ขยายเวลาขายเหล้า ขอทันสงกรานต์ได้ไหม?

22 กุมภาพันธ์ 2567 - 11:27

thai-alcohol-business-association-liquor-wine-drink-responsibly-SPACEBAR-Hero.jpg
  • อดทนรอ! แต่ขอ ก่อนสงกรานต์ได้ไหม? กรณีรัฐขอศึกษารอบด้าน ขยายเวลาขายเหล้า-เครื่องดื่มแอลกอฮอล์

  • นายกสมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย ตอกย้ำ เอาใจวัฒนธรรมฝรั่งกินดื่มอย่างรับผิดชอบ เพิ่มสีสันบรรยากาศเที่ยวสงกรานต์ ช่วยผู้ประกอบการ

  • อีกด้านก็ชี้ช่อง แก้ปัญหา ‘เมาขับ-ขายให้เด็ก’ ให้เข้มกฎหมาย

ทันทีที่รัฐบาลโดยบอร์ดนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยังไม่เคาะขยายเวลาขายเหล้า ชี้ตัวเลขผลกระทบยังไม่ชัดเจน และได้มอบหมาย ‘อธีบดีกรมควบคุมโรค’ ตั้งคณะกรรมการเพื่อศึกษาเพิ่มเติมให้ชัดเจนขึ้น! ... มตินี้ก็เรียกได้ว่า สร้างความห่อเหี่ยวในฟากฝั่งผู้ประกอบการไม่น้อย 

เขมิกา รัตนกุล นายกสมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย เผยถึงเรื่องนี้ว่า แอบผิดหวังเล็กๆ เพราะสิ่งที่เราอยากได้และพยายามนำเสนอมาตลอด ไม่ได้รับการอนุมัติ อีกด้านก็ยังรู้สึกขอบคุณในส่วนของคณะกรรมการนโยบายฯ ที่มี นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน ซึ่งไม่ได้ปิดประตูปัดตกเสียทีเดียว แต่ยังขอให้ รองนายกฯ สมศักดิ์ เทพสุทิน ในฐานะประธานนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ ไปพิจารณา-ศึกษาให้รอบคอบ เข้าใจว่า ทางฝ่ายการเมืองก็อยากจะทำนโยบายให้สมดุล ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม 

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการอยากร้องขอให้เร่งพิจารณาปลดล็อกให้เร็วที่สุด หรือเพื่อให้ทันใช้ก่อนเทศกาลสงกรานต์จะมาถึง เพราะจะช่วยสร้างสีสันบรรยากาศ กระตุ้นท่องเที่ยว จากวัฒนธรรมฝรั่งที่กินดื่มอย่างรับผิดชอบ เพราะข้อเสนอเรื่องการทบทวนยกเลิกการห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ช่วงเวลา 14.00 น. ถึง 17.00 น. ก็เพื่อผ่อนคลายอุปสรรคของการดำเนินธุรกิจของกลุ่มอาหารเครื่องดื่มและธุรกิจบริการที่เกี่ยวข้อง ซึ่งต่างได้รับผลกระทบ ทั้งกลุ่มโรงแรม ร้านอาหารภัตตาคาร ร้านค้าปลีก เป็นต้น

“ฝรั่งดื่ม 1 แก้ว พี่ไทยเรา ดื่ม 1 ขวด เขาดื่มไม่ขับ ดื่มปริมาณพอดี เพราะฉะนั้นเค้าควรมีโอกาส และผู้ประกอบการก็จะได้โอกาสด้วย ตอนนี้ค่อนข้างผิดหวังเล็กๆ แต่ก็ยังรอได้ ขอโอกาสให้ทันก่อนสงกรานต์ โดยส่วนตัวมองว่า อะไรที่มันล้าสมัย ก็ต้องกิโยตินออกไป คำสั่งห้ามขายเหล้าบ่ายสองถึง 5 โมงเย็นนี้ มีมาตั้งแต่ปี 2515 ที่คณะปฏิวัติออก เพื่อไม่ต้องการให้ข้าราชการนั่งก๊งเหล้าไปทานข้าวไปแล้วติดลมไม่ทำงานทำการ และการออกระเบียบควบคุมแอลกอฮอล์ เมื่อ 2551 ก็ยังแปะเอาไว้... ปัจจุบันทุกอย่างเปลี่ยน กฎหมายก็ควรต้องปรับ เพื่อไม่ให้กระทบกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว-ร้านอาหาร ให้เสียโอกาสในการทำธุรกิจไปมากกว่านี้”

