“กาลเวลาย่อมกลืนกินสรรพสัตว์ รวมทั้งตัวมันเอง”
อรรถกถามูลปริยายชาดกที่ ๕
ปี 2023 รถยนต์ที่ใช้น้ำมันกำลังตกอยู่ภายใต้สัจธรรมนี้
เมื่อไทม์ไลน์ประวัติศาสตร์เดินมาถึงจุดเปลี่ยน
รถยนต์ไฟฟ้า (EV) กำลังมาแทนที่รถน้ำมัน
เหมือนที่ครั้งหนึ่งรถยนต์กลืนกินม้าและสัตว์พาหนะอื่นๆ
รถยนต์คันแรกถือกำเนิดอย่างเป็นทางการ เมื่อปี 1886 หรือ 137 ปีที่แล้ว คนตัดสายสะดือเป็นชาวเยอรมันชื่อ คาร์ล เบ็นทซ์ (Karl Friedrich Benz)

แม้จะทำคลอดที่เยอรมนี แต่รถยนต์ไปเติบโตที่ดินแดนแห่งเสรีภาพ--สหรัฐอเมริกา เมื่อ เฮนรี ฟอร์ด (Henry Ford) วิศวกรที่หลงใหลรถยนต์ เปิดตัวรถยนต์ Ford Model T ในปี 1908 หรือหลังจากรถของคาร์ล เบ็นทซ์ ราว 22 ปี
Ford Model T นับเป็นจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ของอุตสาหกรรมรถยนต์ เพราะเป็นรถยนต์คันแรกที่ 'ราคาจับต้องได้' จากการผลิตแบบสายพาน (assembly-line) ที่เน้นการใช้สายพานและการผลิตชิ้นส่วนต่างๆ ครั้งละหลายชิ้น ก่อนนำมาประกอบรถยนต์อย่างเป็นระบบ

วิธีการผลิตที่ เฮนรี ฟอร์ด คิดค้นช่วยลดเวลาและต้นทุนการผลิตรถยนต์มหาศาล รถยนต์ที่เคยเป็นแค่ของเล่นคนรวย กลายเป็นสินค้า mass production ที่เข้าถึงชนชั้นกลาง
เห็นได้จากราคารถ Ford Model T ค่อยๆ ลดลงจากครั้งแรกที่ออกขายถึง 70% (จาก 850 ดอลลาร์สหรัฐ เหลือ 260 ดอลลาร์สหรัฐ)
มีบันทึกระบุว่า Ford Model T ขายได้มากถึง 15 ล้านคันในช่วงเวลา 19 ปีที่วางจำหน่าย (ปี 1908-1927)

แม้จำนวนจะน้อยกว่า Toyota Corolla (เริ่มผลิตปี 1966-ปัจจุบัน) รถยนต์รุ่นขายดีที่สุดตลอดกาลที่ขายได้ถึง 50 ล้านคัน แต่อย่าลืมว่า ในยุค Ford Model T คนขับรถยังมีจำนวนน้อยกว่าวันที่ Toyota Corolla เกิดขึ้นมหาศาล

นวัตกรรมการผลิตของ เฮนรี ฟอร์ด เป็นชนวนสำคัญที่จุดระเบิดให้สหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำตลาดยานยนต์โลก ก่อนอีกหลายปีให้หลัง ประเทศที่ถูกสหรัฐอเมริกาทิ้งบอมและเป็นผู้แพ้สงครามในสงครามโลกครั้งที่ 2 อย่างญี่ปุ่น จะเร่งสร้างชาติและพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์ขึ้นมาแข่งกับตลาดโลก เพื่อฟื้นฟูประเทศและเศรษฐกิจอีกครั้ง จนกลายมาเป็นผู้เล่นหลักและคู่แข่งคนสำคัญของสหรัฐอเมริกา
ตลาดรถยนต์โลกอยู่ภายใต้เงาของ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และยุโรป 3 มหาอำนาจโลกตลอดมา จนกระทั่งกาลเวลานำพาคนชื่อ อีลอน มัสก์ (Elon Musk) มาสานต่อภารกิจรถยนต์ไฟฟ้า (EV - Electric Vehicle) ที่ถูกคิดค้นไว้ตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 จนกลายเป็น เทสล่า (Tesla) บริษัทยานยนต์ข้ามชาติและพลังงานสะอาดสัญชาติอเมริกัน ที่สร้างจุดเปลี่ยนประวัติศาสตร์รถยนต์โลกอีกครั้ง ด้วยรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า 100% (BEV - Battery Electric Vehicle)

การมาของ Tesla สร้างแรงสั่นสะเทือนต่อผู้ผลิตรถยนต์ทั่วโลก และพาอนาคตให้มาถึงเร็วกว่าที่ผู้ผลิตในตลาดรถยนต์คาดการณ์
พายุดิสรัปชั่นเริ่มก่อตัวโดยผู้มาใหม่ เหมือนทุกเรื่องท่ีเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์
แถมยังเป็นการมาถูกที่ถูกเวลา ท่ามกลางวิกฤตสิ่งแวดล้อม พลังงาน สงคราม จมูกนักลงทุนรู้ดีว่า นี่คือทางเลือกใหม่และโอกาสครั้งใหญ่ เงินทุนจำนวนมหาศาลถูกเทไปที่บริษัทรถยนต์น้องใหม่อย่าง Tesla จนกลายเป็นบริษัทรถยนต์ที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลก

