จีน = มหาอำนาจยานยนต์โลกหรือยัง? ส่องยอดการผลิตรถยนต์ทั่วโลก ปี 1950-2022

5 ธ.ค. 2566 - 01:23

  • 27 ล้านคัน คือจำนวนรถยนต์ที่ผลิตในจีน ปี 2022 คิดเป็น 31% ของรถยนต์ที่ผลิตได้ทั่วโลก

EV, รถยนต์ไฟฟ้า, รถ EV, อีวี, Tesla, เทสล่า, ดิสรัปชั่น, Disrupt, BYD, BMW, อีลอน มัสก์, Elon Musk, หวัง ชวนฟู, Wang Chuanfu, Ford Model T, Benz, Karl Benz, ผลิตรถยนต์, จีน, สหรัฐอเมริกา, ญี่ปุ่น, ยุโรป, เยอรมนี, เกาหลีใต้

ประวัติศาสตร์บอกเราว่า ไม่เคยมีใครอยู่จุดสูงสุดได้ตลอดกาล

ในช่วง 500 กว่าปีที่ผ่านมา ก่อนสหรัฐอเมริกาจะขึ้นมาเป็นผู้นำโลก มีหลายประเทศผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนขึ้นมาเป็นมหาอำนาจครั้งแล้วครั้งเล่า เช่นเดียวกับมหาอำนาจในตลาดรถยนต์ ที่มีการผลัดบัลลังก์อยู่เสมอ

SPACEBAR รวบรวมตัวเลขจำนวนการผลิตรถยนต์ในโลกจาก 5 ประเทศมหาอำนาจแห่งตลาดยานยนต์ ตั้งแต่ปี 1950-2022 มาเทียบเคียง เพื่อแสดงให้เห็นกราฟชีวิตที่ผ่านมาของประเทศผู้ยืนอยู่แถวหน้าตลาดรถยนต์โลกวันนี้

EV, รถยนต์ไฟฟ้า, รถ EV, อีวี, Tesla, เทสล่า, ดิสรัปชั่น, Disrupt, BYD, BMW, อีลอน มัสก์, Elon Musk, หวัง ชวนฟู, Wang Chuanfu, Ford Model T, Benz, Karl Benz, ผลิตรถยนต์, จีน, สหรัฐอเมริกา, ญี่ปุ่น, ยุโรป, เยอรมนี, เกาหลีใต้

ตัวเลขล่าสุด ปี 2022 จีนเป็นประเทศที่ผลิตรถยนต์มากที่สุดในโลก 27,020,615 คัน คิดเป็น 31% หรือเกือบ 1 ใน 3 ของยอดการผลิตรถยนต์ทั่วโลกทั้งปี (ยอดผลิตทั้งหมดอยู่ที่ 85,016,728 คัน)

มากกว่าอันดับ 2 สหรัฐอเมริกาที่ผลิตได้ 10,060,339 คัน เกือบ 3 เท่าตัว และอันดับ 3 ญี่ปุ่น 7,835,519 คันตามหลังอยู่หลายช่วงตัว

และถ้าดูแนวโน้มจากกราฟ จะเห็นว่าปริมาณการผลิตของจีนเริ่มถ่างออกจากประเทศอื่นมากขึ้นเรื่อยๆ

แน่นอน ตัวเลขจำนวนการผลิตอาจไม่ได้สะท้อนความจริงในทุกมิติ แต่อย่างน้อยก็แสดงให้เห็นข้อเท็จจริงว่า ณ ช่วงเวลานั้นใครกำลังเป็นเจ้าตลาด

ซึ่งเจ้าตลาดมักมีอำนาจในการกำหนดเกมและต่อรองมากกว่าผู้เล่นคนอื่นเสมอ เหมือนที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในช่วงร้อยกว่าปีที่ผ่านมา

