สมาคมเศรษฐศาสตร์จัดเสวนาระดมสมองรับมือนโยบายการค้าทรัมป์ ผู้เชี่ยวชาญชี้มีทั้งได้และเสีย เร่งวางยุทธศาสตร์ภาคอุตสาหกรรม-การส่งออกไทย
สมาคมเศรษฐศาสตร์แห่งประเทศไทยจัดเสวนาในหัวข้อ "Trade War 2025: จะรับมือกับ Trump อย่างไร?" เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์ต่อสงครามการค้าและผลกระทบต่อประเทศไทย
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ระบุว่า Trade War 2.0 ภายใต้นโยบายทรัมป์จะส่งผลกระทบหลายประเทศ ไม่ใช่แค่จีนเหมือน Trade War 1.0 โดยประเทศไทยมีความเสี่ยงเนื่องจากเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ 45,608 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อยู่ในอันดับที่ 11 จากเดิมอันดับที่ 14
ผลกระทบของนโยบายทรัมป์ต่อไทยมีทั้งด้านบวกและลบ ดังนี้:
- มาตรการการค้า: ไทยอาจถูกตอบโต้ด้วยมาตรการภาษี ต้นทุนส่งออกเพิ่มขึ้น และสินค้าจีนไหลกลับมาตลาดไทยและคู่ค้า
- การลงทุน: ไทยอาจมีโอกาสในการลงทุนในสหรัฐฯ และ FDI ไทยอาจเพิ่มขึ้น แต่ในทางกลับกัน FDI อาจชะลอการลงทุนเพื่อรอความชัดเจนจากสหรัฐฯ
- เทคโนโลยี: ไทยมีโอกาสเข้าสู่ห่วงโซ่อุปทานเทคโนโลยีที่มาลงทุนในไทย แต่อาจเข้าถึงเทคโนโลยีสหรัฐฯ ได้ยากขึ้น
- การต่างประเทศ: ไทยมีโอกาสในการเจรจาทวิภาคีกับสหรัฐฯ แต่อาจถูกบังคับให้ยอมรับเงื่อนไขที่ไม่เป็นประโยชน์
ประธาน ส.อ.ท. เสนอแนะให้ภาครัฐและผู้ประกอบการเตรียมรับมือทั้งระยะสั้นและระยะยาว โดยระยะสั้นควรบูรณาการข้อมูลทางการค้า เดินหน้าจัดตั้ง War Room รับมือนโยบายการค้าสหรัฐฯ เข้มงวดการบังคับใช้กฎหมายป้องกันการทุ่มตลาด และสนับสนุนสินค้า Made in Thailand ส่วนระยะยาวควรปรับโครงสร้างอุตสาหกรรม ส่งเสริมอุตสาหกรรมที่เป็นจุดแข็ง พัฒนาสินค้าเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ปฏิรูปการศึกษา และปรับปรุงกฎระเบียบ
ด้านนายพิศาล มาณวพัฒน์ อดีตเอกอัครราชทูตไทยประจำสหรัฐฯ เห็นว่า กลุ่มที่ได้ประโยชน์จากนโยบายทรัมป์ คือนักธุรกิจที่ลงทุนในสหรัฐฯ ส่วนกลุ่มที่เสียประโยชน์คืออาเซียน เศรษฐกิจไทย ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ และผู้ส่งออกไปยังสหรัฐฯ
นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายบริหารเงินสำรอง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ชี้ว่าตลาดเงินตลาดทุนมีความผันผวนสูง โดยเฉพาะอัตราแลกเปลี่ยนของประเทศที่ถูกสหรัฐฯ ขึ้นภาษี โดยเสนอให้ประเทศต่างๆ รับมือด้วยการสร้างความเข้มแข็งจากภายใน ลดการพึ่งพาการค้าต่างประเทศ ดูแลเสถียรภาพ ใช้ประโยชน์จากข้อตกลงการค้าภูมิภาค และเจรจากับสหรัฐฯ
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล นายกสมาคมเศรษฐศาสตร์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า Ultimate Goal ของสหรัฐฯ คือ Make America Number 1 again เป็นเรื่องปกติที่จะเกิดความขัดแย้งระหว่างประเทศเบอร์ 1 และ 2 ของโลกเสมอ และในครั้งนี้เบอร์ 1 อย่างสหรัฐฯ ต้องการจัดการเบอร์ 2 อย่างจีน
ความขัดแย้งในครั้งนี้ไม่ใช่แค่เรื่องของเศรษฐกิจเท่านั้น แต่เป็นความขัดแย้งในทั้ง 5 มิติ ทั้ง Trade war, Tech war, Financial war, Sphere of Influence และ Military war ส่วนผลกระทบจากนโยบายทรัมป์ต่อสหรัฐฯ คือ เงินเฟ้อ เศรษฐกิจขยายตัวช้าลง การจ้างงานค่อย ๆ ลดลง และความสามารถในการแข่งขันของสหรัฐฯ จะแย่ลง
ในส่วนของผลกระทบต่อตลาดทุนในช่วง 1 เดือน คือทุกตลาดปั่นป่วนหมด ทั้งดาวน์โจนส์ Nasdaq และดอลลาร์สหรัฐฯ เริ่มขยับมาตั้งแต่เดือนส.ค. 67 หรือช่วงเลือกตั้ง และล่าสุด ตอนนี้ทุกอย่างเริ่มติดลบ ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า โดยเฉพาะในช่วง 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ที่ทรัมป์เอาจริงเรื่องนโยบายภาษีขึ้นเรื่อย ๆ แสดงให้เห็นว่าสิ่งที่ทรัมป์กำลังทำ ทำให้ตลาดถอดใจ อย่างไรก็ดี สิ่งที่ยังพอไปได้คือทองคำ แต่ก็ยังคงมีความไม่แน่นอน
ด้าน รศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจระหว่างประเทศ ระบุว่าระเบียบโลกใหม่เกิดขึ้นแล้ว โดยทรัมป์มองจีนเป็นภัยคุกคามอันดับ 1 แต่วิธีแก้ปัญหาของทรัมป์เลือกผิด และมองว่า 3 ก๊กการเมืองโลกใหม่คือ Global North America-ยุโรป,จีน-รัสเซีย และประเทศเกิดใหม่กลุ่ม BRICS กับประเทศโลกมุสลิม
สำหรับผลกระทบจากมาตรการขึ้นภาษีของทรัมป์ในเดือนเมษายน 2568 จะทำให้สินค้าไทยขาดความสามารถในการแข่งขันในตลาดสหรัฐฯ สินค้าจีนหันมาแข่งขันในตลาดไทยมากขึ้น การลงทุนจากจีนและสหรัฐฯ ในไทยอาจลดลง ทั้งนี้ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์นำไปสู่ปัญหา 6 ประการ คือ De-Stabilization, De-Globalization, De-Coupling, De-Risking GVCs, De-Digital/Technological Inequality และ De-Dollarization
ด้าน น.ส.กิริฎา เภาพิจิตร ผู้อำนวยการโครงการวิเคราะห์เศรษฐกิจเชิงลึก TDRI ชี้ว่าไทยยังมีโอกาสจากสงครามการค้า เนื่องจากดอกเบี้ยโลกจะลดลง กนง.อาจลดดอกเบี้ยได้อีก 1-2 ครั้งในปีนี้ ราคาพลังงานและน้ำมันจะถูกลง และไทยมีโอกาสดึงดูดการลงทุนจากการย้ายฐานการผลิต โดยอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มมาไทยมากที่สุดคืออิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า