เขมิกา กล่าว

นายกสมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย ยังขอบคุณภาครัฐที่พยายามผลักดันภาคท่องเที่ยว และยอมรับในส่วนของเศรษฐกิจภาคกลางคืนมากขึ้น โดยได้ขยายเวลาการปิดของสถานบริการกลางคืนถึงเวลา 04.00 น.ล็อตแรก ในสถานบริการ 4 จังหวัด 1 เกาะ คือ กรุงเทพมหานคร ภูเก็ต ชลบุรี เชียงใหม่ และ เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี ตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา และโรงแรมทั่วประเทศ ... ดังนั้นจะเป็นไปได้หรือไม่ ถ้าจะมีล็อตต่อไป อยากให้ลองทบทวนก่อนที่จะถึงเดือนเมษายน ซึ่งเป็นช่วงพีคซีซัน ให้สามารถลองปลดล็อกส่วนที่ไม่ใช่สถานบริการ เช่น ร้านอาหารอื่นๆ สามารถขายได้ถึงตี 4 ด้วยได้หรือไม่?

ด้าน ญาณี เลยวานิชเจริญ เลขาและกรรมการสมาคมการค้าธุรกิจร้านอาหารกลางคืน กล่าวเช่นกันว่า กลุ่มธุรกิจที่ได้รับอนุญาต ยังเป็นแค่ส่วนน้อยของธุรกิจกลางคืน ที่ปัจจุบันมีหลายรูปแบบ อยากให้ขยายอย่างครอบคลุม ซึ่งไม่ต้องถึงตีสี่ก็ได้ โดยจะทดลองแค่ตีสองก็เพียงพอสำหรับผู้ประกอบการ อธิบายต่อถึง working hour หรือเวลาทำการของภาคธุรกิจควรได้ทำงาน 8 ชั่วโมงถึงจะคุ้มทุน แต่ปัจจุบันกว่าลูกค้าจะถึงร้านก็ 2 ทุ่ม เหลือเวลาให้บริการได้แค่ 4 ชั่วโมงเท่านั้น

“เรื่องโซนนิ่ง ที่ปัจจุบัน ยังเป็นโซนนิ่งเก่า เพชรบุรีตัดใหม่ รัชดาภิเษก ซึ่งเป็นของสมัยก่อน ถ้าถามว่า ปัจจุบันนี้ นักท่องเที่ยวไปไหนกัน ก็สุขุมวิท เลียบด่วน เซ็นทรัลเวิล์ด ซึ่งเราก็ควรที่จะมีการเปลี่ยนแปลง หรืออัพเดทอัพเทรนด์ตรงนี้ ยิ่งถ้าบอกว่า ให้ตอบรับนักท่องเที่ยว ก็ยิ่งควรให้มันล้อไปกับความทันสมัยของประเทศ ปัจจุบันภาคกลางคืน เปิดได้ถึงเที่ยงคืน แต่ตามความเป็นจริงแล้วปิดกันตี 2 ซึ่งเงินตรงนั้นไปไหน มันก็คือ เป็นเงินที่ออกนอกระบบ จะดีกว่าไหมถ้ากวาดเงินเข้าระบบได้ เอามาพัฒนาประเทศไปด้วยกัน ออกกฎให้ทำเหมือนๆ กัน”

ญาณี กล่าว

thai-alcohol-business-association-liquor-wine-drink-responsibly-SPACEBAR-Photo01.jpg

สรุปประเด็นใดบ้าง ยังไม่ตอบโจทย์ธุรกิจกลางคืน

เคยมีเสียงสะท้อนก่อนหน้านจากเครือข่ายกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจสถานบริการกลางคืน ถึงประเด็นเวลาเปิดปิดของสถานบริการ ตามกฎกระทรวงมหาดไทย (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2566 ที่ประกาศอนุญาตให้ขยายเวลาการปิดของสถานบริการกลางคืนถึงเวลา 04.00 น. เฉพาะใน 5 จังหวัดคือ กรุงเทพฯ ภูเก็ต ชลบุรี เชียงใหม่ และอ.เกาะสมุย สุราษฎร์ธานี ตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม ที่ผ่านมา 

ประเด็นนี้กลุ่มผู้ประกอบการฯ เห็นแนวทางเดียวกัน ว่ายังไม่สอดคล้องกับสถานการณ์และความเป็นจริงของการประกอบธุรกิจสถานบริการกลางคืน  อยากให้รัฐทบทวน-แก้ไข 3 ประเด็น และอยากให้เร่งดำเนินการ ก่อนเดือนถึงมีนาคม 2567 ที่รัฐบาลกำหนดว่า จะมีการทบทวนผลจากให้ขยายเวลาเปิดสถานบริการกลางคืนถึงตีสี่ โดย 3 ประเด็นประกอบด้วย

1. กฎหมายอนุญาตสถานบริการเปิดถึงตีสี่ได้ จำกัดเฉพาะสถานบริการที่อยู่ในสถานที่ตั้งโรงแรม แต่โดยข้อเท็จจริงสถานบริการที่ดำเนินธุรกิจกลางคืนที่มีอยู่นี้ ยังรวมถึงสถานประกอบการที่เปิดให้บริการคล้ายสถานบริการซึ่งมีจำนวนมากประมาณกว่าร้อยละ 90 ของสถานบันเทิงทั้งหมด และดำเนินธุรกิจเป็นสถานบันเทิงอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ได้รับอนุญาตจากฝ่ายปกครองหรือตำรวจท้องที่ รวมถึงกับการขอมีใบอนุญาตขายสุราอย่างถูกต้อง แต่ไม่ได้มีใบอนุญาตเป็นสถานบริการตามกฎหมายว่าด้วยสถานบริการ นั่นหมายความว่า กลุ่มผู้ได้รับสิทธิให้เปิดให้บริการได้ถึงตีสี่ มีจำนวนไม่มาก ที่จะสามารถสร้างรายได้หรือก่อให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนภาคกลางคืนได้ตามเป้าหมายของรัฐบาล

2. เรื่องเขตพื้นที่ ที่กำหนดเป็นเขตโซนนิ่งสถานบริการเดิม มีความล้าสมัยไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน ยกตัวอย่างในกรุงเทพฯ อาทิ ถนนข้าวสาร ทองหล่อ ถนนเลียบทางด่วนรามอินทรา ซึ่งล้วนแต่มีสถานประกอบการที่เปิดให้บริการคล้ายสถานบริการอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ไม่ได้อยู่ในโซนนิ่งสถานบริการตามกฎกระทรวงหรือกฎของกรุงเทพมหานคร รวมถึงเขตพื้นที่โซนนิ่งสถานบริการเดิมในแต่ละจังหวัดที่ประกาศกำหนดไว้ก็ใช้มานานกว่า 20 ปีแล้ว ไม่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก ทั้งด้านภูมิศาสตร์และผังเมือง ที่เกิดชุมชนหมู่บ้าน อาคารพาณิชย์ เข้ามาอยู่ในพื้นที่โซนนิ่งสถานบริการ 

ดังนั้น ทางเครือข่ายฯ จึงขอให้รัฐบาลหยิบขึ้นเป็นเรื่องด่วนที่ให้ทุกจังหวัดทำการสำรวจและทบทวนโซนนิ่งให้เป็นแหล่งสถานบันเทิงที่เปิดบริการหรือจำหน่ายได้ตามกฎระเบียบ อีกทั้ง เสนอผลักดันมาตลอดเกี่ยวกับ Ease of Doing Business ที่เป็นอุปสรรคจากการทำงานของภาครัฐ จึงทำให้ภาครัฐมีการทบทวนเกี่ยวกับเรื่องการพิจารณาใบอนุญาตต่างๆ โดยมีการทบทวนยกเลิกเพิกถอนและปรับปรุงในรูปแบบกิโยติน

3. เป็นเรื่อง จำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ไม่ได้เข้ามาในประเทศไทยตามเป้าหมายที่คาดหวัง ดังนั้น รัฐบาลควรจะต้องพิจารณาทบทวนการจับจ่ายใช้สอยภายในประเทศควบคู่กันไปด้วย เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจและการสร้างงาน-สร้างรายได้

สุดท้ายแล้ว ก็ยังคงต้องลุ้นกันต่อไปว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ-การท่องเที่ยว จากภาคธุรกิจสถานบริการกลางคืน ตามที่ร้องขอ จะได้รับการตอบสนองกี่เรื่อง ก่อนเทศกาลสงกรานต์ อันเป็นช่วงพีคซีซันของประเทศไทยจะมาถึง

ข่าวที่น่าสนใจ

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์