เจ้าสัวซีพี ชี้ ศก.เกษตร ไทยอนาคตสดใส ย้ำธุรกิจซีพีไม่ผูกขาด

4 ก.พ. 2568 - 08:06

  • เจ้าสัว ‘ธนินท์’ ชี้ ประเทศไทยพื้นฐานแกร่ง เศรษฐกิจมีอนาคตสดใส สินค้าเกษตรตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ คือเงินของไทย

  • ตอกย้ำ ธุรกิจ CP ไม่ผูกขาด ทำธุรกิจเป็นแนวดิ่ง เพื่อทุกขั้นตอนสอดคล้องกัน

  • ขณะที่ทิศทางพลังงานโลก มองว่า แค่ ‘ลม-โซลาร์เซลล์’ ยังไม่พอ ต้องเสริมด้วย ‘ไฟฟ้านิวเคลียร์’

thanin-cp-trend-nuclear-power-agricultural-technology-ai-jula-SPACEBAR-Hero.jpg

นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ ซีพี เผยในงาน “Chula Thailand Presidents Summit 2025” ภายใต้หัวข้อ ‘Future Thailand: Next Growth’ โดยยกย่องจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่า เป็นสถาบันการศึกษาเบอร์ 1 ผลิตบุคลากรมากความสามารถ ยกตัวอย่าง ‘สารัชถ์ รัตนาวะดี ศิษย์เก่าจุฬาฯ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF ผู้ซึ่งอายุยังน้อย และเข้าสู่ธุรกิจพลังงานที่ทันสมัยที่สุด คือ ‘พลังงาน’ เพราะยังไงปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ก็หนีไม่พ้นเรื่องไฟฟ้า หุ่นยนต์ก็ไฟฟ้า ยานยนต์ EV ก็ไฟฟ้า โดรนก็ไฟฟ้า และไฟฟ้าก็มีที่มาจากพลังงานแสงอาทิตย์-น้ำ แต่สำคัญมากที่จะเห็นได้ชัด และโลกกำลังไปถึง คือ ‘ไฟฟ้านิวเคลียร์’ มองได้ว่า เป็นธุรกิจแห่งอนาคตที่ยิ่งใหญ่ ที่สำคัญคือ ไฟฟ้านิวเคลียร์ ยังเป็น ‘พลังงานสะอาด-ปลอดภัย’ อีกด้วย

เจ้าสัว ‘ธนินท์’ ชี้ช่อง ‘ไฟฟ้านิวเคลียร์ไทย’ จำเป็น รองรับความท้าทาย AI เทคโนโลยีใหม่

สำหรับเรื่องไฟฟ้านิวเคลียร์ ที่ประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย ก็มีกฎหมายรองรับการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ทันสมัยที่สุดแล้ว แต่ไทยเรา ‘ยังไม่มี’ อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการรองรับเทคโนโลยีแห่งโลกอนาคตที่ไทยกำลังเดินหน้า ทำให้คิดว่า สถานการณ์พลังงานในประเทศไทย ซึ่งขณะนี้รุกแค่พลังงานแสงอาทิตย์และลม ยังไม่พอ ยังจำเป็นต้องเสริมด้วยไฟฟ้านิวเคลียร์ เช่นเดียวกับเพื่อนบ้าน

ยืนยัน ประเทศไทย เศรษฐกิจมีอนาคต

เจ้าสัว ‘ธนินท์’ ยังชี้ภาพประเทศไทยว่า เป็นประเทศที่ ‘เศรษฐกิจอนาคตสดใส’ แม้ในท่ามกลางวิกฤตดินฟ้าอากาศปั่นป่วน ไทยก็ยังมีอาหาร มีการท่องเที่ยว ที่สามารถทำเงินได้ทันที เพราะเป็นศักยภาพประเทศที่ไม่ต้องเฟ้นหา ประเทศไทยมีความพร้อม แต่ก็ยังตั้งคำถามถึงความพร้อม ว่าไทยพร้อมจริงหรือเปล่า สำหรับการท่องเที่ยวในยุคนี้ โดยเฉพาะเรื่องงบประมาณสนับสนุน ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็น

