซึ่งถ้าหากยังเพิกเฉย กฎหมายก็ดำเนินไปกระทั่งถึงขั้น ‘ยึดทรัพย์’ ได้ด้วยเช่นกัน
ผลกระทบ ยังไม่ได้หยุดอยู่เท่านี้ โดยจากพฤติกรรม ขาดความรับผิดชอบในการชำระหนี้ กระทบชีวิตในการ ‘มีประวัติทางการเงินที่ไม่ดี’ อนาคตหากต้องการกู้เงินเพื่อซื้อทรัพย์สิน หรือเพื่อลดความเดือดร้อนใดๆ ก็จะไม่สามารถทำได้
นอกจากนี้ ยังจะทำให้ ‘ผู้ค้ำประกัน’ ต้องเดือดร้อนตามไปด้วย
จะว่าไป การชำระคืนหนี้ ก็ไม่ได้มาก เพราะ กยศ.กำหนดไว้ว่า เมื่อผู้กู้กู้เงิน กยศ.ไปแล้ว มีหน้าที่ต้องชำระเงินที่กู้ยืมมาพร้อมทั้งดอกเบี้ยหรือประโยชน์อื่นใด 1% ต่อปี โดยต้องชำระคืนให้เสร็จสิ้นภายใน 15 ปี (นับแต่วันเริ่มชำระหนี้) ส่วนการชำระหนี้งวดต่อๆ ไปผู้กู้ยืมจะต้องชำระเงินต้นคืน ตามอัตราผ่อนชำระที่กองทุนกำหนด พร้อมด้วยดอกเบี้ยของเงินต้นที่คงค้าง ภายในวันที่ 5 กรกฎาคม ของทุกปี

หากผู้กู้ยืมเงินผิดนัดชำระหนี้ ผู้กู้ยืมเงินจะต้อง ‘ชำระค่าปรับ’ (เบี้ยปรับ) หรือ ‘ค่าธรรมเนียมจัดการ’ กรณีผิดนัดชำระหนี้ตามอัตราที่กองทุนกำหนด ซึ่งโดยปกติแล้วค่าปรับจะอยู่ที่ 12% กรณีค้างชำระไม่เกิน 1 ปี และ 18% กรณีค้างชำระเกิน 1 ปี ของเงินต้นค้างชำระ
กู้เงิน กยศ. แบบไหนถึง ‘ถูกฟ้องร้อง’
การกู้เงิน กยศ. หากมีการผิดนัดชำระ นอกจากจะต้องจ่ายค่าปรับ และเสียค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้องแล้ว หากไม่ชำระคืนเป็นเวลานานก็จะถูกฟ้องดำเนินคดี โดยมีเกณฑ์ของการ ‘ถูกฟ้องร้อง’ ตามเงื่อนไข ต่อไปนี้
1. ผู้กู้ยืม กยศ. ที่ค้างชำระหนี้เกินกว่า 4 ปี 5 งวด (1,460 วันขึ้นไป)
2. ผู้กู้ยืม กยศ. พ้นระยะเวลาการผ่อนชำระหนี้แล้ว แต่ยังมีหนี้ค้างชำระ
3. ผู้กู้ยืม กยศ. กลุ่มไกล่เกลี่ยก่อนฟ้องคดี (มีหนี้ค้างชำระ) ตามเงื่อนไข คือ
- ไม่เป็นผู้กู้ยืมเสียชีวิตหรือสาบสูญ
- ไม่เป็นผู้กู้ยืมพิการหรือทุพพลภาพ ที่ได้รับอนุมัติให้ระงับการเรียกให้ชำระหนี้แล้ว
- ไม่เป็นผู้กู้ยืมที่ชำระหนี้ปิดบัญชีแล้ว หรือผู้รับทุนที่มีบัญชีติดลบ
- ไม่เป็นผู้กู้ยืมที่ถูกดำเนินคดีแล้ว
- ไม่เป็นผู้กู้ยืมที่ยินยอมให้กองทุนฯ หักเงินเดือน
- ไม่เป็นผู้กู้ยืมชำระหนี้มากกว่า 10% ของยอดหนี้คงเหลือ (ผลรับชำระหนี้ 2 ปี ย้อนหลัง)
- ไม่เป็นผู้กู้ยืมที่ถูกศาลพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด