พาณิชย์ ลุยภูเก็ต ตรวจ 59 ธุรกิจต่างชาติ นอมินีไหม?

5 มี.ค. 2567 - 11:37

  • จากธุรกิจ ปางช้าง ‘เดวิด’ สู่การตรวจธุรกิจต่างชาติเข้าข่ายนอมินี

  • โดยกรมพัฒน์ฯ เตรียมลงภูเก็ต ลุยตรวจธุรกิจเครือข่าย 59 ราย รวมธุรกิจปางช้าง ‘เดวิด’

  • ยังกรุยทาง ปูพรมตรวจจังหวัดท่องเที่ยวอื่นทั่ว เพื่อธุรกิจท่องเที่ยวโปร่งใส

tpso-dsi-phuket-59-nominees-business-tourism-SPACEBAR-Hero.jpg

อรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เผย กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ประสานกรมฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เตรียมลงพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ตรวจสอบธุรกิจที่เข้าข่ายนอมินีในพื้นที่ในจังหวัดท่องเที่ยวสำคัญๆ ของไทย และรวมถึง ปางช้างนายเดวิด นักธุรกิจต่างชาติ ที่ทำร้ายแพทย์ตามที่ปรากฎเป็นข่าว หลังมีข้อมูลว่า เข้ามาลงทุน และจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ 

โดยการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า มีการจดทะเบียนประกอบธุรกิจนำเที่ยว ชื่อบริษัท อีเลเฟนท์ แซงชัวรี่ พาร์ค ภูเก็ต จำกัด มีผู้ถือหุ้นจำนวน 3 ราย เป็นคนไทย 2 ราย ถือหุ้น 51% และต่างชาติ 1 ราย ถือหุ้น 49% ตรวจสอบ ‘ไม่เข้าข่ายเป็นธุรกิจนอมินี’

อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ยังกล่าวถึง เป้าหมายของการตรวจสอบธุรกิจที่เข้าข่ายนอมินีในปี 2567 ว่า อยู่ในจังหวัดท่องเที่ยว เช่น ภูเก็ต กรุงเทพ เชียงใหม่ สุราษฎร์ธานี และชลบุรี เป็นต้น ซึ่งจะมีการตรวจสอบเชิงลึกในกลุ่มธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว เช่น ภัตตาคาร นำเที่ยว ให้เช่ารถ โรงแรม รีสอร์ท อสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น

“จำนวนธุรกิจที่กรมฯ คัดกรองว่าเข้าข่ายนอมินี มีประมาณ 419 ราย เฉพาะพื้นที่ภูเก็ตมีจำนวน 59 ราย ที่จะร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะลงพื้นที่ในการตรวจสอบธุรกิจที่เข้าข่ายนอมินี”

นางอรมน กล่าว

อธิบดีกรมธุรกิจการค้า กล่าวด้วยว่า สำหรับการลงพื้นที่ตรวจสอบธุรกิจที่เข้าข่ายนอมินีในปี 2567 จะตรวจสอบเชิงลึก เช่น การถือหุ้น ประเภทธุรกิจ โดยหากพบว่ากระทบ ตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 มาตรา 36 มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับ 300,000 แสน ถึง 1 ล้านบาทและหากยังฝ่าฝืนมีโทษปรับวันละ 10,000-50,000 บาท

ก่อนหน้านี้ เมื่อปลายปี 2566 กระทรวงพาณิชย์ร่วมกับกรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การแก้ปัญหาการประกอบธุรกิจท่องเที่ยวโดยใช้คนไทยเป็นตัวแทนอำพราง (NOMINEE) บูรณาการความร่วมมือของ 6 หน่วยงาน ได้แก่ กรมการท่องเที่ยว สำนักงานปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว และสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองพร้อมทั้งตั้งศูนย์ปฏิบัติการร่วมแก้ไขปัญหาการประกอบธุรกิจท่องเที่ยว โดยใช้คนไทยเป็นตัวแทนอำพราง (NOMINEE) ใช้ชื่อย่อว่า ‘ศปต.’ ซึ่งตั้งอยู่ที่กรมการท่องเที่ยว และจะจัดตั้งคณะทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวร่วมกัน ภายใต้กรอบความร่วมมือ 4 ด้าน ได้แก่ 
1. ด้านการจดทะเบียนและการอนุญาตประกอบธุรกิจ 
2. ด้านการประสานแลกเปลี่ยนข้อมูล 
3. ด้านการกำกับดูแลและป้องปราม และ 
4. ด้านการส่งเสริมธุรกิจท่องเที่ยว เพื่อยกระดับมาตรฐานคุณภาพของผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยวให้มีความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน

tpso-dsi-phuket-59-nominees-business-tourism-SPACEBAR-Photo01.jpg

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ยังรายงานตัวเลขจดทะเบียน ปี 2567 โดยคาดจะเป็นปีที่นักธุรกิจทั้งชาวไทยและต่างชาติให้ความสนใจเดินทางเข้ามาลงทุนในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง เพราะมีปัจจัยสนับสนุนหลายสาเหตุ ทั้ง การบริโภคของภาคเอกชนมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น ภาคการส่งออกเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น โครงการลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจภาครัฐขนาดใหญ่ (Mega Projects) กลับมาเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง ประเมินไตรมาสแรกของปีจะมียอดการจดทะเบียนจัดตั้งอยู่ที่ 23,000 - 27,000 ราย 

เจาะเฉพาะธุรกิจชาวต่างชาติ พบว่า ช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2567 มีการอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย ภายใต้พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 จำนวน 109 ราย เป็นการลงทุนผ่านช่องทางการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว 37 ราย และการขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว (ผ่านช่องทางการลงทุนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน หรือได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และการใช้สิทธิตามสนธิสัญญาหรือความตกลงระหว่างประเทศ) 72 ราย เงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 26,542 ล้านบาท จ้างงานคนไทย 564 คน 

โดยชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุน 5 อันดับแรก ได้แก่

  1. ญี่ปุ่น 31 ราย (28%) เงินลงทุน 15,930 ล้านบาท (60%) 
  2. สิงคโปร์ 18 ราย (17%) เงินลงทุน 1,760 ล้านบาท (7%) 
  3. สหรัฐอเมริกา 15 ราย (14%) เงินลงทุน 959 ล้านบาท (4%) 
  4. จีน 11 ราย (10%) เงินลงทุน 892 ล้านบาท (3%) และ 
  5. ฮ่องกง 7 ราย (6%) เงินลงทุน 621ล้านบาท (2%)

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์