“ประเทศไทยมีความพร้อม แต่ถ้าพูดว่า พร้อมจริงหรือเปล่าในยุคนี้ ยังไม่ใช่ครับ เพราะเราต้องมีงบประมาณ เรารู้ว่าการท่องเที่ยวเป็นเรื่องใกล้ตัวที่สุด และจะได้เงินเร็วที่สุด ฉะนั้น เรามีงบประมาณที่จะมาสนับสนุนการท่องเที่ยวหรือเปล่า? เราตั้งเป้าหมายหรือเปล่าว่า การท่องเที่ยวไทยจะไปถึงระดับไหน แล้วเราจะเจาะจงคนที่มาเที่ยวเมืองไทย เป็นกลุ่มไหน-ประเทศไหน เรามีเป้าหมายหรือยัง เป้าหมาย และประโยชน์ที่จะได้รับ ทั้งหมดต้องชัด แต่เรื่องสำคัญอันดับแรกคือ ความปลอดภัย มาเที่ยวไทยแล้วไม่ถูกฆาตรกรรม”

เกษตรไทย โดดเด่น แนะเสริมศักยภาพ สร้างถนน-ระบบชลประทานเข้าไร่นา

อีกเรื่องที่เราได้เปรียบ คือศักยภาพทำเลที่ตั้ง ที่แม้สภาพอากาศปั่นป่วน ทั่วโลกเกิดแผ่นดินไหว เกิดพายุไต้ฝุ่นรุนแรง แต่จะเห็นได้ว่า เมื่อพัดมาถึงไทยก็จะเป็นแค่พายุ สิ่งที่รุนแรงจะไม่ได้ผ่านเมืองไทย ขณะที่ผลกระทบประเทศไทยจริงๆ นั้น จะก็เป็นเพียงน้ำท่วม และน้ำแล้ง ซึ่งเรื่องนี้แก้ไขได้ด้วยการนำงบประมาณ ไปทำถนนเข้าไร่นา จัดรูป-ปฏิรูปที่ดิน แล้วทำเรื่องชลประทานพร้อมถนน

“วันนี้ผมเห็นว่า ยังไม่มีการเอาจริงเอาจังกับเรื่องนี้ ถ้าเรามีชลประทานแล้ว เราก็ไม่กลัวน้ำท่วมกับแล้งละ เพราะเราจัดการเรื่องน้ำ แล้วผมเชื่อมั่นว่า ตามมหาวิทยาลัยกับราชการ มีคนเก่งในเรื่องน้ำครับ แต่เราให้ความสนใจไหม? เรามีนโยบายให้งบประมาณไหม? ผมว่าเอางบประมาณที่สร้างถนนเนี่ยะมาสร้างเขื่อน-สร้างระบบชลประทาน-สร้างถนนเข้าไร่นา ถ้าเราทำแบบนี้ผลผลิตทางการเกษตรจะเพิ่มขึ้น 5 เท่าครับ… 3 คอร์ป ปลูกได้ 3 ครั้ง ร้อนไม่ได้กลัวนะครับ เพราะมีพืชที่ทนความร้อนได้”

