ขึ้นเงินเดือนข้าราชการ เงินเฟ้อไม่เพิ่ม อย่าฉวยขึ้นของแพง

8 ม.ค. 2567 - 08:00

  • สนค. เปิดข้อมูล ผลกระทบเงินเฟ้อ ชี้ ปรับเงินเดือนข้าราชการ มีผลน้อยมาก

  • เหตุจำนวนบุคลากรภาครัฐ มีไม่ถึงร้อยละ 5 ไม่แสวงหากำไร ไม่ส่งผ่านภาระถึงประชาชน

  • แนะเฝ้าระวัง การฉวยโอกาส ปรับขึ้นราคาสินค้า-บริการ ไม่สมเหตุสมผล

tpso-adjustment-salary-inflation-product-service-up-price-SPACEBAR-Hero.jpg

รัฐปรับขึ้นเงินเดือนราชการ เพื่อความเหมาะสม และหวังดึงดูดบุคลากรที่มีคุณภาพเข้าสู่ระบบราชการ...แต่ก็ปฏิเสธข้อกังวลประชาชน ที่หวาดหวั่น ราคาสินค้าจะปรับขึ้น หลังปัจจุบันก็สู้ค่าครองชีพที่สูงขึ้นแทบไม่ไหว 

สนค.จึงทำข้อมูล เผยให้เห็น “ผลกระทบของการปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐต่ออัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทย” โดยเบื้องต้นประเมินว่า ผลกระทบจากนโยบายทั้งด้านอุปทานและอุปสงค์ จะส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยน้อยมาก แต่จะช่วยเศรษฐกิจดีขึ้น

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เผยเหตุที่ การขึ้นเงินเดือนข้าราชการ จะส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทย น้อย เป็นเพราะประการแรก จำนวนบุคลากรภาครัฐที่ได้รับผลจากนโยบาย มีสัดส่วนเพียงร้อยละ 4.7 ของลูกจ้างชาวไทยทั้งหมด และอีกประการ คือ หน่วยงานราชการภาครัฐจัดตั้งขึ้น เป็นไปเพื่อให้บริการหน่วยงานภาครัฐด้วยกัน และให้บริการประชาชน มิได้แสวงหากำไร ดังนั้น การส่งผ่านต้นทุนดังกล่าวมายังค่าบริการของภาครัฐจึงทำได้จำกัด พร้อมไม่ส่งผ่านภาระค่าใช้จ่ายถึงประชาชน

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น การปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐในครั้งนี้จะช่วยเพิ่มรายได้ และกำลังซื้อ ซึ่งจะส่งผลให้ชีวิตความเป็นอยู่ของบุคลากรเหล่านี้ โดยเฉพาะผู้ที่บรรจุในคุณวุฒิที่ไม่สูงมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น รวมทั้งเป็นการรักษาและดึงดูดบุคลากรที่มีศักยภาพ มีคุณภาพเข้าสู่ระบบราชการ ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการและการปฏิบัติงานของส่วนราชการและหน่วยงานภาครัฐควบคู่กันไปด้วย

จับตา การฉวยขึ้นราคาสินค้า-บริการ

เมื่อ สนค.เผยข้อมูลนี้แล้ว ก็ขอผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่อง ‘ราคาสินค้า’ ไม่ฉกฉวยโอกาสขึ้นราคาสินค้าและบริการ อย่างไม่สมเหตุสมผล ซึ่ง สนค.ยังจะติดตามสถานการณ์การปรับขึ้นค่าบริการที่เกี่ยวข้อง อาทิ ค่าเล่าเรียน/ค่าธรรมเนียมสถาบันการศึกษาของเอกชน ค่าบริการทางการแพทย์/ค่าการตรวจรักษาสถานพยาบาลเอกชน อย่างใกล้ชิดต่อไป

tpso-adjustment-salary-inflation-product-service-up-price-SPACEBAR-Photo02.jpg

เงินเดือนข้าราชการ ปรับอย่างไร?

สำหรับการปรับขึ้นเงินเดือนราชการ เป็นไปตามมติ ครม.ที่เห็นชอบ ปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุตามคุณวุฒิการศึกษาให้มีความเหมาะสม ปรับเงินเดือนชดเชยผู้ที่มีฐานเงินเดือนต่ำ และปรับเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราวให้เหมาะสมยิ่งขึ้น หวังดึงดูดบุคลากรที่มีคุณภาพเข้าสู่ระบบราชการ โดยมีแนวทางการปรับอัตราเงินเดือนที่อ้างอิงจากปี 2555 ที่มีการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาท/วัน และปรับเพิ่มเงินเดือนระดับปริญญาตรีที่บรรจุแรกเข้าเป็น 15,000 บาท/เดือน ดังนี้

1. การปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุ ในตำแหน่งที่ใช้คุณวุฒิระดับปริญญาตรีจะมีเงินเดือนไม่น้อยกว่า 18,000 บาท/เดือน และผู้ที่ปฏิบัติงานในตำแหน่งที่ใช้คุณวุฒิระดับ ปวช. จะมีเงินเดือนไม่น้อยกว่า 11,000 บาท โดยจะทยอยปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุตามคุณวุฒิเพิ่มขึ้น (ทุกคุณวุฒิ) และแตกต่างกันตามระดับคุณวุฒิการศึกษา ภายใน 2 ปี โดยเฉลี่ยจะปรับร้อยละ 10 ต่อปี (เริ่ม 1 พ.ค. 67 และ 1 พ.ค. 68)