  • รถยนต์คันแรกเริ่มต้นที่ยุโรป ปี 1886 ณ ประเทศเยอรมนี หลัง คาร์ล เบ็นทซ์ (Karl Friedrich Benz) ประดิษฐ์รถใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิงคันแรกของโลก
  • ยุโรปเป็นผู้นำตลาดรถยนต์ในช่วงนั้น จนกระทั่งวิศวกรชาวอเมริกัน เฮนรี ฟอร์ด (Henry Ford) คิดค้นการผลิตแบบสายพาน (assembly-line) ที่ต่อมากลายเป็นต้นแบบของกระบวนการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรม การผลิตวิถีใหม่ (ในเวลานั้น) ช่วยประหยัดต้นทุน เวลา และเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตทั้งในแง่ปริมาณและคุณภาพ
  • รถยนต์ Ford Model T เป็นสินค้าชิ้นแรกจากการผลิตดังกล่าวในปี 1908 ได้สร้างแรงสั่นเทือนตลาดรถยนต์ทั่วโลก ด้วยการเป็นรถยนต์รุ่นแรกที่มีราคาในระดับที่ชนชั้นกลางเอื้อมถึง หลังจากนั้นสหรัฐอเมริกาก็ขึ้นมาเป็นผู้นำตลาดรถยนต์แทนที่ยุโรป และเป็นผู้ผลิตรถยนต์มากที่สุดในโลก
  • ญี่ปุ่นประเทศที่เร่งสร้างตัวหลังแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 ค่อยๆ ผงาดขึ้นมาในตลาดรถยนต์โลกช่วงหลังปี 1960 ด้วยวิถีการผลิตของผู้มาทีหลังที่เน้นการ copy & develop อย่างเข้มข้น จนเปลี่ยนภาพลักษณ์จากประเทศที่โดนดูถูกว่าผลิต ‘รถกระป๋อง’ กลายเป็นประเทศเจ้าของนวัตกรรม และผู้ผลิตและส่งออกรถยนต์ระดับโลก ก่อนจะขึ้นมาท้าทายและแย่งบัลลังก์จากสหรัฐอเมริกา
  • การมาถึงของ เทสล่า (Tesla) ที่ส่งรถยนต์รุ่นแรก Tesla Roadster ในปี 2008  จุดกระแสว่า รถยนต์ไฟฟ้า (EV) ไม่ใช่ความฝัน และะทำให้สหรัฐอเมริกากลับมาอยู่ในสปอตไลท์ของตลาดรถยนต์โลกอีกครั้ง
  • ขณะที่ประเทศมหาอำนาจเก่าขับเคี่ยวกันอยู่ นับตั้งแต่ทศวรรษที่ 90s จีนแผ่นดินใหญ่เริ่มต้นผลิตและพัฒนารถยนต์ โดยเน้นตลาดในประเทศเป็นหลัก ด้วยวิถีการผลิตแบบผู้มาทีหลังที่ copy & develop ไม่ต่างกับญี่ปุ่น แต่ด้วยความเป็นผู้มาใหม่และความทะเยอทะยานที่จะมาท้าชนมหาอำนาจของสหรัฐอเมริกา จีนตัดสินใจลุยตลาด EV ซึ่งเป็นตลาดเพิ่งเกิดใหม่ได้ไม่นาน และเป็นอนาคต
  • ปี 2017 ค่ายรถจีน BYD Auto เริ่มขยายบริษัทออกนอกประเทศ ตั้งโรงงานผลิตรถบัสและรถบรรทุกไฟฟ้าในยุโรป คลื่นจากค่ายรถยนต์จีนเริ่มซัดออกนอกประเทศ และค่อยๆ ขยายไปทั่วโลก
  • บทวิเคราะห์เกี่ยวกับสถานการณ์ตลาดยานยนต์ทั่วโลกในช่วงปี 2022-2023 พูดถึงการผงาดขึ้นของรถ EV จากจีน ตั้งคำถามว่าญี่ปุ่นจะถูกทิ้งไว้ข้างหลังหรือไม่ ทั้งในแง่ของยอดขายและนวัตกรรมการผลิต

หรือ...มหาอำนาจในโลกยานยนต์จะคราวผลัดเปลี่ยนบัลลังก์อีกครั้งในยุค EV

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์