เจ้าสัวธนินท์ ชี้ด้วยว่า ปัจจุบัน ถือว่าการเกษตรเป็นภาคที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีมากสุดไปแล้ว อย่างแทร็กเตอร์ก็เอาเทคโนโลยีไปใส่กลายเป็นหุ่นยนต์ เรามีพันธุ์พืช พันธุ์สวน พันธุ์สัตว์ ล้วนต้องใช้เทคโนโลยี (ไบโอเทคโนโลยี) และเอไอเข้าช่วยพัฒนา ต้องใช้ ‘ปุ๋ย’ เพื่อให้พืชพันธุ์ต่างๆ โตเร็ว พร้อมกับยังต้องใช้ ‘โดรน’ เพื่อการเฝ้าระวังดูแลผลผลิตทางการเกษตรที่จะมีศัตรูพืชเข้ามารุกราน โดรนก็จะเป็นตัวช่วยทำงานตรวจสอบได้อย่างรวดเร็ว แม้แต่ละพื้นที่จะมีขนาดกว้าง นับหมื่นไร่ก็สามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดการทำงานของคนที่จะไม่ปลอดภัยจากยาฆ่าแมลง เป็นต้น นอกจากนี้ในเรื่องสัตว์ ก็ต้องมีอาหารและพันธุ์ของตัวเอง ต้องดูแลหรือเลี้ยงเหมือนคน นำเทคโนโลยีใหม่มาใช้ อาทิ หากป่วยติดโรค ต้องมาศึกษาป้องกัน ต้องมีสัตวแพทย์ ซึ่งต้องใช้หุ่นยนต์ทั้งนั้น ไม่มีคนมาเกี่ยวข้องเพื่อความปลอดภัย ความแม่นยำในคุณภาพ

เจ้าสัวซีพี ตอกย้ำ ‘ไม่ผูกขาด’ ทำธุรกิจตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ

เจ้าสัวธนินท์ ยังชี้ถึงการทำธุรกิจของเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือซีพี อีกว่า ซีพีเราเป็นธุรกิจการเกษตร ทำตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ โดยคนส่วนใหญ่อาจมองว่า ‘ผูกขาด’ แต่ไม่ใช่ เพราะซีพีทำธุรกิจเป็นแนวดิ่ง ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เพื่อให้ทุกขั้นตอนสอดคล้องกัน มุมมองส่วนตัว ภาคเกษตรเป็นน้ำมันบนดิน เป็นทรัพย์สมบัติที่ล้ำค่าของประเทศไทย ที่ใช้ไม่หมด โดยสินค้าเกษตรตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ ส่วนใหญ่เกือบจะ 90% เป็นเงินของประเทศไทย ยิ่งได้เทคโนโลยี และ AI เข้าช่วย จะยิ่งทำให้เกษตรกรร่ำรวย แต่เกษตรกรก็ยากจะเอื้อมถึง ฝากรัฐสนับสนุนทั้งองค์ความรู้ และเครื่องมือ เพื่อเสริมเต็มศักยภาพได้ต่อไป

สำหรับอนาคตเทคโนโลยีเกษตรประเทศไทย-ความไฮเทคต่างๆ นั้น ล้วนเกิดจาก ‘คน’ เป็นผู้สร้าง และผู้ใช้ ดังนั้น คนจึงจำเป็นต้องมีความรู้ มีการศึกษา เพื่อรู้ใช้เทคโนโลยีทั้งในปัจจุบันและอนาคต ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว...อย่างไรก็ตาม ประเด็นต่างๆ เหล่านี้ยังเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับ ‘ค่าแรง 600 บาท’ ที่ส่วนตัวมั่นใจว่า จะถึงแน่นอน เนื่องจากเป็นแรงงานศักยภาพสามารถใช้เทคโนโลยีได้ มีความเก่ง เท่าทันโลกนั่นเอง

ช่วงท้าย เจ้าสัว ‘ธนินท์’ ยังมีข้อเสนอแนะ ทำอย่างไรให้ประเทศไทยและคนไทยร่ำรวย เพราะถ้าคนไทยร่ำรวย ประเทศไทยถึงจะแข็งแรง คำตอบคือต้องพึ่งพามหาวิทยาลัยปั้นคนคุณภาพ-เสริมศักยภาพ ให้ทันโลกทันเหตุการณ์เป็นหลัก ด้านนักธุรกิจ เป็นอีกภาคส่วนสำคัญ หนุนประชาชนร่ำรวยขึ้น ขณะที่ภาครัฐบาลต้องออกกฎเกณฑ์ที่จะเอื้อให้ประชาชนอยู่ดีกินดี มีรายได้ที่มั่นคงสม่ำเสมอ ประเทศชาติถึงจะมั่นคงได้ต่อไป

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์