ราคาหุ้น Tesla Inc
- ปี 2010, 2 กรกฎาคม: 1.28 ดอลลาร์สหรัฐ
- ปี 2023, 21 พฤศจิกายน: 241.2 ดอลลาร์สหรัฐ
- มูลค่าเพิ่มขึ้น +239.92 ดอลลาร์สหรัฐ หรือมากถึง 18,743%
Tesla ขยับขึ้นเป็นบริษัทรถยนต์ที่มีมูลค่าตลาด (Market Cap. - มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด) สูงสุดครั้งแรกหลังก่อตั้งได้ 17 ปี ในเดือนกรกฎาคม ปี 2020 ด้วยมูลค่า 208,000 ล้านเหรียญสหรัฐ แซงหน้าโตโยต้าผู้ผลิตรถยนต์ยักษ์ใหญ่จากญี่ปุ่น

หลังจากนั้นก็ไม่มีใครหยุดยั้งความแรงของ Tesla ได้ จนกระทั่งบริษัทสัญชาติจีนชื่อ BYD (ก่อตั้งปี 1995) ที่เริ่มต้นจากการออกแบบ-ผลิตแบตเตอรี่ ขยายไลน์มาลุยตลาดรถยนต์ในปี 2003 ประกาศก้องเมื่อปีที่แล้ว (ปี 2022) ว่าจะมุ่งสู่ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าแบบ BEV อย่างจริงจัง
หวัง ชวนฟู (Wang Chuanfu) ผู้ก่อตั้งและเจ้าของ BYD อดีตลูกกำพร้าจากครอบครัวชาวนายากจน มีสัญชาตญาณและวิสัยทัศน์ที่เฉียบคมรู้ดีว่า รถยนต์ไฟฟ้าไม่ต่างจากเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มี 'แบตเตอรี่' เป็นหัวใจ และ BYD มีองค์ความรู้เรื่องนี้อย่างลึกซึ้ง

การลุยตลาดรถยนต์ไฟฟ้าที่ใช้ไฟฟ้าเป็นเชื้อเพลิง 100% สำหรับ BYD ไม่ใช่เรื่องยาก เพราะพวกเขาเริ่มทำรถยนต์มาตั้งแต่ปี 2003 ส่วนแบตเตอรี่ BYD ได้พัฒนา Blade Battery นวัตกรรมแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ที่ได้รับการยอมรับว่าดีที่สุดในโลก
ดีจนบริษัทผู้ให้กำเนิดรถยนต์อย่าง เมอร์เซเดส-เบนซ์ (Mercedes-Benz) ประกาศว่าจะผลิตรถยนต์ที่ใช้แบตฯ จาก BYD ในปี 2025

หลังสิ้นเสียงคำประกาศของมิสเตอร์หวัง BYD ยืนยันสิ่งนั้นด้วยจำนวนรถยนต์ไฟฟ้าและยอดขายในตลาดที่โตขึ้นอย่างรวดเร็ว
จากผู้นำตลาดหนึ่งเดียว Tesla เริ่มหนาวๆ ร้อนๆ เมื่อ BYD ลงสนามในปี 2022 ยอดขาย BYD ไล่กวดเข้ามาใกล้เรื่อยๆ ยอดส่งรถของ Tesla เริ่มไม่ถึงเป้า เพราะคนเริ่มหันไปสนใจรถยนต์ไฟฟ้าจากค่ายจีน (โดยเฉพาะ BYD) ที่ราคาเซ็กซี่กว่าในสเปคที่เทียบเท่าหรือดีกว่า
จน Tesla ต้องหั่นราคารถยนต์ของตัวเองในปี 2023 ลงถึง 34% ด้วยการปรับราคาในสหรัฐอเมริกาถึง 5 ครั้ง ขณะที่ปรับลดราคาขายในประเทศไทยสูงสุดถึง 260,000 บาท
ถึงแม้ Tesla จะใช้สงครามราคาเข้าสู้ แต่ดูเหมือนว่าผู้เชี่ยวชาญจะถือข้างผู้มาใหม่อย่าง BYD ว่ามีภาษีดีกว่า เมื่อดูจากยอดขาย BYD ไตรมาสที่ 3 ปี 2023 ที่ไล่หลัง Tesla อยู่แค่ 3,456 คัน