2. การปรับเงินเดือนชดเชยผู้ได้รับผลกระทบ โดยจะชดเชย 2 ครั้ง พร้อมกับปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุในปีที่ 1 และปีที่ 2 เฉลี่ยร้อยละ 10 ต่อปี เช่นเดียวกับเงินเดือนผู้แรกเข้า ครอบคลุมผู้เข้ารับราชการก่อนวันที่อัตราแรกบรรจุที่กำหนดใหม่มีผลใช้บังคับอย่างน้อย 10 ปี ซึ่งจำนวนเงินเดือนที่ขึ้นจะแบ่งเป็นช่วง ๆ ตามเงินเดือน

3. การปรับเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราว เป็นมาตรการที่มีอยู่แล้ว แต่มีการปรับปรุงให้เหมาะสมมากขึ้น ดังนี้
3.1 ข้าราชการที่มีเงินเดือนต่ำกว่า 13,285 บาท/เดือน เดิมได้รับค่าครองชีพชั่วคราวเพิ่ม 2,000 บาท/เดือน แต่ไม่เกิน 13,285 บาท/เดือน โดยจะปรับเพดานใหม่เป็นข้าราชการที่มีเงินเดือนต่ำกว่า 14,600 บาท/เดือน จะได้ค่าครองชีพชั่วคราวเพิ่ม 2,000 บาท แต่ไม่เกิน  14,600 บาท/เดือน
3.2 เจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีเงินเดือนต่ำกว่า 10,000 บาท/เดือน เดิมได้ค่าครองชีพชั่วคราวเพิ่มไม่เกิน 10,000 บาท/เดือน โดยจะปรับเพดานใหม่ให้ได้ค่าครองชีพชั่วคราวเพิ่ม ไม่เกินเดือนละ 11,000 บาท/เดือน

tpso-adjustment-salary-inflation-product-service-up-price-SPACEBAR-Photo01.jpg

กล่าวได้ว่า การปรับอัตราเงินเดือนของกลุ่มข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ไม่มีส่วนใดที่จะไปส่งผลต่อต้นทุนการผลิตสินค้าและบริการ และหรือส่งผ่านไปยังอัตราเงินเฟ้อได้ หรือส่งผ่านมายังภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน แต่รายได้ที่เพิ่มจะทำให้ขนาดกำลังซื้อที่จะเพิ่มขึ้น จากนโยบายดังกล่าว มีสัดส่วนค่อนข้างต่ำมากหากเทียบกับกำลังซื้อของลูกจ้าง หรือผู้มีงานทำกลุ่มอื่น ที่ทยอยปรับเพิ่มขึ้นตามระดับรายได้ที่สูงขึ้นตามผลการดำเนินงาน ระยะเวลาการทำงาน ทักษะ ความสามารถ และประสบการณ์ ด้วยเหตุผลข้างต้น กำลังซื้อที่เพิ่มขึ้นจึงไม่น่าส่งผลต่อระดับราคาสินค้าและบริการและอัตราเงินเฟ้ออย่างมีนัยสำคัญ

อีกทั้งเมื่อพิจารณาอัตราเงินเฟ้อในช่วงระยะเวลาที่มีนโยบายปรับเพิ่มค่าตอบแทนบุคลากรภาครัฐ เห็นได้ว่าอัตราเงินเฟ้อเคลื่อนไหวตามปัจจัยทางเศรษฐกิจอื่น มากกว่าผลของนโยบายปรับค่าตอบแทนบุคลากรภาครัฐ อาทิ การดำเนินมาตรการครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2557 ซึ่งรัฐบาลปรับเงินเดือนข้าราชการเพิ่ม 1 ขั้น สำหรับระบบเงินเดือนแบบขั้น หรือร้อยละ 4.0 ของอัตราเงินเดือน สำหรับระบบเงินเดือนแบบช่วง รวมถึงปรับค่าตอบแทนพนักงานราชการโดยการเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราว และปรับค่าตอบแทนเพิ่มขึ้นร้อยละ 4 ในพนักงานราชการบางกลุ่ม 

อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2558 กลับลดลงร้อยละ 0.9 เมื่อเทียบกับปี 2557 เนื่องด้วยได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับลดลงเป็นอย่างมาก ส่งผลต่อราคาน้ำมันจำหน่ายปลีกในประเทศลดลง

ดังนั้น จึงสรุปว่า การปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทย น้อยมาก เนื่องจากหน่วยงานราชการภาครัฐจัดตั้งขึ้นเพื่อการให้บริการหน่วยงานภาครัฐด้วยกัน และให้บริการประชาชน มิได้แสวงหากำไร ต้นทุนหรืองบประมาณรัฐบาลเป็นผู้สนับสนุน และขณะนี้ ก็ระวังเพียง การฉวยโอกาสในการปรับขึ้นราคาสินค้าและบริการที่ไม่สมเหตุผล

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์