สื่อด้านธุรกิจ Investor's Business Daily คาดการณ์จากตัวเลขยอดขาย BYD เดือนตุลาคมที่ผ่านมาว่า BYD น่าจะทำยอดขายสูงถึง 500,000 คันในไตรมาส 4 “ได้สบายๆ”
แต่หมากเกมนี้เพิ่งเริ่มต้นเท่านั้น เพราะ BYD หันมาจริงจังกับรถยนต์ EV ได้ไม่ถึง 2 ปี ขณะที่ Tesla รู้ตัวแล้วว่าบัลลังก์ EV ไม่ใช่ของข้าพเจ้าแต่เพียงผู้เดียวอีกต่อไป
ทางด้านผู้ผลิตรถยักษ์ใหญ่ที่สร้างตัวจากรถสันดาป ทั้งสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ยุโรป ออกมาประกาศชัดในปีนี้ว่า EV คืออนาคตบนแผนที่บริษัท หลังเห็นกระแส EV ที่ก่อตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว
หนึ่งในตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ BMW ประกาศยุติไลน์ผลิตเครื่องยนต์สันดาปภายในที่โรงงานในเมืองมิวนิก (Munich) เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา
เหตุการณ์นี้คล้ายเสียงระฆังที่ดังเตือนว่า...
“ศักราชของรถยนต์ไฟฟ้า (EV) เริ่มต้นแล้วอย่างเป็นทางการ”

ในโลกทุนนิยม กฎข้อหนึ่งคือ ทุนไหลไปที่ไหน โลกย่อมเคลื่อนไปทางนั้น
สิ่งแวดล้อมคือปัญหาใหญ่ของโลก และเป็นกติกาที่เข้ามากำกับการทำธุรกิจขององค์กรขนาดใหญ่ทั้งภาครัฐและเอกชน การละเมิดหรือไม่ไยดีมีค่าเท่ากับการทำลายถังข้าวสารตัวเอง
ทิม คุก (Tim Cook) ซีอีโอของ Apple ให้สัมภาษณ์กับ Brut. สื่อสัญชาติฝรั่งเศสว่า Apple มีเป้าหมายที่จะบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (carbon neutrality) ภายในปี 2030 โดยสะท้อนถึงความจริงจังผ่านพฤติกรรมส่วนตัวที่หันมาทดลองขับรถกระบะไฟฟ้า Rivian R1T

คำถามคือ เมื่อทุนและเทรนด์เคลื่อนไปที่ EV แล้ว มันจะเปลี่ยนเข้าสู่ยุครถยนต์ไฟฟ้าเมื่อไหร่
คำตอบอยู่ที่มุมมองเกี่ยวกับรถยนต์ไฟฟ้า ว่ามองเป็นรถยนต์หรือเป็นประดิษฐกรรมทางเทคโนโลยี ไม่ต่างจากแกดเจ็ต เช่น สมาร์ทโฟน แต่เป็นสมาร์ทโฟนที่มีล้อ
รายงาน Global EV Outlook 2023 - Catching up with climate ambitions ที่องค์การพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency: IEA) พัฒนาและจัดทำร่วมกับกลุ่มสมาชิกผู้ริเริ่มยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicles Initiative: EVI) ระบุว่า อีก 7 ปีข้างหน้า หรือปี 2030 สัดส่วนของรถ EV ทั่วโลกจะมีประมาณ 35% ของรถยนต์ทั้งหมด หรือประมาณ 24.8 ล้านคัน
แต่โลกยุคหลังดิจิทัลบอกเราว่า อัตราเร่งความเปลี่ยนแปลงมักเร็วกว่าที่คาดคิดเสมอ
การถือกำเนิดของอินเทอร์เน็ตทำให้ พื้นที่ (space) และเวลา (time) ถูกย่นระยะลง ผู้คนสามารถเข้าถึงสิ่งต่างๆ ได้เพียงลัดนิ้วมือเดียว ด้วยความเร็วที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ตามสปีดของอินเทอร์เน็ตและหน่วยประมวลผล

ทุกสิ่งในโลกยุคดิจิทัลจึงเกิดขึ้นได้ง่ายและรวดเร็วกว่ายุคก่อนหน้า จนนำไปสู่แนวคิดประเภท Fail Fast, Learn Fast และอีกหลายแนวคิดที่เข้ามารื้อระบบคิดยุคแอนะล็อก
ธุรกิจในโลกยุคใหม่กำลังวิ่งอยู่บนลู่วิ่งในอัตราเร่งสูง และเมื่อใดที่โลกคือ ทุน รัฐ และประชาชนขานรับ สิ่งนั้นมีโอกาสเกิดขึ้นในเวลาอันรวดเร็ว
วันนี้สถานการณ์รถยนต์ไฟฟ้ากำลังอยู่ในภาวะนั้น และใกล้สุกงอมเต็มที แค่รอเวลาอีกนิดให้ทุกอย่างเข้าที่เข้าทาง
แล้วหลังจากนั้นกาลเวลาจะกลืนกินรถน้ำมัน เหมือนกับที่มันกินกลืนสิ่งต่างๆ
เพียงแต่ว่าครั้งนี้ ‘รถน้ำมัน’ อาจกลายเป็นม้าที่ถูกลืมเร็วกว่าที่คิด